สพฐ.ปรับสัดส่วนรับม.1-4 ปี58ลดในพื้นที่ลงอีก10%

15 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1510 ครั้ง

วันที่ 15 สิงหาคม นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มีนายสุรัฐ ศิลปอนันต์ เป็นประธาน ว่า บอร์ด กพฐ.ซึ่งดูแลกำกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ความเห็นชอบต่อแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ของโรงเรียนสังกัดสพฐ.ประจำปีการศึกษา 2558 สาระสำคัญคือ ลดสัดส่วนในการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการลง 10 % จากเดิมรับนักเรียนพื้นที่บริการไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ปรับเป็นรับนักเรียนในพื้นที่ในบริการไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 และให้อำนาจโรงเรียนพิจารณาเอง ว่าจะเลือกใช้การคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่บริการด้วยวิธีใด โดยโรงเรียนอาจใช้วิธีรับโดยการสอบคัดเลือกทั้งหมด หรือรับโดยการจับฉลากทั้งหมด หรืออาจใช้วิธีสอบคัดเลือกผสมผสานกับการจับฉลาก อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมามีโรงเรียนเลือกใช้วิธีการจับฉลากรับนักเรียนในพื้นที่บริการ 22 โรงเท่านั้นที่เหลือใช้วิธีการสอบคัดเลือก

         “หากมีนักเรียนในพื้นที่บริการมาสมัครไม่เต็มโควต้า โรงเรียนสามารถนำที่นั่งที่เหลือไปรับนักเรียนนอกพื้นที่บริการได้ โดยการรับนักเรียนนอกพื้นที่บริการนั้น ให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกและใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ในสัดส่วน 20 % มาร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้สาเหตุที่ลดสัดส่วนรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการลง เพราะจำนวนนักเรียนในเขตพื้นที่บริการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ขณะเดียวกันการคมนาคมที่สะดวกขึ้นเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเข้าโรงเรียนนอกพื้นที่บริการได้ เพราะฉะนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง สพฐ.จึงให้มีการลดสัดส่วนรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการลง ซึ่งจะส่งผลในแง่ดีทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้นเพื่อสอบเข้าตามโรงเรียนต่าง ๆ” นายกมล กล่าว

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน ในปีการศึกษา 2558 จะยึดตามเกณฑ์เดิม คือ ไม่เกินห้องละ 50 คน และให้รับเพียงรอบเดียวไม่มีการขอขยายห้องเรียน เพื่อรับนักเรียนรอบที่สอง ส่วนการรับนักเรียนในเงื่อนไขพิเศษก็เป็นตามเกณฑ์เดิมเช่นกัน ซึ่งมีอยู่ 7 ประเภท เช่น การรับนักเรียนยากไร้ด้อยโอกาส บุตรข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การรับนักเรียนตามข้อตกลงการจัดตั้งโรงเรียน เป็นต้น และให้นักเรียนจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะรับนักเรียนตามเงื่อนไขพิเศษจำนวนเท่าไร ส่วนการรับนักเรียนชั้นม.4 นั้นให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบจากระดับม.3 ทุกคนที่ได้จบการศึกษา และได้คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 และหากมีที่นั่งเหลือให้รับนักเรียนภายนอกโดยวิธีการสอบคัดเลือก

ด้านนายวินัย รอดจ่าย ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2 กรุงเทพฯ (สพท.กรุงเทพฯ เขต 2 เดิม) กล่าวว่า ถึงแม้จะมีการลดสัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการลง 10 % ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับนักเรียนใน สพม.2 ซึ่งเคยมีปัญหาเด็กล้น เพราะปัจจุบันจำนวนนักเรียนใน สพม.2 ทะยอยปรับตัวลดลงจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเคยเกินถึง 20,000 คน แต่ปัจจุบันโรงเรียนที่เคยมีเด็กในพื้นที่บริการล้นอยู่จำนวนมากเช่น โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 และโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา (บดินทร์ 3) มีจำนวนนักเรียนในพื้นที่บริการไล่เลี่ยกับจำนวนที่โรงเรียนประกาศรับ ยกเว้นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)ที่ยังมีปัญหาเด็กล้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากรวมที่นั่งของโรงเรียนมัธยมใน สพม.2 ทั้งหมด 52 โรงและที่นั่งในโรงเรียนเอกชนแล้ว สามารถครอบคลุมจำนวนนักเรียนในเขตพื้นที่บริการทั้งหมดได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: