บทวิเคราะห์: สี่ระลอกของผู้อพยพทางการเมืองในรอบ (เกือบ) ศตวรรษ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 16 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2176 ครั้ง

 

หนึ่งในปรากฎการณ์สำคัญหลังปฏิบัติการดึงประเทศลงคลองครั้งล่าสุด คือการเกิดคนกลุ่มซึ่งเรียกรวมกันอย่างกว้างๆ ว่าเป็นผู้อพยพทางการเมืองในปริมาณที่มากอย่างไม่เคยมีมาในรอบเกือบสี่สิบปี แต่น่าสังเกตว่าผู้อพยพทางการเมืองรุ่นนี้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนผู้อพยพทางการเมืองรุ่นก่อนๆ และความแตกต่างด้านบุคลิกของผู้อพยพทางการเมืองแบบนี้ก็แสดงถึงสภาพการเมืองที่แวดล้อมการอพยพทางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

ก่อนจะอภิปรายประเด็นนี้ต่อไป จำเป็นต้องระบุก่อนว่า คำว่าผู้อพยพทางการเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง Political Refugee ในแง่มุมของกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด พูดอย่างรวบรัดคือเรากำลังพูดถึงผู้อพยพทางการเมืองในความหมายของบุคคลที่เดินทางไปสู่ประเทศอื่น เพราะสภาพทางการเมืองในสังคมไทยมาถึงจุดที่ทำให้ผู้อพยพ ‘รู้สึก’ ว่าไม่สามารถอยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกได้

อย่างไรก็ดี  ลำพังความ ‘รู้สึก’ ว่าไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อไปได้นั้น ไม่ใช่องค์ประกอบของคำว่า Political Refugee ในความหมายที่เข้มงวด ถ้าตัวผู้อพยพเองไม่ประสบกับเหตุการณ์แบบใดแบบหนึ่ง ตั้งแต่การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน, การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ, การถูกกักขังเพราะมีความเชื่อทางการเมืองบางอย่าง และการถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เคารพความเป็นมนุษย์ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด

ในแง่นี้ สิ่งที่เรียกว่า ‘well-founded fear’ หรือความกลัวที่มีเหตุจริงๆ จึงสำคัญสำหรับความเป็นผู้อพยพทางการเมือง หาไม่แล้วก็จะไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้อพยพทางการเมืองกับผู้อพยพเพราะความกลัวจากการประเมินสถานการณ์ไปเอง ผู้อพยพทางการเมืองในความหมายที่เคร่งครัดจึงได้แก่ผู้เคยประสบการประทุษร้ายจนมีเหตุให้เชื่อต่อไปว่าจะประสบเหตุเดียวกันอีก หรืออย่างต่ำที่สุดคือมีหลักฐานให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่าจะเผชิญเหตุนั้นจริงๆ

คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับผู้อพยพทางการเมืองคือคำว่าผู้ลี้ภัยทางการเมือง (Asylum-Seekers) เส้นแบ่งง่ายๆ ก็คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองคือคนกลุ่มที่อพยพ เพราะรู้สึกหรืออ้างว่าตัวเองประสบภัยบางอย่างโดยที่ยังไม่มีผู้อื่นประเมินว่าภัยนั้นมีจริงหรือเป็นเหตุให้ต้องอพยพจริงหรือไม่ การประเมินภัยจึงเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผู้อพยพเป็นผู้ที่ได้รับการคุ้มครองจากประเทศอื่นจริงๆ

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญการอพยพทางการเมืองในความหมายกว้างที่สำคัญที่สุด 4 ครั้ง และการอพยพแต่ละครั้งก็มีบุคลิกและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

การอพยพครั้งที่ 1 คือการอพยพของผู้นำการเมืองและเครือข่ายชนชั้นนำ ซึ่งเกี่ยวพันทางหนึ่งทางใดกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองหลังการทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ตัวบุคคลซึ่งอพยพในช่วงนี้มีหลากหลายตั้งแต่รัชกาลที่ 7, กรมดำรงราชานุภาพ, กรมพระนครสวรรค์ฯ, กรมพระกำแพงเพชรฯ, กรมพระสวัสดิ์ฯ, ปรีดี พนมยงค์ ฯลฯ ซึ่งมาจากทุกขั้วการเมืองที่เคยมีอำนาจในช่วงเวลาหลัง 2475 เป็นต้นมา

นอกจากการอพยพระลอกนี้จะเป็นการอพยพของผู้นำและชนชั้นนำทางการเมืองระดับบนสุดแล้ว การอพยพระลอกนี้ยังมีความเข้มข้นถึงขั้นที่หลายกรณีไม่มีโอกาสกลับไทยอีกเลย จนต้องเสียชีวิตที่ต่างแดนตั้งแต่อังกฤษ, ปีนัง, บันดุง, สิงคโปร์, ปารีส ฯลฯ ไปในที่สุด การอพยพแบบนี้จึงเป็นหลักฐานของความผันผวนและการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย

เมื่อออกจากประเทศไป ผู้อพยพระลอกนี้สูญเสียบทบาทในสังคมไทยไปด้วย รัชกาลที่ 7 และเจ้าทุกองค์ไม่เคยฟื้นฟูอิทธิพลทางการเมืองได้อย่างในอดีต ส่วนปรีดีนั้นก็ไม่สามารถกอบกู้บทบาทของตัวเองได้เหมือนกัน แม้จะอยู่ในสถานะที่ดีกว่ารัชกาลที่ 7 และพวกเจ้าในแง่ที่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้แทนราษฎรเป็นฐานอยู่ก็ตาม การอพยพของผู้อพยพกลุ่มชนชั้นนำระลอกนี้จึงเป็นการระเหิดหายไปจากสังคมอย่างสิ้นเชิง

การอพยพครั้งที่ 2 มีผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนที่ประกอบอาชีพนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่เผชิญการจับกุมและปราบปรามของเผด็จการทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงหลัง พ.ศ.2500 เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, อุดม ศรีสุวรรณ, นายผี ฯลฯ หรือไม่อย่างนั้นก็คือผู้นำการเมืองก่อนการรัฐประหารอย่างแปลก พิบูลสงคราม  จึงพูดอีกอย่างได้ว่า ผู้อพยพระลอกนี้มาจากขั้วการเมืองฝั่งเดียวเท่านั้น คือฝั่งซึ่งเครือข่ายเผด็จการ 2500 มองเป็นศัตรู

นอกจากแปลก ซึ่งอพยพไปโตเกียวและเสียชีวิตที่นั่น แต่อัฐิถูกนำกลับไทยและกองทัพจัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ  ผู้อพยพรุ่นนี้โดยส่วนใหญ่มีชะตาชีวิตตรงกันข้าม พวกเขาเลือกเส้นทางของการอพยพไปจีนหรือลาว เพื่อมีชีวิตที่เกี่ยว พันกับการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในแง่ใดแง่หนึ่ง การจับกุมและปราบปรามจึงผลักดันให้เกิดผู้อพยพทางการเมือง ซึ่งในที่สุดวิวัฒนาการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านรัฐอย่างเต็มรูปแบบไปเลย

แม้ผู้อพยพระลอกนี้จะเชื่อมต่อกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย แต่ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่าการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ในแง่การเปลี่ยนแปลงสังคมมากนัก เรื่องนี้มีสาเหตุที่เข้าใจได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายในที่นี้ แต่คงมีโอกาสพูดถึงต่อไป

สำหรับการอพยพระลอกที่ 3 ผู้อพยพส่วนใหญ่คือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเผชิญการสังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการปราบปรามของฝ่ายรัฐประหารหลังจากนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็คือประชาชนจากอาชีพอื่น ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนมีความคิดขยับมาทาง ‘ซ้าย’ มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้อพยพระลอกนี้จึงคล้ายผู้อพยพระลอกที่แล้ว ในแง่มีที่มาจากขั้วการเมืองเดียวกันแทบทั้งหมด นั่นคือขั้วซึ่งฝ่ายรัฐประหาร 2519 มองเป็นศัตรู

นอกจากผู้นำนักศึกษาและกรรมกรที่มีชื่อเสียง ซึ่งอพยพไปก่อนการสังหารหมู่ด้วยเส้นทางที่ยอกย้อน ส่วนใหญ่ของผู้อพยพทางการเมืองระลอกนี้เดินทางสู่การปฏิวัติ ซึ่งมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและแนวชายแดน บางกลุ่มทำสถานีวิทยุเพื่อการปฏิวัติที่กระจายเสียงจากจีน ส่วนบางกลุ่มเลือกไปศึกษาและใช้ชีวิตในดินแดนที่เปิดกว้างต่อผู้ลี้ภัยอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน สวีเดน และฝรั่งเศส  และมีบทบาทเป็นเครือข่ายคนไทยในต่างแดนที่คอยเผยแพร่ข่าวสารและระดมความสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

แน่นอนว่าการอพยพทั้งสองระลอกนั้นมีเฉดที่ต่างกันอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรกคือสถานะทางสังคมของผู้อพยพที่ขยับจากผู้มีวิทยฐานะในวงการนักคิดนักเขียนเป็นนิสิตนักศึกษา ครูมหาวิทยาลัย และประชาชนในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ส่วนข้อสองคือการมีปฏิบัติการต่อสังคมที่ขยับจากการดำเนินการใต้ดินเป็นกองทัพปลดแอก ซึ่งต่อสู้ทางการเมืองคู่ขนานกับต่อสู้ทางทหารอย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ดี ความคล้ายคลึงกันก็คือผู้อพยพทั้งสองระลอกมาจากขั้วทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน ถูกฝ่ายรัฐประหารไล่ล่าเหมือนกัน เช่นเดียวกับการพยายามมีบทบาทในสังคมหลังจากมีสถานะเป็นผู้อพยพทางการเมืองเหมือนๆ กัน

ในกรณีนี้ ผู้อพยพไม่ได้สูญสิ้นบทบาทต่อสังคมไทยแบบคนรุ่นปรีดีและรัชกาลที่ 7 แต่การอพยพเป็นประตูไปสู่ช่องทางใหม่ในปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสังคมในสถานะนักปฏิวัติในเขตชนบทอันไกลโพ้น การมีอยู่ขององค์กรที่จะทำให้ผู้อพยพต่อติดกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการอพยพระลอกนี้  เช่นเดียวกับการยื่นมือของฝ่ายผู้อพยพระลอกนี้ที่จะต่อให้ติดกับองค์กรเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคม

สำหรับการอพยพระลอกที่ 4 ผู้อพยพมีบุคลิกคล้ายเหตุการณ์ในอดีตในแง่เป็นคนกลุ่มซึ่งฝ่ายรัฐประหารเห็นเป็นศัตรู แต่ความแตกต่างคือองค์ประกอบของผู้อพยพครั้งนี้มีขอบเขตที่หลากหลาย กล่าวคือมีทั้งสื่อมวลชนเหมือนผู้อพยพระลอกที่ 2 มีครูมหาวิทยาลัยเหมือนผู้อพยพระลอกที่ 3 และก็มีนักการเมืองและประชาชนเสื้อแดงจำนวนที่ระบุไม่ได้   ส่วนเส้นทางในการอพยพก็เป็นเรื่องของการเดินทางไปหาที่พักพิงกับสถานศึกษาต่างประเทศ หรือไม่ก็มีที่พำนักอย่างไม่เปิดเผยในดินแดนหนึ่งดินแดนใด

น่าสังเกตว่าขณะที่ผู้อพยพทางการเมืองในการอพยพครั้งที่ 2 และ 3 พยายามต่อติดกับการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้อพยพทางการเมืองระลอกที่ 4 กลับใม่ได้อยู่ในยุคสมัยที่มีองค์กรแบบนี้อีกแล้ว คำถามที่น่าสนใจคือผู้อพยพรุ่นนี้จะต่อติดกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแบบผู้อพยพระลอกอื่นหรือไม่ และถ้าคำตอบคือใช่ คำถามถัดไปคือการต่อติดนี้จะดำเนินไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีการอะไร

อย่างไรก็ตาม ถ้าคำตอบนี้คือไม่ใช่ ผู้อพยพระลอกนี้ก็เสี่ยงที่จะเป็นคนรุ่นซึ่งหายไปเฉยๆ เหมือนที่เคยเกิดกับผู้อพยพระลอกแรกในสังคมไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: