เผยระดับ'ความรุนแรง'ในที่ชุมนุมลดลง กระทรวงพลังงานมีความเสี่ยงมากที่สุด

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1749 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งมีเป้าหมายในการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อประเมินระดับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง โดยประสานข้อมูลกับเครือข่าย กลุ่ม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครภาควิชาการและปฏิบัติการภาคสนาม สำหรับภาคีร่วมเฝ้าระวังและจัดการความรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมือง ประกอบด้วยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กลไกความร่วมมือหลายฝ่ายในการเฝ้าระวังและจัดการความรุนแรง  กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน  เครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง เครือข่ายสันติอาสาสักขีพยาน มูลนิธิองค์รกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) สถาบันปฏิบัติการทางสังคมและฝึกอบรมอาสาสมัครไทย (CNSA) องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก (DPI/AP)

สำหรับการจัดเก็บข้อมูลนั้น อาสาสมัครฯ จะเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบตามตัวชี้วัดความรุนแรงก่อนที่จะถูกภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวิเคราะห์เพื่อค้นหาแนวทางต่อไป ดังนี้

1) ลักษณะและเนื้อหาของการปราศรัย

2) ลักษณะพฤติกรรมโดยรวมของผู้เข้าร่วมชุมนุม

3) การจัดการสภาพแวดล้อมในการชุมนุม

4) การตอบสนองคำสั่งของผู้นำ

5) ระยะเวลาของการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชุมนุม หรือกับเจ้าหน้าที่รัฐ

6) ระดับการตระเตรียมการด้านวัสดุ / อุปกรณ์ ของกลุ่มผู้ชุมนุม

7) ความเสี่ยงในการเกิดเหตุ "ม็อบชนม็อบ"

8) พื้นที่กันชน (Buffer Zone)

9) สภาพการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์/พยาบาล ภายในพื้นที่ชุมนุม

10) ระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่พบ

11) ระดับความแตกต่างทางอาวุธ

12) ความรุนแรงของอาวุธ

13) มาตรการต่าง ๆ อันเป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมาย

14) ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์

ผลการประเมินสถานการณ์จะได้รับการวัดระดับออกมาเป็น 4 ระดับ

ระดับที่ 1 = มีความเสี่ยงในระดับต่ำ (คะแนน 0.00-0.99)

ระดับที่ 2 = มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ต้องเฝ้าระวัง (คะแนน 1.00-1.99)

ระดับที่ 3 = มีความเสี่ยงในระดับสูง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (คะแนน 2.00-2.99)

ระดับที่ 4 = มีความเสี่ยงในระดับวิกฤติ (คะแนน 3.00 ขึ้นไป)

โดยแหล่งที่มาของข้อมูลได้จาก 1. ผู้ประสบเหตุ (ผู้บาดเจ็บ/ครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นต้น) 2. หน่วยงานทางการแพทย์ (แพทย์สนาม , หน่วยแพทย์อาสา , อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย , หน่วยงานทางการแพทย์ในกำกับของรัฐ) 3. กลไกความร่วมมือทุกฝ่าย(ผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม,เจ้าหน้าที่ตำรวจ) 4. กลไกสังเกตการณ์ 5. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง(ตำรวจ/ทหาร เป็นต้น)

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 15 มกราคม ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ได้รายงานสถานการณ์พื้นที่ชุมนุมในแต่ละแห่ง พบว่า ระดับความเสี่ยงต่อความรุนแรงในการชุมนุมรวมทุกพื้นที่อยู่ในระดับ 1.12 หรือระดับปานกลาง จากเกณฑ์ชี้วัด 4 ระดับ ลดลงจากวันที่ 13 (1.21) โดยเวทีกระทรวงพลังงานเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงมากที่สุดในระดับ 1.62

ทั้งนี้ เนื่องจากหลายพื้นที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการชุมนุม บางพื้นที่มีการปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัย เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย จัดระเบียบการเดินทางเข้าในพื้นที่ชุมนุม มีการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ ทั้งยังมีการวางแผนรักษาความปลอดภัยร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายตำรวจ บางพื้นที่ลดเงื่อนไขที่ส่งผลต่อความตึงเครียด เช่น การรื้อ Barrier หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตามพบว่า มีความขัดแย้งระหว่างการ์ดและวัยรุ่นในบางพื้นที่ด้วย ดังนั้น แม้ว่าระดับความเสี่ยงต่อความรุนแรงจะลดลง แต่ก็จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นไป พื้นที่ที่มีความตึงเครียดสูงสุดในช่วงที่ผ่านมาคือ พื้นที่กระทรวงพลังงาน (1.62) เวทีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) สะพานชมัยมรุเชษฐ์ (1.31) เวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ราชประสงค์ และเวที กปปส. อนุสาวรีย์ชัย (1.23)

ระดับความรุนแรงตามแต่ละตัวชี้วัดในแต่ละพื้นที่การชุมนุม ปรากฎดังนี้

ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ทางการเมืองระบุว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2556 เป็นต้นมา เกิดกระแสการตื่นรู้ทางการเมืองของพลเมืองเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นทางการเมืองเกิดขึ้นโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ทั้งในการชุมนุมแบบยืดเยื้อ และการชุมนุมเชิงสัญญลักษณ์ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งในหลายเหตุการณ์มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนกลุ่มคนร้ายไม่ทราบฝ่าย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 461 คน เสียชีวิต 8 คน ซึ่งยังรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 25 คน (รวมทุกเหตุการณ์ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556)

ในสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆความจริงถูกตีความให้มีหลายความเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ซึ่งหลายครั้งมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานของอาสาสมัครสังเกตการณ์กลุ่มต่างๆ ที่มีการปฏิบัติงานพื้นที่จริงในเหตุการณ์ยังไม่ได้มีการเก็บรวมรวมอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเด็นที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทั้งฟรีทีวีและอินเตอร์เน็ต ถูกนำไปเป็นประเด็นขยายความขัดแย้งของสถานการณ์ให้มแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตัวอย่างจากการที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นอาชีวะถูกทำร้าย บริเวณสี่แยกคอกวัว แต่มีเผยแพร่ข่าวออกไป 3 แบบ คือ 1.กลุ่มอาชีวะถูกกลุ่มเสื้อแดงทำร้าย 2.กลุ่มอาชีวะทะเลาะกับการ์ดเวทีราชดำเนิน 3.กลุ่มอาชีวะทะเลาะกับพ่อค้าแม่ค้าในบริเวณนั้น หรือกรณีการปะทะบริเวณสนามกีฬา(ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556  มีข้อถกเถียงเรื่องกลุ่มคนที่ทุบรถประชาชน มีความเป็นไปได้ที่ถูกตีความเป็นเครื่องมือในการกดดันสถานการณ์ให้เกิดความเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสนอว่าเป็นตำรวจจริง อีกกลุ่มบอกเป็นตำรวจเขมร ข้อมูลจากฝั่งรัฐบอกเป็นผู้ชุมนุมที่นำเครื่องแบบตำรวจที่ขโมยมาใส่ เป็นต้น ซึ่งความคลุมเครือของข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกนำไปตีความเพื่อประโยชน์ฝ่ายตนซึ่งการตีความและสื่อสารในลักษณะเช่นนี้ หลายครั้งเป็นการขยายความขัดแย้งและเกลียดชังไปสู่คนกลุ่มต่างๆเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ยากเยียวยาและรอคอยการเดินทางเข้าสู่ความรุนแรงในรอบใหม่ได้

แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาครัฐบางหน่วย เช่น ศูนย์เอราวัณ กทม. ศูนย์นเรนทร และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและเชื่อมประสานทางนโยบายและการทำงานในพื้นที่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความรุนแรง และบรรเทาสถานการณ์เมื่อเกิดความรุนแรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา เพื่อรักษาชีวิตของทุกฝ่าย แต่ยังไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลสำคัญที่ได้จากการปฏิบัติงานเพื่อประเมินระดับและสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากรวบรวมได้ก็จะทำให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและบรรเทาความขัดแย้งได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศูนย์กลางเพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงของสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ประเมินเหตุการณ์ ประมวลภาพรวมของเหตุการณ์ บันทึกข้อมูลและถอดบทเรียนและยกระดับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองนี้ได้ดีขึ้น นำไปสู่การค้นหาแนวทางการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเกิดความรุนแรงน้อยที่สุดได้

ทั้งนี้ ในการติดตามผลในแต่ละวัน ศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อทำการประเมินจำนวนสองครั้งในเวลา 13.00 น. และ 21.00 น. และรายงานผ่านเว็บไซต์ http://www.thaiviolencewatch.com/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: