ผอ.TCIJ ยันไม่เปิดรายชื่อ หวังรื้อปัญหาโครงสร้างสื่อ-ธุรกิจ เพิ่มการเท่าทันสื่อ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 16 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1701 ครั้ง

ภายหลังการนำเสนอข่าว ‘หลุด! เอกสารฝ่าย PR ธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ’ ซึ่งเนื้อหาระบุถึงการที่บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่สื่อเพื่อนำเสนอข่าวที่เป็นบวกแก่บริษัท เป็นเหตุให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบกรณีนี้

เกิดเป็นประเด็นร้อนแรงเพื่อควานหาตัวสื่อมวลชน 19 รายที่ปรากฏในเอกสารว่ารับเงินจากบริษัทดังกล่าว และมีความต้องการให้ TCIJ เปิดเผยชื่อคนเหล่านั้นแก่ทางสภาวิชาชีพเพื่อดำเนินการต่อไป

15 กรกฎาคม 2557 TCIJ จึงได้จัดงานเสวนา ‘อำนาจเหนือเกษตรกร อำนาจเหนือสื่อ’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการเสวนาดังกล่าว สุชาดา ผู้อำนวยการ TCIJ เปิดใจถึงเหตุที่นำเสนอข่าวนี้และตอบคำถามสื่อมวลชน พร้อมแสดงความคาดหวังว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมในระดับกว้างและลึกต่อสองสถาบันหลักคือภาคธุรกิจและสื่อมวลชน มากไปกว่าการจำกัดวงเพียงแค่การเอาผิดสื่อเป็นรายบุคคล

อำนาจเหนือสื่อ

สุชาดา กล่าวว่า ได้รับข้อมูลทั้งหมดมานานพอสมควรและได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายประการ กระทั่งมั่นใจว่าข้อมูลดังกล่าวเชื่อถือได้ และนำเสนอสิ่งที่พบต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การรู้เท่าทัน และกระตุ้นเตือนถึงสิ่งที่ธุรกิจนี้กำลังทำอยู่ โดยไม่มีความประสงค์จะให้เกิดการบอยคอตสินค้าของบริษัทนี้แต่อย่างใด เพราะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และก็ไม่ต้องการให้สังคมเกิดกระแสเกลียดชังสื่อมวลชน

           “เรานำเสนอเพราะเราทำหน้าที่ของสื่อที่ไม่สามารถนั่งดูข้อมูลเหล่านี้เฉยๆ ได้ แต่ก็เข้าใจว่านักข่าวก็ตัวเล็กเกินกว่าจะยืนต้านอะไร เราจึงบอกว่ารายชื่อที่เอกสารระบุว่ามีการรับงบพิเศษ เป็นนักข่าวระดับกลางถึงระดับอาวุโส”

วัตถุประสงค์ของการนำเสนอข่าวชิ้นนี้คือความคาดหวังให้เกิดการเรียนรู้ 3 ประการ ประการแรก คาดหวังว่าทุนจะเข้าใจว่านี่คือผลลัพธ์ของการเน้นการลงทุนด้านภาพลักษณ์เพียงด้านเดียว สุชาดา แสดงทัศนะว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าการลงทุนด้านภาพลักษณ์จะทำให้สินค้าขายดีขึ้นหรือผู้คนจะนิยมชมชอบองค์กรของตนมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ปรากฏในเอกสารที่หลุดออกมาทั้งสิ้น

ทว่า การลงทุนกับภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียวนำมาซึ่งการฉ้อฉลหลายประการ ตัวอย่างข้อมูลที่นำเสนอในข่าว เช่น กรณีคนกระโดดบ่อจระเข้ฆ่าตัวตาย สุชาดาตั้งคำถามว่า เหตุการณ์เช่นนี้เสียภาพลักษณ์อย่างไร เหตุใดจึงต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่และนักข่าวเพื่อปิดข่าว แล้วการจ่ายเงินในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมการคอร์รัปชั่นหรือไม่ เพราะคอร์รัปชั่นคือผลประโยชน์ที่ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือศีลธรรม การคอร์รัปชั่นลักษณะนี้เป็นลักษณะที่สังคมไม่คุ้นเคย แต่มันเป็นการคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่งที่เป็นผลพวงจากวิธีคิดในการลงทุนด้านภาพลักษณ์เป็นหลัก

สุชาดายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ตัวนโยบายกับสายพานของงานประชาสัมพันธ์ของธุรกิจขนาดใหญ่มักแยกเป็นเอกเทศจากกัน และเชื่อว่าเมื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดีแล้ว ทุกอย่างจะดีเอง นำไปสู่สิ่งที่ปรากฏในเอกสารจำนวนมากที่น่าเชื่อว่าเป็นการรายงานเท็จกันเองภายในองค์กร เนื่องจากระบบที่เข้มงวดภายในของฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ต้องรายงานอย่างละเอียดทุกสัปดาห์ ว่าพบใครบ้าง บุคคลนั้นตอบว่าอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องรายงานเท็จปนจริง ดังนั้น องค์กรธุรกิจต้องคิดใหม่ว่าจะมีระบบอะไรที่คิดถึงความเป็นมนุษย์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่ตนเองสัมพันธ์ด้วย

ประการต่อมา ความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างทุนกับสื่อมวลชน สุชาดาเชื่อว่านักข่าวทั้งหลายรับรู้สิ่งเหล่านี้ พร้อมกับยกตัวอย่างความชอบพอสนิทสนมระหว่างนักข่าวและทุนอันนำมาซึ่งความเกรงใจ ก่อเกิดเป็นการเซ็นเซอร์เชิงวัฒนธรรม กระทั่งนำไปสู่การแยกแยะไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมในที่สุด ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ปกตินี้อาจจะมีมายาวนานแล้ว และสื่อจำเป็นต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย

          “มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า สื่อมวลชนไทยมักทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล แต่ไม่ยืนตรงข้ามและไม่อยากจะตรวจสอบทุน จะด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบ รวมทั้งอาจมีส่วนที่ไม่รู้เท่าทันทุนมากพอว่า ปัจจุบันเขามีวิธีการที่จะเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบเดียวกับสื่อ หรือสื่อเองอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวจนถึงการรับเงิน” สุชาดา กล่าว

ประการสุดท้าย สุชาดาคาดหวังว่าผู้บริโภคข่าวจะเท่าทันสื่อและธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคข่าวมักคิดว่าสิ่งที่ปรากฏในข่าวเท่ากับความจริง แต่ควรคิดใหม่ว่าสิ่งที่ปรากฏในสื่ออาจไม่ใช่ความจริง

         “ความคาดหวังสูงสุดคือต้องการให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ ไม่ได้เจาะจงสื่อสำนักไหน นักข่าวคนไหน หรือธุรกิจใด แต่ทั้งหมดนี้ถ้าถอดรหัสออกมา เราจะเห็นปัญหาเชิงระบบ ซึ่งก็คือการไม่รู้เท่าทันหรืออาจจะรู้แต่หลับตาเสียจากผลประโยชน์ทับซ้อนหรืออำนาจที่เข้ามาแทรกแซง”

นอกจากนี้ สุชาดายังได้สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการนำเสนอข่าวนี้ว่า ต้องเผชิญกับรูปแบบการใช้อำนาจเหนือสื่ออย่างไร ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับสื่อสำนักอื่นเช่นกัน หนึ่ง-การแถลงข่าวตอบโต้จากบริษัทผู้เสียหาย สอง-การล็อบบี้หรือชักชวนผู้อื่นให้แถลงข่าวตอบโต้ร่วมกันในนามของเครือข่ายพันธมิตรหรือผู้ที่เสียหายร่วมกัน สาม-โดดเดี่ยวหรือสร้างศัตรูให้แก่สื่อที่เสนอข่าวเชิงลบ ซึ่งสุชาดากล่าวว่ากำลังประสบอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้ข่าวเท็จในโซเชียลมิเดียว่าดิจิตอลไฟล์ใครก็สามารถสร้างเอง ไปจนถึงการทำลายความน่าเชื่อถือด้วยประเด็นส่วนตัว สี่-การสร้างข่าวกลบ ห้า-การล็อบบี้กับสื่อเฉพาะราย โดยเฉพาะสื่อที่มีอิทธิพลให้งดเว้นการนำเสนอข่าว นอกจากนี้ สุชาดายังพบรูปแบบใหม่ที่พบเจอจากกรณีนี้คือ

         “การขุดหลุมดักควาย เช่น การติดต่อมายุให้เราเปิดชื่อให้หมด หรือด่าธุรกิจนั้นให้เราเออออด้วย หรือใช้ความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงคนใน TCIJ”

สุชาดายังเล่าอีกว่า มีสื่อมวลชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามหลายครั้งว่ารายชื่อในเอกสารเป็นตนหรือไม่ และคาดคั้นจะเอาคำตอบให้ได้ ซึ่งต้องยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่จะไม่เปิดเผยรายชื่อในเอกสารและแหล่งข่าว

อย่างไรก็ตาม สุชาดาตั้งคำถามกลับว่า ต้องการรู้เพียงแค่ว่าไม่มีตนในรายชื่อเพื่อจะกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ ใช่หรือไม่ ทั้งที่องค์กรสื่อควรใช้โอกาสนี้ตรวจสอบภายในองค์กรตนเอง และสร้างระบบที่จะดูแลนักข่าวให้มีรายได้และสวัสดิการที่ดี โดยไม่ต้องสนใจผลประโยชน์จากองค์กรธุรกิจ

          “สิ่งที่ดิฉันต้องตอบคำถามมากคือรายชื่อทั้งหมดเป็นใคร ทำไมจึงมีที่เปิดและที่ปิด ชื่อที่ปิดดิฉันได้ทำหน้าที่ปกป้องเพื่อนสื่อมวลชนด้วยกัน โดยในเนื้อข่าวตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสื่อระดับกลางขึ้นไป และย้ำด้วยว่าข้อมูลทั้งหมดผ่านการตรวจสอบแล้ว ปิดเพื่อปกป้องวิชาชีพสื่อ เพราะเขาอาจไม่ได้รับจริงหรืออาจมีความยอกย้อนในข้อมูลเหล่านี้ และมันยังมีข้อมูลที่เลวร้ายกว่านี้ที่ยังไม่ได้พูด

          “ส่วนรายชื่อที่เปิด ดิฉันถือหลักการที่ว่า ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น รายชื่อที่เปิดเพราะผ่านการพิจารณาและปรึกษากับนักวิชาการบางท่านแล้ว คิดว่ารายชื่อที่เปิดเหล่านี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย และเป็นคนที่น่านับถือเสียด้วยซ้ำที่ยืนยันจะแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาการและโดยเสรี ความผิดตกอยู่แก่บริษัทที่พยายามใช้วิธีต่างๆ ที่จะปิดปากและปรับทัศนคติ หรือทำให้เขาเกรงใจ”

สุชาดาย้ำอีกครั้งว่า ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับองค์กรธุรกิจหรือสื่อมวลชนด้วยกัน แต่ต้องการชี้ปัญหาเชิงระบบของสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ แต่เพิ่งจะมีหลักฐานและจังหวะที่จะนำเสนอ และยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหาความจริง อย่างไรก็ตาม สุชาดากล่าวถึงเหตุการณ์สองวันที่ผ่านมาภายหลังการนำเสนอข่าวว่า จะให้วางใจได้อย่างไรว่าไม่ใช่การขุดหลุมดัก เพราะผู้ที่ติดต่อมาบางคนไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยก็ยังติดต่อมาเพื่อขอข้อมูล

           “ดิฉันจึงมีสิทธิที่จะไม่ไว้ใจ ที่สำคัญตลอดเวลาหลายสิบปีที่จำได้ องค์กรสื่อยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลยว่าเป็นที่พึ่งของคนในวิชาชีพได้อย่างแท้จริงด้วยกติกาที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม และการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ก็ไม่ได้ถูกองค์กรวิชาชีพนับรวมเป็นพวก สรุปก็คือจะให้ความร่วมมือเต็มที่เท่าที่จะให้ได้ แต่ยังยืนยันตามจรรยาบรรณของสื่อที่จะปกปิดแหล่งข่าวและรายชื่อ และถึงตอนนี้ความจริงก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ถ้าจะค้นหาความจริงเพื่อจัดการความจริงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่จะไม่เพิกเฉย แต่ถ้าจะเลือกเพิกเฉยหรือแก้เก้อก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับข่าวนี้แล้ว” สุชาดากล่าว

สุชาดายังเปิดเผยด้วยว่า ภายหลังจากนำเสนอข่าวนี้ในช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่มคืนวันอาทิตย์ ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมามีโทรศัพท์ติดต่อมาบอกว่า เอกสารที่ปรากฏในข่าวเป็นข้อมูลภายในและขอร้องให้เอาออก ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อมาอีก

ระหว่างการเสวนา ผู้สื่อข่าวได้ซักถามหลายครั้งเกี่ยวกับแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูล รายชื่อที่ถูกปกปิด ซึ่งสุชาดายังคงยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ และหลังจากนี้จะปล่อยให้ข่าวชิ้นนี้ทำหน้าที่ของมันเอง โดยหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เช่น เกิดการเรียกร้องให้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารครอบคลุมข้อมูลของบริษัทเอกชน เป็นต้น พร้อมกับทิ้งท้ายว่า

             “ดิฉันคิดว่าสง่างามพอจะรับผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเอง และถ้าท่านคิดว่าสิ่งนี้ทำให้ท่านเสียหาย รวมทั้งการเสวนาวันนี้ยิ่งทำให้เสียหาย ต้องเอาให้เข็ด ให้หลาบจำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่สื่ออื่นๆ ดิฉันก็บอกว่า ก็ได้ ดิฉันได้คิดดีแล้ว”

อำนาจเหนือเกษตรกร

ในส่วนของหัวข้ออำนาจเหนือเกษตรกร ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ในสังคมไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญาหลายประการ เช่น เป็นระบบที่ไม่ดี หรือเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร เป็นต้น ซึ่ง ดร.วิโรจน์ เห็นว่าเป็นมายาคติสำคัญที่สังคมจะต้องทำความเข้าใจให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเสียก่อน เช่น เกษตรพันธสัญญาเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะสามารถตอบโจทย์ให้คู่สัญญาจำนวนหนึ่งได้ หรือในเกือบทุกกรณีเกษตรแบบพันธสัญญามีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกร โดยเฉพาะด้านการตลาดและราคา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบเกษตรพันธะสัญญาจะมีข้อดี แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเลย ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ความไม่เท่าเทียมและความสมดุลย์ด้านอำนาจต่อรองระหว่างคู่สัญญา ความไม่สมดุลย์ระหว่างการลงทุนระยะยาวของเกษตรกรกับสัญญาระยะสั้นที่ทำกับบริษัท และสุดท้ายคือความไม่สมดุลย์ในการเฉลี่ยความเสี่ยงของคู่สัญญาที่ความเสี่ยงส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะตกอยู่กับฝ่ายที่รับความเสี่ยงได้น้อยกว่าซึ่งก็คือเกษตรกร ขณะที่ฝ่ายบริษัทสามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากกว่า กลับเสี่ยงน้อยกว่า

ดร.วิโรจน์จึงเห็นว่า ควรผลักดันให้เกิดระบบที่สมดุลย์และเป็นธรรมมากขึ้น มีการเฉลี่ยความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงการสร้างระบบที่ดูแลเกษตรกรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาจจะสร้างสัญญามาตรฐานที่รัฐเป็นผู้รับรอง ขณะเดียวกันก็ควรมีองค์กรกลางที่คอยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทและช่วยเหลือเกษตรกรในชั้นศาล

ด้าน ผศ.ดร.ประภาส ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปัจจุบันระบบการเกษตรขนาดใหญ่และระบบพันธสัญญาสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้จำนวนมาก แต่ก็ต้องแลกด้วยความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายของอาหารการกินที่ลดลง ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือระบบพันธสัญญาที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหรือเลี้ยงสัตว์โดยใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้นๆ ซึ่งไม่ถูกคิดเป็นต้นทุนที่บริษัทควรมีส่วนในการรับผิดชอบแต่อย่างใด

(อ่านข่าว ‘หลุด! เอกสารฝ่าย PR ธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ’ ได้ที่ http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4559)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: