เหตุเพราะความเชื่อทางการเมือง

ชำนาญ จันทร์เรือง 16 เม.ย. 2557


ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างชี้นิ้วใส่กันและกันว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างประณามหยามเหยียดว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ที่สุดแสนจะเลวทรามจำเป็นที่จะต้องทำลายให้สิ้นซากไป ทั้งหมดทั้งปวงนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากความเชื่อทางการเมืองทั้งสิ้น

ความเชื่อทางการเมือง (Political Beliefs)   คืออะไร

ความเชื่อคือการที่บุคคลคิดถึงปรากฏการณ์ในแง่ใดแง่หนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เช่น ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วสูญ โลกแบน ฯลฯ  ส่วนความเชื่อทางการเมืองก็เช่นที่ว่าคนเราไม่เท่ากันจำเป็นต้องให้คนมีความฉลากลักแหลม มีความรู้ดีกว่ามาปกครองหรือนักการเมืองทุกคนต้องโกง เป็นต้น ที่มาของความเชื่อทางการเมืองของแต่ละบุคคลนั้นมีที่มา ดังนี้

1.การจดจำ (Cognitive orientations) ความเชื่อมาจาก “ความจริง”ที่ปรากฏต่อความคิดซึ่งอาจจะผ่านทางช่องทางของสื่อมวลชนหรือการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรือแม้กระทั่งการเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งอาจจะถูกทั้งหมดหรือบางส่วนและผิดทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้   บุคคลอาจรู้เรื่องการเมืองมากมาย เช่น ประวัติศาสตร์การเมือง  หรือจดจำชื่อของผู้นำทางการเมือง นโยบายทางการเมืองของกลุ่มการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.การใช้ความรู้สึก (Affective orientations) ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นมีผลในการดึงดูดอารมณ์และความรู้สึกทางการเมืองของบุคคล เช่น การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลทำให้รู้สึกพอใจอย่างยิ่งเพราะเชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติอย่างหนึ่ง หรือ การต่อต้านเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าถึงอย่างไรก็ซื้อเสียงเข้ามา จำเป็นต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ฯลฯ

3.การไตร่ตรอง (Evaluative orientations) เป็นการสังเคราะห์ความจริงและการใช้ความรู้สึกทางการเมืองของบุคคลเพื่อการตัดสินใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างทัศนคติทางการเมืองโดยรวมเอาความเชื่อที่ได้จากความจริงที่จดจำกับผลกระทบจากปรากฏการทางการเมืองที่มีต่อความรู้สึกนึกคิดเข้าด้วยกันและไตร่ตรองตัดสินใจทางการเมือง

ซึ่งทัศนคติทางการเมือง (Political Attitude) นั้น หมายถึงระบบความเชื่อในทางการเมืองของบุคคล ซึ่งแตกต่างจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นระบบความเชื่อร่วมกันของสังคม โดยคนที่มีทัศนคติแบบใดก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับทัศนคตินั้น ซึ่งโดยทั่วไปเราสามารถแบ่งทัศนคติทางการเมืองออกเป็น 5 แบบคือ พวกซ้ายจัด พวกเสรีนิยม พวกเป็นกลาง พวกอนุรักษ์นิยม และพวกขวาจัด แต่ของไทยเราในสถานการณ์ปัจจุบันอาจแบ่งได้เพียง 3 แบบเท่านั้น คือ กลุ่มเสื้อเหลือง(พันธมิตร/กปปส./คปท./พุทธะอิสระ /40 สว./ปปช./ศาลรัฐธรรมนูญฯลฯ) กลุ่มเสื้อแดง(นปช./ควป./โกตี๋/ขวัญชัย/รักเชียงใหม่51 ฯลฯ) และกลุ่มที่อยู่กลางๆพร้อมที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านสองกลุ่มดังกล่าว

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดที่คนเราจะมีความเชื่อหรือทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากการจดจำ การใช้ความรู้สึกและการไตร่ตรองที่ของแต่ละคน

เราจึงพบเห็นได้บ่อยๆว่าคนที่จบมาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน ชั้นเดียวกัน หรือแม้แต่คนที่เคยเข้าป่ามาด้วยกันตอน 6 ตุลา แต่ตอนนี้อยู่คนละฝ่าย ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความเชื่อทางการเมืองนั่นเอง

ประเด็นที่ผมต้องการจะนำเสนอก็คือว่า ในเมื่อความเชื่อทางการเมืองของแต่ละคนล้วนมีที่มาแตกต่างกัน เหตุใดคนไทยเราจึงจะต้องมาห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนประเทศต้องสู่ภาวะใกล้มิคสัญญีเช่นนี้

ภาวะเศรษฐกิจได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก สถานะของประเทศขาดความน่าเชื่อถือกลายคนป่วยของอาเซียน กลายเป็นตัวถ่วงความเจริญของภูมิภาค ระบบศาลสั่นคลอนจนไม่อาจกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายต่อไปอีกแล้ว คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆหายๆในมาตรฐานของความเที่ยงธรรมและการกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่มีในรัฐธรรมนูญ ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไปทั่วประเทศ

ที่ร้ายที่สุดมีการทำร้ายกัน มีการปาและวางระเบิดรายวัน มีการใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่นกันที่ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองแต่ก็ร่ำๆจะเกิดแหล่มิเกิดแหล่อยู่รอมร่อนี้ โดยลืมไปว่าทั้งหมดทั้งปวงล้วนเกิดจากความเชื่อทางการเมืองทั้งสิ้น

สิ่งที่ถูกในขณะระยะเวลาหนึ่งอาจจะผิดในอีกระยะเวลาหนึ่งก็ได้ ในสมัยบรรพกาลแม้แต่อริสโตเติลที่ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์ยังไม่เชื่อในการปกครองในระบบอบประชาธิปไตย (Democracy) เลย แต่เชื่อในระบอบโพลิตี้ (Polity) หรือระบอบกษัตริย์นักปราชญ์หรือเชื่อในความรู้ความสามารถของชนชั้นนำของสังคม ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อเช่นนี้อยู่

ในขณะเดียวกันผู้ที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยก็ติดอยู่ในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy)ซึงถือการเลือกตั้ง(Election)เป็นสรณะ ทั้งๆระบอบประชาธิปไตยมีตั้งหลายแบบ เช่น ประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy) ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ประชาธิปไตยแบบชี้นำ(Guided Democracy) ประชาธิปไตยแบบเข้มแข็ง(Strong Democracy) ฯลฯ

จริงอยู่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง แต่เราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าไม่ใช่เพียงมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว มันต้องมีองค์ประกอบอีกตั้งหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบติดตาม(Monitor) การถอดถอน(Recall) ฯลฯ ที่แน่ๆต้องมีการถ่วงดุล(Check and Balance)เพื่อไม่ให้องค์กรหรือสถาบันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป

ฉะนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายที่แต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของกัน อันเนื่องมาจากความเชื่อทางการเมือง จนทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยสุ่มเสียงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองที่ทำให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากัน ทั้งๆที่สามารถเลี่ยงได้ด้วยการยอมรับในความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกันแล้วอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัย

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันพุธที่ 16 เมษายน 2557

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: