ขรก.ใช้ยาแพง-ดันงบพุ่ง ชี้ไม่รักษา-ทำลายสุขภาพ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 16 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2886 ครั้ง

เมื่อเทียบกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาลราชการนับเป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายโดยรัฐสูงสุด เหตุผลสำคัญคือการระบุให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักให้กับผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการและญาติได้

ในปี 2553 มูลค่ายาเพื่อการบริโภคในประเทศในราคาตาม Price list สูงถึง 134,482,077,585 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีอัตราการเพิ่มสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านสุข ภาพ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สาเหตุของการเพิ่มที่สูงมากนี้ เกิดจากการใช้ยาเกินความจำเป็นโดยเฉพาะยาราคาสูงและในปี 2555 เฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการสูงถึงกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท

ข้อมูลจากรายงานผลการศึกษากลยุทธ์การกำหนดและควบคุมราคายา : ก่อนขาย (หลังขึ้นทะเบียนยา)เมื่อคัดเลือกเข้าบัญชียาแห่งชาติ โดยผู้จ่ายค่ายารายใหญ่ ศึกษากลุ่มยาที่มีราคาแพงและมูลค่าการนำเข้าสูงที่สั่งใช้ในโรงพยาบาลมาก 6 กลุ่มการรักษา เปรียบเทียบระบบสุขภาพ 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าข้าราชการเป็นกลุ่มที่ใช้ยาปริมาณมากที่สุดและยาหลายประเภทเป็นยาใหม่ที่มีราคาสูง

ระบบเบิกจ่าย เอื้อขรก.ถูกจ่ายยามั่ว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือ การใช้ยาเกินความจำเป็นของข้าราชการ เพราะรัฐเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด แพทย์จำนวนมากสั่งจ่ายยาโดยไม่จำกัดประเภท เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ผลที่ตามมาคือ นอกจากภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังพบว่ายาหลายประเภทที่ไม่ควรสั่งจ่าย เนื่องจากมีราคาสูงและเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาลดความดันและลดไขมันในเลือด (Amlodipine+Atorvastatin) ถูกจ่ายยาร่วมกันโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ ทั้งที่ในความจริงยาสองชนิดดังกล่าวไม่ควรใช้ร่วมกัน เนื่องจากไม่สามารถปรับปริมาณยาได้ เพราะเป็นยาผสม ล่าสุดองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ได้ขยายคำเตือนของยาลดไขมัน กลุ่ม Statins ระบุผลข้างเคียง จะสร้างความเสียหายรุนแรงกับตับ เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงความสามารถในการจดจำของสมอง

หน้าเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนกรณีผลข้างเคียงจากยากลุ่ม Statins

ระบบตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ เสี่ยงใช้ยาเกิน

สอดคล้องกับงานศึกษาของ รศ.เพชรรัตน์ พงษ์เจริญสุข อาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องแนวโน้มการใช้ยาในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรงของสวัสดิการข้าราชการ ผลการศึกษาพบว่า มูลค่ายาที่ข้าราชการและครอบครัวได้รับต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรง ซึ่งต่างจากผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคมที่มีการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยในปี 2548 ข้าราชการใช้ยาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.77 เท่าของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการมีโอกาสได้รับยาชื่อการค้ามากกว่ายาสามัญ สำหรับตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับยาเป็นมูลค่าสูง มีตัวอย่างผู้ป่วยหนึ่งรายที่มีประวัติได้รับยาลดไขมัน Atorvastatin 40 mg จำนวน 1,880 เม็ดในเวลา 3 ปี และยังได้รับยาอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้

งานศึกษาสรุปว่า ข้าราชการมีมูลค่าการใช้ยาสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการเบิกจ่ายตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ระบบการตรวจสอบการใช้ยายังขาดประสิทธิภาพ ทำให้มีผู้ป่วยได้รับยามากเกินความจำเป็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: