LET’S COMIC น่าจะเป็นชื่อที่คอการ์ตูนชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตา เพราะเป็นหนังสือการ์ตูนที่มุ่งนำเสนองานของนักเขียนการ์ตูนไทยมาอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี จนเรียกได้ว่าสร้างตลาดนักอ่านได้พอสมควร เร็วๆ นี้ LET’S COMIC กำลังจะมีโปรเจกต์เล็กๆ ร่วมกับทางญี่ปุ่นในการนำเสนอผลงานการ์ตูนของนักเขียนไทยสู่สายตาคนญี่ปุ่น มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตระดับชาติ แต่ถ้าพูดกันในแนวสร้างแรงบันดาลใจก็ต้องบอกว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
แต่ TCIJ ไม่ได้นั่งสนทนากับ ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี บรรณาธิการ LET’S COMIC แค่เรื่องโปรเจกต์ มันลุกลามไปถึงวงการการ์ตูนไทยที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ และยากลำบาก แต่ไม่ยอมหยุด
ธัญลักษณ์มีคำอธิบายที่น่าสนใจหลายเรื่องต่อการ์ตูนไทย-การ์ตูนไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต หรือทำไมการ์ตูนไทยเน้นสไตล์ของนักเขียนมากกว่าพล็อต หลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของวงการการ์ตูนไทยเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องตำหนิ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เขาคาดหวังว่าสักวันการ์ตูนไทยเรื่องยาวจะได้ชนตรงๆ กับการ์ตูนญี่ปุ่น และเราหวังว่าจะอีกไม่นาน
TCIJ: เดินทางเข้าปีที่ 8 แล้ว ในเชิงยอดขาย LET’S COMIC เป็นอย่างไรบ้าง
ธัญลักษณ์: ช่วงแรกๆ ก็ลำบากเหมือนกัน เราออกเป็นแม็กกาซีน ทำได้ประมาณปีเศษๆ ก็ปรับเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เพราะแม็กกาซีนต้องอาศัยโฆษณาค่อนข้างเยอะ การวางแผงจะอยู่ไม่ยาวมาก ช่วงปีแรกก็ขาดทุนพอสมควร เราจึงปรับมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเพื่อเน้นยอดขายไปเลย แล้วนักเขียนที่เราดึงมา เขาก็มีกลุ่มแฟนๆ อยู่แล้ว แต่พอสักระยะหนึ่งเราก็ปรับคอนเซ็ปต์อีกรอบหนึ่ง จนมันบูมสุดๆ ประมาณสองสามปีก่อน ตอนนั้นยอดขายกำลังเติบโต แต่ประมาณปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่ามันเริ่มตกลงมา แต่ยังไม่ถึงขั้นขาดทุน เพียงแต่เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ต้องกระตุ้นยอดขาย เรื่องยอดขายก็ดีขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับตอนที่เรายังไม่ได้ปรับ แต่ผมมองว่าไม่ได้หวือหวา
TCIJ: ได้ยินว่ากำลังมีโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับทางสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่น
ธัญลักษณ์: ความจริงไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่โต ประมาณว่าทางญี่ปุ่นได้เงินจากรัฐบาล เขามองหาการ์ตูนจากต่างประเทศไปทำเป็นอี-บุ๊คภาษาญี่ปุ่นเพื่อเผยแพร่ ในขั้นต่อไปเขาก็พูดถึงการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มด้วย เขาจะดูจากรอบแรกก่อนว่าจะเวิร์คมั้ย
ผมมองว่าเขากำลังหาช่องทางบางอย่าง เขาบอกว่าเศรษฐกิจในญี่ปุ่นก็ไม่ได้ดีมากนัก สินค้าในญี่ปุ่นการแข่งขันก็สูง เขาจึงพยายามหาวัตถุดิบใหม่ๆ ผมไม่แน่ใจว่าต้นทุนการผลิตการ์ตูนญี่ปุ่นมันแพงแค่ไหน อาจเป็นไปได้ว่าการ์ตูนไทยต้นทุนถูกกว่า
TCIJ: นี่คือสัญญาณที่บอกว่า คุณภาพการ์ตูนไทยขึ้นไปถึงจุดที่สามารถตอบสนองความต้องการอ่านของคนญี่ปุ่นแล้วหรือเปล่า
ธัญลักษณ์: ผมคิดว่ายังไม่ขนาดนั้นครับ จุดที่คิดว่าไปถึงน่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเรามีเอกลักษณ์ มีความแตกต่างบางอย่าง เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกว่าการ์ตูนไทยกับการ์ตูนญี่ปุ่นมันใกล้กันมาก จนเขาไม่จำเป็นต้องเอาการ์ตูนไทยไปเผยแพร่ แต่ตอนนี้เรามีเอกลักษณ์ที่ทางเขารู้สึกว่าน่าจะลองดู แต่ลองแล้วจะเวิร์คหรือเปล่า จะตอบสนองนักอ่านญี่ปุ่นได้หรือเปล่า ตรงนี้ต้องดูจากผลของงานที่ออกไป
แต่ผมมองว่าญี่ปุ่นเปิดกว้างในด้านนี้มากขึ้น แต่ก่อนเราจะไม่เห็นการจัดรางวัลการ์ตูนนานาชาติหรือรางวัลอื่นๆ ในการให้คนต่างชาติส่งการ์ตูนเข้าไป ล่าสุด ผมได้ข่าวว่ามีนักเขียนไทยได้ไปเซ็นสัญญากับทางจัมป์ (นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ในประเทศญี่ปุ่น) แต่ไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ทางญี่ปุ่นคงเริ่มเล็งเห็นศักยภาพของต่างประเทศ
TCIJ: เอกลักษณ์ของการ์ตูนไทยที่คุณว่าคืออะไร
ธัญลักษณ์: ถ้าถามผมนะ ผมไม่มองว่าเป็นเอกลักษณ์ของการ์ตูนไทยหรอก แต่เขาอาจจะเห็นเอกลักษณ์ของการ์ตูนแต่ละเรื่องของเรา นักเขียนแต่ละคนมีเอกลักษณ์ เป็นเอกลักษณ์ของชิ้นงานแต่ละชิ้นที่เขารู้สึกว่าน่าสนใจ ลายเส้นของนักเขียนคนนี้มีคาแร็กเตอร์ มีจุดขาย และเห็นถึงความหลากหลายด้วย
TCIJ: การ์ตูนไทยเมื่อก่อนหรือขายหัวเราะก็มีเอกลักษณ์ชัดเจน แล้วการ์ตูนไทยยุคใหม่จะสามารถสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนได้หรือเปล่า อ่านปุ๊บ รู้เลยว่านี่คือการ์ตูนไทย
ธัญลักษณ์: การที่เรารู้สึกว่าขายหัวเราะมีเอกลักษณ์ อาจเป็นเพราะมันไม่มีตัวเปรียบเทียบการ์ตูนในแนวเดียวกันจากเมืองนอก ถ้าเราเห็นการ์ฟีลด์ สนูปปี้ มันจะมีความใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเป็นการ์ตูนมังงะ การ์ตูนช่องของญี่ปุ่น มันมีตัวเปรียบเทียบเยอะมาก เหมือนเราแทรกเข้าไปเป็นตัวเล็กๆ ขณะที่การ์ตูนแบบขายหัวเราะ เราจะเห็นของเราเยอะ แต่ต่างประเทศนิดเดียว เราจึงรู้สึกว่ามันมีเอกลัษณ์สูงมาก แต่ความจริงแล้ว โดยบริบทมันมีต้นแบบ การ์ตูนเล่มละบาทก็เหมือนกัน เราไม่มีการ์ตูนต่างชาติในรูปแบบนี้เข้ามา แต่ผมคิดว่าการ์ตูนเล่มละบาทน่าจะมีประเทศเราที่เดียว
ดังนั้น เอกลักษณ์ของการ์ตูนไทยทุกวันนี้จึงยังไม่มี ความต่อเนื่องครับคือสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ อย่างบริษัทผมเปิดมา 8 ปี ดูเหมือนนาน แต่ถ้าเทียบกับบริษัทการ์ตูนในต่างประเทศ มันไม่นาน ของมาร์เวลอยู่มาเป็นสิบๆ ปี บริษัทการ์ตูนของไทยก็มีบรรลือสาส์นที่อยู่มานานที่สุด เจ้าอื่นก็ล้มหายตายจากไปหรือเป็นแค่แผนกเล็กๆ แผนกหนึ่งในบริษัท
TCIJ: หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ต่างๆ ในไทยที่มีมาก่อนเรียกว่าล้มหายตายจากไปหมดแล้ว คุณอยู่ในวงการหนังสือการ์ตูนไทยเกือบทศวรรษ พบคำตอบหรือเปล่าว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้หนังสือการ์ตูนไทยอยู่รอด
ธัญลักษณ์: มีหลายปัจจัยเลย อย่างผมเองก็ต้องบอกว่า ผมมีต้นทุน ไม่ใช่สร้างจากศูนย์ ที่บ้านผมเป็นโรงพิมพ์ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ผมเองเรียนออกแบบ เรียนวาดรูปมาโดยตรง แล้วก็ทำหนังสือมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เลยพอมีคอนเน็กชั่นกับนักเขียนการ์ตูน กับคนทำหนังสือก็ช่วยได้เยอะอยู่ แล้วก็มีเรื่องของความอดทน ส่วนใหญ่การ์ตูนไทยที่ผมเห็น ออกมาปีเดียว พอเจ๊งปุ๊บ เลิกเลย ซึ่งผมมองว่าการที่จะสร้างแบรนดิ้งหรือสตอรี่ของคอนเทนต์ปีเดียวไม่พอ ผมเองที่บ้านก็สนับสนุนมาตลอด ปีแรกไม่ได้ก็ประชุมกัน ยังทำต่อได้ หาทางปรับเปลี่ยน ผมมองว่ายุคนี้อะไรก็มาไวไปไว ถ้าเกิดเราเปลี่ยนแปลงไม่ทันเราก็ตาย
สำหรับผมนะ ยุคนี้เป็นยุคของโซเชียล มิเดีย ยุคของไอดอล ที่คนเห็น LET’S COMIC เยอะ เพราะเราผลักดันให้นักเขียนการ์ตูนเป็นที่รู้จักก่อน พอคนรู้จักนักเขียน คนก็จะหันมาอ่านเร็วขึ้นบ้าง ช่วยได้บ้าง แต่ไม่เต็มร้อย คนอ่านเยอะขึ้นมั้ย ในเมื่อนักเขียนเป็นที่รู้จักมากขึ้น สำนักพิมพ์ทำแบรนดิ้งได้แข็งแรงขึ้น มันก็ช่วยได้บ้าง เพียงแต่สำนักพิมพ์ผม ถ้าเทียบกับที่อื่นถือว่าเล็กมาก ถ้าในภาพรวมมันก็ยังไม่ชัดเจนว่าคนอ่านการ์ตูนไทยเยอะขึ้น แต่ถ้ามองแค่การเติบโตจากมุมผมเอง ผมมองว่ามันก็โตขึ้น
TCIJ: ในมิติด้านคุณภาพงาน มีการไต่ระดับจากเมื่อ 8 ปีก่อน?
ธัญลักษณ์: เรื่องคุณภาพก็พูดยากนะ นักเขียนหลายคนผมก็รู้สึกว่าจะมีมาสเตอร์พีซในช่วงที่เขาเจ๋งที่สุด บางคนก็อาจจะไม่ใช่ยุคนี้ แต่อาจเป็นเมื่อสี่ห้าปีก่อน ข้อเสียอย่างหนึ่งของนักเขียนการ์ตูนไทยคือเขียนการ์ตูนอย่างเดียวอยู่ยาก ทำให้นักเขียนการ์ตูนต้องรับงานอย่างอื่น ทำให้เวลาในการเขียนการ์ตูนน้อยลง ไม่สามารถทุ่มได้เท่ายุคแรก แต่ว่าส่วนนี้อยู่ที่ บก. แล้ว ผมเองก็ต้องผลักดันนักเขียนให้ได้ว่าเราจะทำยังไงให้นักเขียนรู้สึกสนุกกับการเขียนการ์ตูนอยู่ มากกว่าการไปรับงานเอเจนซี่
ประเทศไทยเป็นประเทศที่การ์ตูนค่อนข้างบูม เราเห็นร้านการ์ตูนเยอะเมื่อเทียบกับเวลาเราไปต่างประเทศ แต่การที่มันบูมมันเป็นส่วนของตลาดนำเข้าการ์ตูนจากต่างประเทศ แต่ส่วนที่เราผลิตเอง เมื่อเทียบกับการบูมของมันแล้ว เราค่อนข้างน้อย เทียบกับพวกเกาหลี จีน ฮ่องกง ที่สามารถแยกสายการ์ตูนของตัวเองออกมาได้ด้วย เราถือว่าน้อย
TCIJ: มักพูดกันว่าหนังไทยมีจุดอ่อนที่บท แล้วพล็อตเรื่องของการ์ตูนไทยพัฒนาไปอย่างไรบ้าง เพราะดูเหมือนจะเน้นที่สไตล์และตัวตนของคนเขียนมากกว่าพล็อตเรื่องที่แข็งแรง
ธัญลักษณ์: ผมอธิบายจุดนี้ได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องของระบบ ระบบการทำงานของญี่ปุ่นมีบรรณาธิการเยอะมาก บรรณาธิการต่อหนังสือเล่มหนึ่งมีเป็นสิบคน แล้วบรรณาธิการทุกคนจะลงไปคุมนักเขียนแบบตัวต่อตัว ทุกขั้นตอนการทำงานจะมีฝ่ายบรรณาธิการคอยดูแลตลอด
ขณะที่ LET’S COMIC มีบรรณาธิการคนเดียว แต่ต้องดูแลนักเขียนทั้งหมด บางทีผมก็ยอมรับนะว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ในบางขั้นตอน แต่เราต้องตัดบางขั้นตอนออกไปเพราะเวลาในการทำงานและจำนวนคนเราไม่มีเยอะขนาดนั้น
อย่างทางญี่ปุ่นจะมีฝ่ายเก็บข้อมูล มีคนเขียน คนวาด แต่นักเขียนไทยทำงานคนเดียว ไม่มีผู้ช่วย ความเต็มที่ต่องานก็อาจจะน้อยกว่าอยู่แล้ว แต่การที่ผมเน้นสไตล์เพราะมันเป็นจุดเดียวที่เราสามารถทำได้ดีกว่า ด้วยปริมาณคนที่น้อยกว่า หรืออาจจะทำได้ง่ายกว่า เพราะมันเหมาะกับค่าตอบแทนและรูปแบบการทำงานของบ้านเรามากกว่า แต่ผมเองก็คิดว่ามันควรจะต้องพัฒนาขึ้น ผมควรลงไปผลักดันมากขึ้น ต้องดูแลตั้งแต่ขั้นก่อนผลิต ก่อนวาดจริง ต้องมีการส่งพล็อตเรื่อง มีการทำสตอรี่บอร์ด ซึ่ง LET’S COMIC ฉบับคอนเซ็ปต์ ผมก็เติมเข้ามา คือนักเขียนทุกคนต้องส่งพล็อตเข้ามาก่อน ถ้าแต่ก่อนผมจะปล่อยให้ส่งสตอรี่บอร์ดเลย ถ้าการ์ตูนไทยจะพัฒนาขึ้นไปกว่านี้ต้องจริงจังกับการบรรณาธิการ
"นักเขียนไทยทำงานคนเดียว ไม่มีผู้ช่วย ความเต็มที่ต่องาน
ก็อาจจะน้อยกว่าอยู่แล้ว แต่การที่ผมเน้นสไตล์
เพราะมันเป็นจุดเดียวที่เราสามารถทำได้ดีกว่า"
TCIJ: แต่ก็จะทำให้ต้องมีต้นทุนและบุคลากรมากกว่านี้
ธัญลักษณ์: ใช่ครับ หรือไม่บุคลากรที่มีอยู่จะต้องฟิตขึ้น ผมเองก็ทำงานเยอะขึ้น ตามประกบนักเขียนเยอะขึ้น แต่เท่าที่ผมฟังมานะ ในไทยบรรณาธิการต่อหนังสือเล่มหนึ่งค่อนข้างน้อยมาก บางแห่งที่บรรณาธิการน้อยจริงๆ เขาแทบจะไม่แตะงานนักเขียนเลยก็มี
ส่วนเรื่องบุคลากรมีสองประเด็น ปริมาณกับคุณภาพ เรื่องคุณภาพ ก่อนหน้านี้คนที่อยากทำการ์ตูนยังไม่มีสายวิชาให้เรียน บางคนก็เหมือนจับพลัดจับผลูกันมาเป็น แต่ยุคหลังๆ ดีขึ้น ได้เรียนตรงขึ้น เราก็คัดคนที่ตรงสายได้มากขึ้น แต่ส่วนนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แก้ยากเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับเรื่องปริมาณกับตุ้นทุน
สิ่งที่ยากคือ อันนี้เป็นแนวคิดผมนะ ผมมองว่าการ์ตูนในไทยเกิดจากระบบที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ประมาณสามสิบสี่สิบปีก่อน ยุคที่การ์ตูนไทยบูม ยุคของอาจารย์จุก เบี้ยวสกุล อาจารย์ราช เลอสรวง ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์อาจารย์ราชโดยตรง ผมสงสัยว่าทำไมการ์ตูนไทยยุคนั้นถึงสามารถเขียนต่อเนื่องได้ยาวสามสิบกว่าเล่ม แล้วอยู่ดีๆ ก็หายไป อาจารย์ราชบอกว่า ตอนนั้นการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาในรูปแบบไม่มีลิขสิทธิ์ คนไปจ้างเด็กมาลอกลายเส้นขายในราคาที่ถูกกว่าการจ้างนักเขียนการ์ตูนไทยหลายเท่าตัว แล้วใครจะจ้างนักเขียนการ์ตูนไทย พอการ์ตูนเติบโตมาแบบนั้น ราคาการผลิตการ์ตูนจึงต่ำมาก นักเขียนบางส่วนก็ไปทำเล่มละบาท นักเขียนที่ยังอยู่ก็อยู่ด้วยความอดทน
ในช่วงนั้น นักเขียนการ์ตูนไทยก็หายหมด แล้วเริ่มกลับมาฟื้นตอนที่การ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มมีลิขสิทธิ์เข้ามา ต้นทุนการผลิตการ์ตูนก็สูงขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สูงมากหรอก เพราะถ้าสูงมากจะไม่สามารถสู้ตลาดเก่าได้ ตลาดลิขสิทธิ์จึงพยายามกดราคาให้มากที่สุด กลายเป็นว่าเราผลิตการ์ตูนด้วยต้นทุนที่ถูกมากกว่าปกติมาจนถึงปัจจุบัน การ์ตูนไทยที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นในสภาวะที่จำกัดจำเขี่ยกับต้นทุนที่สานต่อมาจากระบบที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ปัจจุบัน มันก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา แต่ว่ามันก็ยาก เพราะพื้นฐานมันไม่ดี
TCIJ: การ์ตูนไทยต้องการทีมงานที่มากกว่านี้เพื่อช่วยนักเขียนเก็บข้อมูล?
ธัญลักษณ์: ทีมงานก็ส่วนหนึ่งครับ ในญี่ปุ่นเองพอการ์ตูนมันออกเยอะมากๆ รายสัปดาห์มีสามสิบสี่สิบปก มันผลักดันให้เขาต้องหาอะไรแปลกๆ มาเขียน แต่การ์ตูนไทย ทั้งบรรณาธิการและนักเขียนเอง การแข่งขันยังไม่สูงขนาดนั้น ผลตอบแทนก็ไม่สูงเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นถ้าการ์ตูนเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จ มันคุ้มค่ากับการทุ่มเทลงไป
เคยมีข้อมูลครับ นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งมานั่งคุยกัน เขาบอกว่าเขาได้รายได้จากหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ไม่เยอะ เล่มหนึ่งได้มาเกือบแสนเยนต่อหนึ่งตอน เพียงแต่เขาเสียค่าผู้ช่วยไปเกือบหมด แต่เขาจะคาดหวังการรวมเล่ม ซึ่งจะทำให้เขาได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ
ของไทยมันชัดเจนว่าแต่ละเดือนจะได้เท่าไหร่ เพราะไม่มีผู้ช่วย แต่ปลายทางที่จะออกรวมเล่ม แล้วมีผลตอบแทนกลับมาเยอะๆ ก็ยังมีน้อยคน ขณะที่ในญี่ปุ่น ถ้าได้รวมเล่ม แล้วขายได้ แน่นอนว่าได้เยอะ แต่ผมก็เคยคุยกับคนญี่ปุ่นว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันเป็นเหมือนภาพที่เรามองเข้าไป เรารู้สึกว่าของเขายิ่งใหญ่ แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มองการ์ตูนของเขาเจ๋งขนาดนั้น มันก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องเสี่ยง คนที่ไม่ดังก็เยอะ พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเป็นนักเขียนการ์ตูน เหมือนมันเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง แต่ตลาดของเขาไม่ใช่แค่ใหญ่ มันแข็งแรงด้วย
TCIJ: พัฒนาการของนักเขียนการ์ตูนไทยในสายตาคุณเป็นอย่างไร
ธัญลักษณ์: ยุคหลังๆ สิ่งที่นักเขียนการ์ตูนไทยทำได้ดีคือการผสมผสาน ถ้าเป็นแต่ก่อนนักเขียนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนการออกแบบหรือกราฟฟิกดีไซน์ แต่ปัจจุบันนักเขียนการ์ตูนจะมีเรื่องการออกแบบ การทำรูปเล่ม บางเล่มผมแทบไม่ต้องเข้าไปแตะเลย นักเขียนการ์ตูนทำเองหมด ซึ่งจะไม่ใช่แค่เขียนการ์ตูนเป็นอย่างเดียว ถ้ามากกว่านั้นอีกก็จะเป็นเรื่องของการบริหารแฟนคลับ
ในแง่ของงาน ถามว่าจุดอ่อนด้านพล็อตเรื่องยังมีอยู่มั้ย ก็ยังมีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ด้วยการที่ข้อมูลสามารถหาในอินเตอร์เน็ตได้ มันก็ดีขึ้น หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องคือคาแร็กเตอร์ ดีไซน์ ตรงจุดนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนจะรู้สึกว่าคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูนจะออกมาทำหน้าที่ของมัน ตัวร้ายจะออกมาเป็นตัวร้าย ขณะที่เดี๋ยวนี้ นักเขียนจะใส่ใจกับรายละเอียดของคาแร็กเตอร์มากขึ้น เช่น ทำไมตัวละครถึงเลวล่ะ
TCIJ: แล้วด้านพัฒนาการของฝั่งนักอ่านล่ะ?
ธัญลักษณ์: ย้อนกลับไปสักสิบกว่าปีก่อน ผมไม่เคยเห็นเพื่อนผมหรือเด็กรอบๆ ตัวที่วาดตามการ์ตูนไทย ไม่มี ส่วนใหญ่วาดดราก้อนบอล แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเห็น ผมรู้สึกดีนะ อย่างน้อยเขาได้เติบโตขึ้นมากับการ์ตูนไทยบ้าง สิ่งที่การ์ตูนไทยมี แต่การ์ตูนญี่ปุ่นไม่มี คือความใกล้ตัวคนอ่าน การ์ตูนญี่ปุ่นมันลึก วางแผนมาดีก็จริง แต่ไกลตัว ขณะที่การ์ตูนไทยจะพูดถึงสิ่งที่เราสัมผัสได้มากกว่า ผมมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างรุนแรง มีอาชญากรรมเยอะ มีมาเฟียเยอะ การอ่านการ์ตูนดาร์กๆ มันก็ทำให้เราอยู่ในสังคมได้จริงกว่า บางทีอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าเพ้อๆ กว่า
แล้วความดาร์กพอดีก็เป็นเฉพาะค่ายผมแหละ (หัวเราะ) ผมวางเรทของสำนักพิมพ์ไว้แล้วที่สิบห้าบวก ไม่ใช่การ์ตูนเด็กเสียทีเดียว แล้วโดยบุคลิกของผมและนักเขียนการ์ตูนเป็นคนที่อ่านค่อนข้างลึก อ่านการ์ตูนที่มีความหนักระดับหนึ่ง งานจึงออกมาเป็นแบบนี้ แต่เรามีความเชื่อว่าอยากให้คนที่อ่านพัฒนาไปพร้อมกับเรา เติบโต อ่านแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ไม่ได้มองว่าเป็นสื่อบันเทิงที่แค่บันเทิงอย่างเดียว ถ้าการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผมชอบ อ่านแล้วบางทีมันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเลยนะ ได้มองโลกอีกแบบหนึ่ง
TCIJ: เมื่อนักอ่านการ์ตูนไทยโตขึ้น มีพัฒนาการขึ้น คำถามคือแล้วพัฒนาการของนักเขียนตามทันนักอ่านหรือเปล่า เพราะบางทีพัฒนาการของนักอ่านอาจจะล้ำหน้าไปแล้ว เนื่องจากมีสื่อให้เลือกเสพเยอะ
ธัญลักษณ์: ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่มีผลกระทบต่อคอนเทนต์ทั่วโลก คือซีรีย์ฝรั่ง มันเป็นอะไรที่คอนเทนต์ดีมาก จนใครที่ไม่ได้ศึกษามันจะเหมือนพลาดอะไรในชีวิตไปเลย บางทีวิธีการเล่ามันเหนือกว่าหนังโรงอีก มันมีผลกระทบทำให้คนที่เสพรู้สึกว่าเคยเจอของที่ดีกว่ามา ซึ่งมันมีผลแน่นอน เราก็ต้องไหวตัวให้ทันว่าเนื้อหาของเราดีพอจะสู้กับเขา เพียงแต่เราต้องมองความต่างให้ได้ด้วย
ก็มีสิทธิ์ที่นักอ่านจะล้ำไปได้ค่อนข้างมาก ถ้าดูจากสื่อที่มีมากมาย แต่ความจริงนักเขียนเองก็ต้องแอคทีฟและเสพสื่อเหมือนกัน นักเขียนผม เวลามีอะไรดีๆ เราก็จะแชร์กัน เพราะเราจะเจอกันบ่อยๆ บางทีเราก็พยายามผลักดันกันเอง มีอะไรดีก็มาแลกเปลี่ยนกัน
LET’S COMIC จะเน้นไปที่การ์ตูนสั้นจบในตอน ซึ่งจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นอีกอารมณ์หนึ่งต่างจากการ์ตูนยาวๆ มีความกระชับ ฉับไว ในการเสนอประเด็น ผมคิดว่านี่เป็นจุดหนึ่งที่เรายังรักษาความแตกต่างและก้าวไปพร้อมๆ กับคนอ่านได้ ส่วนเรื่องยาวเราก็คิดจะทำครับ แต่ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้นมาก ความจริงถ้าจะทำเป็นเรื่องยาว เราต้องทำออกมาให้ดี เราต้องชนตรงๆ เลยกับการ์ตูนญี่ปุ่น กับซีรีย์
TCIJ: ถ้าเราต้องการสร้าพื้นที่ของการ์ตูนไทยให้กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนนักอ่าน บุคลากร และทุน มีวิธีหรือเปล่า
ธัญลักษณ์: ตอนนี้ยาก เพราะคนจะกลัววงการสิ่งพิมพ์เป็นวงการของเก่าที่กำลังจะตาย ทำให้คนที่จะทำการ์ตูนจะคิดเสมอว่า ถ้าลงทุนกับสิ่งพิมพ์แล้วจะเติบโตได้แค่ไหน ผมมองว่าการที่จะสร้างพื้นที่ให้นักเขียนเติบโต อาจจะต้องมองถึงสื่ออื่นด้วย เช่น สื่อในโซเชียล มิเดีย หรือการทำอินเตอร์แอคทีฟ ตอนนี้ที่ผมเห็นคือบางแห่งพยายามเอาการ์ตูนไปอยู่บนมือถือ สร้างมูลค่าให้มัน ต้องรอดูว่าจะผลักดันสำเร็จมั้ย
คือพื้นที่ให้นักเขียนได้โชว์งาน มีเพียบ แต่ที่จะได้เงิน ยาก ถ้าจะให้มันมั่นคงต้องหาพื้นที่ที่เป็นรายได้ให้นักเขียนให้ได้ น่าจะต้องสร้างตลาดขึ้นมาให้ได้
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ