จับตาแหล่งพลังงานถึงฤดูกาลสั่นคลอน ซ่อมท่อก๊าซกระทบผลิตไฟฟ้าใต้-ขนส่ง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 16 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4121 ครั้ง

ประเด็นร้อนสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านพลังงานในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการซ่อมบำรุงปรับปรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ 2 แหล่ง ระหว่างเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยตรง โดยการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.นี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่จ่ายให้ระบบ 630 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ที่หลายฝ่ายกังวลว่า อยู่ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ที่จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

แต่ทั้งนี้กระทรวงพลังงานเองก็ออกมาระบุว่า การปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช อยู่ในอ่าวไทย สามารถใช้น้ำมันเตาและก๊าซ LPG จากแหล่งใกล้เคียงมาช่วยเสริมในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนได้ ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในปี 2556 ที่ผ่านมา ที่เป็นการปิดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา- เยตากุน ของพม่า ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของไทย โดยปีนี้ได้เลื่อนไปซ่อมบำรุงในช่วงต้นปี 2558 แทน

หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาด้านวิกฤตพลังงานของปีนี้ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี เนื่องจากจะมีการปิดซ่อมท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่รับจากแหล่งก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ที่จะปิดซ่อมระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค. จำนวน 28 วัน ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาคใต้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA นั้น เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 700 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคใต้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่รวมประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ บวกกับกระแสไฟฟ้าที่ส่งจากภาคกลางลงไปช่วยอีกประมาณ 700 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

ซึ่งเท่ากับว่า เมื่อโรงไฟฟ้าจะนะ ไม่สามารถเดินเครื่องได้เท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าปกติ จะเหลือประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้อยู่ที่ 2,543 เมกะวัตต์ (พีคมักเกิดขึ้นในช่วงเวลา 13.00-15.30 น. กับช่วง 18.30-22.30 น.) หรือมากกว่ากำลังผลิตปกติกว่า 240 เมกะวัตต์ จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดกระแสไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ได้

นอกจากนี้ในช่วงที่แหล่งก๊าซ JDA ปิดซ่อมบำรุง จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการปั๊มก๊าซธรรมชาติ NGV ใน 3 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 14 แห่ง ด้วย โดยเฉพาะในช่วง 10 วันแรกของการหยุดจ่ายก๊าซ คือระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-22 มิ.ย. จะไม่มีก๊าซส่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัท ทรานซ์ ไทย-มาเลเซีย (TTM) ผู้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ในภาคใต้กำหนดหยุดซ่อมเช่นเดียวกัน

ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซ NGV ทางภาคใต้อยู่ที่วันละ 190 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ช่วง 18 วันหรือตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.-10 ก.ค. ทางบริษัท ทรานซ์ ไทย-มาเลเซีย จะเริ่มกลับมาดำเนินงานตามปกติ ซึ่งจะมีปริมาณก๊าซค้างท่อ ป้อนให้ปั๊มเอ็นจีวีได้ 110 ล้านตันต่อวัน

สำหรับแผนการรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ในช่วงสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาด้านวิกฤตพลังงานทั้ง 2 ช่วงนี้

กำหนดการซ่อมบำรุงแหล่งจ่ายก๊าซให้ประเทศไทย 2557-2558

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในช่วงปี 2557-2558 นี้ ผู้ส่งก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยมีแผนที่จะหยุดจ่ายก๊าซฯ เพื่อซ่อมบำรุงและผลกระทบต่อปริมาณก๊าซฯ ที่จ่ายให้ระบบ ดังนี้

1.การซ่อมบำรุงแหล่งเยตากุน ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.2556 -13 ม.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซ ที่จ่ายให้ระบบ 1,100 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

2.การซ่อมบำรุงแหล่งยาดานา วันที่ 1 มี.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซ ที่จ่ายให้ระบบ 1,100 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

3.การซ่อมท่อขนาด 32 นิ้ว ของแหล่งบงกช ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซที่จ่ายให้ระบบ 630 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

4.การปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความสามารถส่งก๊าซฯ แหล่ง JDA ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซ ที่จ่ายให้ระบบ 420 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้ภาคใต้ไม่รองรับมาตรฐานความมั่นคง N-1 และมีแรงดันไฟฟ้าต่ำบางพื้นที่

5.การซ่อมบำรุงแหล่งยาดานา ระหว่างวันที่ 10 - 18 เม.ย.2558 ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซ ที่จ่ายให้ระบบ 1,100 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

6.การปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มความสามารถส่งก๊าซ แหล่ง JDA ภายในเดือนพ.ค.2558 (7 วัน) และเดือน ก.ย.2558 (10 วัน) ส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซ ที่จ่ายให้ระบบ 420 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

เปิดแผนรับมือ ปตท.-กฟผ.-กฟภ.

ทั้งนี้ในช่วงที่หลายฝ่ายมีความกังวลใจมากที่สุดก็คือ ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 และระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าชี้แจงให้ข้อมูล เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยแผนการรับมือในช่วง ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 และ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 มีดังนี้

ปตท.

ในการซ่อมแซมระบบท่อก๊าซฯ แหล่งบงกช ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 ปตท. มีแผนการบริหารจัดการช่วงการทำงานแหล่งบงกช ปตท.ได้ประสานงานและวางแผนร่วมกับกฟผ. เพื่อบริหารจัดการการจ่ายก๊าซให้แก่โรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเรียกรับก๊าซจากฝั่งตะวันออก อีสาน ตามความต้องการใช้ก๊าซ LNG

รวมทั้งการวางแผนการซ่อมบำรุงของโรงแยกก๊าซฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถจ่ายก๊าซเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า มีการเพิ่มการจ่ายก๊าซ LNG เข้าระบบ โดยปตท.จัดหา LNG เพิ่มเติมในวันที่ 18 และ 24 เม.ย.2557 เพื่อเพิ่มปริมาณสารองในการจ่ายก๊าซฯ ให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ปตท.ยังจัดเตรียมปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง (ปริมาณสำรองน้ำมันเตา 130 ล้านลิตร) ให้เพียงพอต่อความต้องการ (แผนการใช้น้ำมันเตา 43 ล้านลิตร และไม่มีแผนการใช้น้ำมันดีเซล) อีกด้วย

ในการซ่อมแซมระบบท่อก๊าซแหล่ง JDA วันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 ปตท.มีแผนบริหารจัดการช่วงการทำงานแหล่ง JDA โดยประสานงานและวางแผนร่วมกับกฟผ. เพื่อบริหารจัดการการจ่ายก๊าซให้แก่โรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และมีการติดตามความคืบหน้าการทำงานในการซ่อมบำรุงของผู้ผลิตแหล่ง JDA เป็นระยะ

มีการวางแผนการทำงานของผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยแหล่งอื่น ๆ และประเทศพม่า ไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว และพิจารณาเพิ่มการ Sent out LNG ตามความต้องการของระบบ นอกจากนี้ปตท.ยังได้จัดเตรียมปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง (น้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล) สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ ให้เพียงพอต่อความต้องการ

กฟผ.

สำหรับมาตรการรับมือของกฟผ. ในช่วงการซ่อมแซมระบบท่อก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 นั้น ได้มีการสำรองน้ำมันเตาให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกงไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าในช่วงนี้นั้นจะไม่มีผลกระทบด้านพลังงานไฟฟ้า

ส่วนในช่วงการซ่อมแซมระบบท่อก๊าซธรรมชาติแหล่ง JDA วันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 นั้น กฟผ.ได้ปรับแผนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ โดยไม่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้ หยุดบำรุงรักษาช่วงเดียวกับแหล่งก๊าซ JDA  ในปี 2557

มีการเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทุกเครื่อง มีการทดสอบโรงไฟฟ้ากระบี่เดินเครื่องเต็มกำลังผลิต 14 วัน (เมื่อวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค.ที่ผ่านมา) รวมถึงโรงไฟฟ้าดีเซลในค่ายทหารให้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการทดสอบเดินเครื่องทุก 2 สัปดาห์

มีการจัดเตรียมน้ำมันสำรองที่โรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีให้เต็ม ก่อนเริ่มการซ่อมบำรุง โดยสำรองน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ เต็มความสามารถจัดเก็บ 27 ล้านลิตร และสำรองน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าสุราษฏร์ธานี 14 ล้านลิตร

รวมทั้งมีเจรจาซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย 100 – 300 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) แจ้งไม่พร้อมขายกระแสไฟฟ้าช่วงที่ท่อส่งก๊าซจากแหล่ง JDA ซ่อมบำรุง เนื่องจากได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน

รวมทั้งร่วมมือกับกฟภ. ในการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลาง ไปเสริมให้กับจังหวัดภาคใต้ ในกรณีที่ความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่าปริมาณการใช้สูงสุด (พีค) ที่คาดการณ์ โดยขั้นแรกจะส่งไฟฟ้าเพิ่มจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 700 เมกะวัตต์ แต่ในกรณีฉุกเฉินสามารถส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด 230 KV ได้อีก 200 เมกะวัตต์ แต่กระนั้นก็จะส่งผลกระทบคือจะไม่มีไฟฟ้าสำรองเหลือในพื้นที่และระบบสายส่งไม่อยู่ในมาตรฐาน

กฟภ.

ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับมอบหมายให้มีบทบาทในด้านการเตรียมความพร้อม และด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงการซ่อมแซมระบบท่อก๊าซแหล่ง JDA ในช่วงวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 ในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

กฟภ.ได้ตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบจำหน่าย สายส่ง สถานีไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ในระบบควบคุมและป้องกันต่าง ๆ มีการจัดเตรียมความพร้อมของบุคคลากร และเครื่องมือในการสนับสนุนงานด้านบริการ มีการซักซ้อม และจัดเตรียมแผนด้านการบริหารจัดการสภาวะวิกฤต ระหว่างศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้า (ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ, ศูนย์สั่งการระบบไฟฟ้า, ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าภาคใต้ ,ศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้า)

รวมทั้งจัดประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์ภายในองค์กรในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีการสนับสนุน และให้ความร่วมมือการรณรงค์ ในการลดใช้พลังงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายของการรณรงค์ประหยัดพลังงานไฟฟ้าในช่วงนั้น มีเป้าหมายการลดให้ได้ถึง 200 เมกะวัตต์

และหากต้องมีการดับไฟฟ้าในบางพื้นที่ เพื่อรักษาระบบในกรณีที่มีฉุกเฉินอื่น ๆ เช่น มี โรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องกะทันหัน กฟภ.เองก็ได้ศึกษาบริเวณที่จะดับไฟฟ้าเรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยจะพิจารณาให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: