เปิดเออีซี-อนาคต‘สมุนไพรไทย’น่าห่วง 'วัตถุดิบ'สู้อาเซียนไม่ได้-เจอกม.บีบซ้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 15906 ครั้ง

เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่า ปัจจุบัน “สมุนไพร” ของไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมากในระดับนานาชาติ ทำให้สมุนไพรกลายเป็นสินค้าที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เกิดการส่งออกสำคัญในการเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการผลักดันให้ประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางด้านสมุนไพรของอาเซียน ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งยังมีสมุนไพรกลุ่มสารสกัด กลุ่มที่ใช้ในอาหารสัตว์และกลุ่มที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ

ในขณะที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พยายามดำเนินการ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย : สมุนไพรไทย-สินค้าโลก พ.ศ. 2556-2560 มุ่งการพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ Thailand Champion Herbal Products : TCHP พร้อมกับผลักดันสมุนไพร 5 ชนิดได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ลูกประคบ ไพล และบัวบก โดยหวังให้การมีการใช้สมุนไพรไทยเหล่านี้อย่างแพร่หลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความพยายามในการส่งเสริมให้สมุนไพรไทยต่อสู้ได้ทั้งในตลาดอาเซียน และตลาดโลก แต่ดูเหมือนว่าอุปสรรคต่อการเดินสู่ตลาดของสมุนไพรไทยจะยังหนักหนาสาหัสอยู่ เพราะแม้จะพบว่าตัวเลขยอดการส่งออกสมุนไพรไทยจะค่อยขยับขึ้น แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ แล้ว อัตราการเติบโตในตลาดสมุนไพรของไทย อาจยังไม่สามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่แม้จะเสียเปรียบด้านความหลากหลายทางธรรมชาติ แต่ด้วยความสามารถในการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ทำให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้านรับรองผลิตภัณฑ์สมุนไพร จนสามารถครองแชมป์ในภูมิภาคไปด้วย ในขณะที่มาเลเซียเองสามารถพัฒนาโรงงานแปรรูปสมุนไพรที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากจีนมาแปรรูป จนมียอดส่งออกตามสิงคโปร์มาติด ๆ ยังไม่นับรวมเวียดนาม ที่ขณะนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเกือบจะแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกัน คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เหลือเวลาอีกปีกว่า ๆ ก่อนที่ตลาดอาเซียนจะเปิดรวมเป็นตลาดเดียวกัน ความพยายามของไทยจะสามารถเดินทางได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ที่แม้กระทั่งผู้ประกอบการเองก็แสดงความไม่มั่นใจต่อเป้าหมายสำคัญนี้

ไทยขาดวัตถุดิบสมุนไพรต้องนำเข้าจากจีน

นายไพศาล เวชพงศา บริษัท เวชพงศ์โอสถ (ฮกอันตึ๊ง) จำกัด เจ้าของผู้ผลิตยาแก้ไอน้ำสมุนไพร น้ำดำ ตราเสือดาว ซึ่งคลุกคลีอยู่กับธุรกิจด้านการพัฒนายาสมุนไพร กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สมุนไพรในกลุ่มยาแผนโบราณและอาหารเสริม ในอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทย ยังไม่สามารถเติบโตสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ว่า ปัญหาสำคัญของไทยในขณะนี้ ยังคงเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่สำคัญได้แก่ เรื่องของวัตถุดิบสมุนไพรที่จะนำมาใช้ในการผลิตยา ที่ปัจจุบันเริ่มหายากขึ้น และมีราคาแพง เมื่อต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการด้านการผลิตสินค้าสมุนไพร จำเป็นต้องสั่งวัตถุดิบมาจากประเทศจีน เพื่อแปรรูปใช้ เนื่องจากสมุนไพรหลายชนิดไม่ได้ปลูกเพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศ แต่กว่า 60-70 เปอร์เซนต์ เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากป่าต่าง ๆ โดยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติในประเทศ และป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า ทำให้มีวัตถุดิบในการนำมาแปรรูปไม่เพียงพอ สาเหตุเพราะประเทศไทยยังไม่มีผู้สนใจในการลงทุนปลูกสมุนไพรสำคัญ ๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการแปรรูปผลิตสินค้ามากพอ แต่จะให้ความสำคัญกับสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยว เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน มากกว่า

การแก้ปัญหาการขาดแคลนสมุนไพรตั้งต้นหลายชนิด ผู้ประกอบการจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งราคาสมุนไพรเหล่านี้จะแตกต่างกันไป โดยวัตถุดิบจากจีนมีราคาถูกที่สุด แต่บางชนิดในประเทศจีนไม่มีก็จำเป็นต้องซื้อจากประเทศอื่น ๆ ที่มีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้วัตถุดิบบางชนิดมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลน ก็จำเป็นจะต้องซื้อกักตุนไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะสามารถมีวัตถุดิบในการผลิตสินค้านั่นเอง

เกาหลี-ญี่ปุ่น ลงทุนปลูกในไทยแล้วขนกลับไปแปรรูปขายทั่วโลก

ด้าน ผศ.ดร.สุรพงษ์ พินิจกลาง นักวิชาการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรจาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพรถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทย ที่หากจะนำสมุนไพรเข้าสู่ตลาดการค้าอาเซียน เพราะปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยเองเป็นประเทศในเขตร้อน น่าจะเหมาะกับการเติบโตของสมุนไพรสำคัญชนิดต่าง ๆ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ สมุนไพรชนิดที่สามารถจะนำไปสกัดเป็นวัตถุดิบสำคัญ ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า มีหลายประเทศที่เห็นโอกาส ถึงขนาดเข้ามาลงทุนปลูกพืชสมุนไพรในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่สามารถสกัดลงไปในอาหารเสริม และเครื่องสำอางค์ ต่าง ๆ หรือสมุนไพรสำคัญของโลก เช่น กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง  โดยจะปลูกในประเทศไทย ก่อนจะส่งออกไปสกัดเป็นวัตถุดิบแล้วนำไปขายทั่วโลก รวมถึงนำกลับเข้ามาขายในไทยด้วย ทำให้ไทยเสียโอกาสเป็นอย่างมาก

            “โอกาสแบบนี้ ประเทศไทยเรายังมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่ได้มีการรวมการพัฒนาเป็นจุดเดียว ต่างคนต่างทำ ทำให้ต่างชาติคว้าโอกาสไป เช่น ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ที่เข้ามาปลูกสมุนไพรบางชนิดที่ใส่ในอาหารเสริม แล้วส่งออกไปแปรรูปขาย ราคาที่นำกลับมาขายจึงสูงขึ้นเป็น 100 เท่า เพราะแปรรูปเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างของไทยไม่สนใจลงทุน และยังติดกฎหมายบางฉบับ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในจำนวนที่จำกัด แต่ต่างชาติกลับสามารถนำออกไปได้” ดร.สุรพงษ์กล่าว

เกษตรกรไทยไม่ปลูก เพราะไม่มีความรู้-ต้นทุนสูง

ทั้งนี้มีข้อมูลรายงานว่า ในบางจังหวัดเช่น กาญจนบุรีและราชบุรี มีนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาว่าจ้างเกษตรกรจำนวนมากปลูกสมุนไพร เช่น กวาวเครือ ว่านชักมดลูก ก่อนนำกลับออกไปที่ประเทศของตัวเอง โดยยังเป็นที่กังขาว่า กลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ดำเนินการได้อย่างไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร และเกรงว่าอาจจะทำให้ไทยโอกาส เช่นเดียวกับเหตุการณ์ของ “เปล้าน้อย” ที่ถูกญี่ปุ่นจดลิขสิทธิ์ไปในที่สุด

ในขณะที่ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2555 ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรรวม 45,340 ไร่ มีพืชสมุนไพรที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูก 55 ชนิด มีครัวเรือนที่ปลูก 11,673 ครัวเรือน แหล่งผลิตกระจายทั่วประเทศ โดยพืชสมุนไพรที่มีพื้นที่ปลูกมาก คือ กระวาน กฤษณา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม บัวบก พริกไทย ไพล และว่านหางจระเข้ โดยพบว่า ปัญหาที่เกษตรกรไม่ให้ความสนใจในการปลูกพืชสมุนไพร เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง ขาดความรู้ ทักษะ ความตระหนักในกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ไม่ทราบความต้องการของตลาด ไม่สามารถกำหนดและวางแผนการผลิตได้ ที่สำคัญคือขาดข้อมูลข่าวสารและความรู้ในการปลูกสมุนไพร ซึ่งทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสินค้าสมุนไพรเพื่อการส่งออกด้วย

คนไทยยังไม่รู้จักสมุนไพร แพทย์ในโรงพยาบาลไม่จ่ายยาให้

อุปสรรคของการผลักดันให้สินค้าสมุนไพรเติบโตได้ในระดับโลกอีกประการหนึ่งนั้น ทั้ง นายไพศาลและดร.สุรพงษ์เห็นตรงกันคือ เรื่องของนโยบายจากภาครัฐ ที่แม้จะพบว่ามีความพยายามในการกำหนดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทัศนคติของการใช้สมุนไพรกลับยังไม่ได้กว้างขวางตามเป้าหมายมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ที่ยังขยายตัวได้ไม่เท่ากับสมุนไพรด้านความงามหรือสปา

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพฤติกรรมการดูแลรักษาตนเองด้วยแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของครัวเรือน พ.ศ.2556 ระบุว่า มีประชาชนเพียงร้อยละ 21.9 เท่านั้นที่รู้จักและเคยใช้ยาแผนไทยและสมุนไพรไทยในการรักษาโรค โดยประชาชนที่ตอบแบบสอบถามจำนวนถึงร้อยละ 41.6 ระบุว่า ไม่รู้จักและไม่เคยใช้ยาแผนไทย หรือสมุนไพรในการรักษาโรคเลย

นอกจากนี้ในการสำรวจดังกล่าว ยังกล่าวถึงผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้ยาแผนไทยโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ยาแผนไทยยังถูกใช้น้อยมาก มีประชาชนจำนวนถึง  94.9 ระบุว่าไม่เคยได้รับยาแผนไทยจากการตรวจโดยแพทย์แผนปัจจุบันในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และยาที่เคยได้รับกลับเป็นยานวดสมุนไพร ยาหม่องสมุนไพร และสมุนไพร เท่านั้นเอง

            “ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามให้โรงพยาบาลของรัฐ จ่ายยาสมุนไพรในบัญชียาหลักให้กับประชาชนให้ได้ร้อยละ 10 แต่ปัจุบันพบว่าไม่สามารถทำได้ ยังมีการจ่ายยาสมุนไพรได้ไม่เคยถึงร้อยละ 10 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของแพทย์ ดังนั้นยาสมุนไพรที่ใช้ในปัจจุบันจึงอยู่ในระดับท้องถิ่นมากกว่า การส่งเสริมเรื่องความรู้ความเข้าใจรัฐจึงควรจะทำให้มากกว่านี้” นายไพศาลกล่าว

อย.เข้มมาตรฐาน GMP ทำ SMEs รายเล็กอยู่ไม่ได้

นอกจากนี้นายไพศาลมองว่า ระเบียบและกฎเกณฑ์ของรัฐที่ออกมาบังคับใช้มากขึ้น ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าสมุนไพร เช่น กรณีการกำหนดมาตรฐานใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำออกมาบังคับใช้ ได้แก่ มาตรฐาน GMP-PIC/S ที่เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป และใช้กันในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สินค้าสมุนไพรไทยมีมาตรฐานในการที่จะเข้าแข่งขันในอาเซียนได้ ซึ่งจะทำให้ต้องมีกระบวนการดูแลคุณภาพที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ยอมรับว่า กฏระเบียบดังกล่าวของอย.อาจทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ทำธุรกิจด้านการพัฒนาสินค้าสมุนไพร ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอยู่จำนวนกว่าจำนวนมาก อาจจะไม่สามารถดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวได้ เพราะปัจจุบันการประกอบการสินค้าสมุนไพรไทยส่วนใหญ่ เน้นการขายในตลาดท้องถิ่นมากกว่าการขายในระดับใหญ่ ซึ่งการปรับปรุงตามมาตรฐานของอย. ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับตลาดที่ขายกันในปัจจุบัน

            “ที่ผ่านมารัฐให้ SMEs ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP แต่ก็ไม่ได้ให้สิทธิอะไรเพิ่มเติมจากนั้น ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหลายแห่งประสบความยากลำบากในการประกอบธุรกิจ แต่ปัจจุบันได้มีการผ่อนผันได้บ้าง เพื่อให้กลุ่มนี้ยังคงดำเนินการต่อไป แต่ถึงกระนั้นเราก็ประสบปัญหาอื่น ๆ อีก ที่หากจะบอกว่า รัฐพยายามผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำเรื่องสมุนไพรในอาเซียนตอนนี้คงจะลำบาก แค่จะทำให้เข้าไปแข่งขันในตลาดอาเซียนได้อย่างไรน่าจะดีกว่า เพราะปัจจุบันศักยภาพการผลิตสมุนไพรของประเทศไทย ทั้งในและนอกอาเซียนยังเป็นรองประเทศจีน อินเดีย ญี่­ปุ่น ขณะที่อินโดนีเชีย เวียดนามและพม่า มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว” นายไพศาลระบุ

สิ่งที่รัฐบาลควรส่งเสริมอย่างจริงจังและให้เป็นรูปธรรมมากกว่าการเขียนเป็นนโยบาย คือส่งเสริมให้มีการผลิตวัตถุดิบให้ได้มาตรฐาน GAP ทําการศึกษา วิจัยและทดลองประโยชน์ของสมุนไพรแต่ละชนิดอย่างจริงจัง ให้เป็นระบบและทําการเผยแพร่ทั้งในทางการแพทย์และการพาณิชย์ รวมถึงควรส่งเสริมให้มีการการแปรรูปสมุนไพรสร้างมูลค่าเพิ­มให้กับวัตถุดิบสมุนไพร และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการ รสนิยมของผู้บริโภค

และทั้งหมดนี้ควรจะรีบดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถสู้กับตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้เพราะถึงวันนี้ เหลือเวลาอีกไม่นานกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว

ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: