ราคาน้ำมันโลกร่วงหนักเกือบร้อยละ 50 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ด้าน ปตท. ก็ออกมาชี้แจงว่า เหตุใดราคาน้ำมันในไทยจึงลงช้ากว่าตลาดโลก และล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน อาศัยจังหวะราคาน้ำมันลงหวังให้ราคาน้ำมันในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาด หลังจากที่ภาครัฐต้องแบกภาระมานาน
แต่ไม่ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นลงอย่างไร การอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ยังคงเดิม เช่นเดียวกับที่เป็นคำถามมาโดยตลอดว่า เหตุใดไทยจึงต้องอ้างอิงราคาของตลาดสิงคโปร์ เพื่อความเข้าใจอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังอยู่ในกระแสการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป TCIJ รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา ประกอบด้วยรายงานประจำปีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน 2554-2556, BP Statistical Review of World Energy 2012 และการสัมนารับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 กันยายน 2554 จัดโดยกรรมาธิการวุฒิสภาฯ โดยการเรียบเรียงข้อมูลให้สะดวกต่อการทำความเข้าใจในส่วนของข้อสงสัยที่ว่า ทำไมราคาน้ำมันของไทยต้องอิงกับตลาดสิงคโปร์ เพื่อเป็นแนวทางการติดตามประเด็นพลังงานน้ำมันของไทยต่อไป
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยร้อยละ 90 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วน ประกอบกับการค้าน้ำมันเป็นไปอย่างเสรี ดังนั้น การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นจึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราหรือค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยราคาน้ำมันของไทยจะอ้างอิงตลาดสิงคโปร์หรือ SIMEX
กลไกราคาน้ำมัน
การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันมาจากราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและราคาขายปลีก ปกติแล้ว การตั้งราคาซื้อขายสินค้าทั่วไป ส่วนใหญ่มีวิธีการกำหนดราคาอยู่ 2 ประเภทคือ การตั้งราคาสินค้าจากต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus) และการตั้งราคาสินค้าโดยอ้างอิงตลาดใหญ่ (Reference Price ) ที่มีปริมาณการซื้อขายสูง
เนื่องจากน้ำมันจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodities ซึ่งมีลักษณะของการแข่งขันสูง รวมถึงมีความต้องการสูง ถือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค มีการซื้อขายกันเป็นประจำเช่นเดียวกันกับทองคำ แร่ และสินค้าการเกษตร อย่างข้าว น้ำตาล ผลไม้ จึงต้องมีตลาดกลางรองรับการซื้อขายอย่างเสรี โดยราคาที่มาจากตลาดกลางนี้จะเป็นราคาอ้างอิง หรือบรรทัดฐานในการซื้อขายสินค้าชนิดเดียวกันในภูมิภาคเดียวกันโดยปริยาย
เมื่อน้ำมันเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดน้ำมันโดยรวม จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องมีการปรับราคาให้สามารถแข่งขันกันได้
ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อใช้อ้างอิงจึงควรถูกกำหนดมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิต ภายใต้กลไกระบบการค้าเสรีของกลุ่มตลาดซื้อขายน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ปัจจุบัน ศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1.ทวีปอเมริกา โดยตลาด NYMEX ( New York Mercantile Exchange ) ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา 2.ทวีปยุโรป โดยตลาด IPE (Inter Petroleum Exchange ) ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ 3.ทวีปเอเชีย โดยตลาดสิงคโปร์ หรือ SIMEX (Singapore International Monetary Exchange) ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย คำว่า ‘ราคาสิงคโปร์’ ไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาล หรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ หรือราคาขายปลีกในประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันมากกว่า 300 รายในภูมิภาคเอเชีย ที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางที่ประเทศสิงคโปร์เป็นปริมาณมหาศาล
การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียและตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งยากต่อการปั่นราคา อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมันอื่นๆ ทั่วโลก
“ความจริงเราไม่ได้อิงราคาสิงคโปร์ แต่เราอิงราคาตลาดโลกที่อยู่ในสิงคโปร์ เพราะที่สิงคโปร์มีการซื้อขายน้ำมันมาก แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีการซื้อขายน้ำมันในประเทศมาก เราก็สามารถกำหนดราคาเป็นไทยแลนด์ไพรซ์ได้ ซึ่งเราก็พยายามให้มีการซื้อขายกัน” คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ค่าการกลั่นน้ำมัน: เรื่องที่ควรรู้’
ทำไมราคาน้ำมันขึ้น-ลง
กรณีที่ราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นแพงกว่าในตลาดกลางที่สิงคโปร์ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกน้ำมันนำเข้าน้ำมันจากตลาดกลางสิงคโปร์ที่มีราคาถูกกว่า แทนการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ และจะมีผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่งเพิ่มขึ้น กระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงาน
"การที่ประเทศไทยเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์
ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรี
ของตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งยากต่อการปั่นราคา"
ตรงกันข้าม หากเกิดกรณีที่ราคาขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นถูกกว่าในตลาดกลางสิงคโปร์ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นสามารถนำน้ำมันส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่ราคาดีกว่าทันที เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบการค้าตลาดเสรีทำให้ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้ใช้น้ำมันตามความต้องการและยังทำให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพราะอุปทาน (Supply) น้อยกว่าอุปสงค์ (Demand) หรืออาจจะทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นเลิกกิจการได้ เพราะปริมาณการขายน้อย กำไรที่ได้จึงลดลง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างอีกด้วย เพราะขาดแคลนพลังงาน หากไปบังคับให้โรงกลั่นขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นถูกกว่าในตลาดกลางสิงคโปร์ ผู้ประกอบการโรงกลั่นก็จะขาดแรงจูงใจในการลงทุน
เนื่องจากการลงทุนสร้างโรงกลั่นหรือค่าซ่อมบำรุง ค่าดำเนินการโรงกลั่นในประเทศไทย มีต้นทุนที่สูงกว่าด้วยสาเหตุ ดังต่อไปนี้
1.ต้นทุนขนส่งการนำเข้าน้ำมันดิบสูงกว่า เพราะประเทศไทยอยู่ห่างจากแหล่งน้ำมันดิบตะวันออกกลางไกลกว่าประเทศสิงคโปร์ รวมถึงประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองท่า มีระบบการขนส่งและท่าเรือขนาดใหญ่ครบวงจร ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยของประเทศสิงคโปร์มีต้นทุนต่ำกว่าของประเทศไทย
2.ต้นทุนการกลั่นต่อหน่วยของประเทศไทยสูงกว่า เพราะกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีขนาดน้อยกว่า (Economies of Scale)
3.ต้นทุนการผลิตน้ำมันสูงกว่า เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยผลิตน้ำมันคุณภาพสูงกว่าหรือยูโร 4-5 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์
เมื่อต้นทุนโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่า แต่กลับขายได้ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์หรือราคาที่ควรจะเป็น อาจจะถึงขั้นขาดทุน ผู้ประกอบการจะย้ายเงินลงทุนไปลงทุนที่ต่างประเทศแทน ทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องปิดตัวลง เกิดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแทน ย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน สร้างรายได้ และกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศเป็นวงกว้างและขาดความมั่นคงทางด้านพลังงาน
ดังนั้น การอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมัน ทำให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเกิดผลดีกับผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยสามารถกลั่นได้น้ำมันที่มีคุณภาพสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ในมาตรฐาน Euro 4 (E 20 เป็น Euro 5 แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว) โรงกลั่นไทยจึงสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นสิงคโปร์ที่กลั่นน้ำมันมาตรฐาน Euro 2 ได้
ขณะที่โรงกลั่นในประเทศไทยจะมีค่าการกลั่นโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆ ลิตรละ 2 บาท การกลั่นนี้ไม่ใช่ผลกำไร แต่เป็นส่วนต่างระหว่างน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา ถ้าหักต้นทุนและภาษีเงินได้เข้ารัฐแล้ว กำไรที่ได้น่าจะไม่ถึงลิตรละบาทหรือไม่เกินหนึ่งบาท
ดังนั้น การตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาอ้างอิงตลาดกลางสิงคโปร์จะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนสูง ซึ่งค่าการกลั่นนั้นขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลาที่เรียกว่า Gross Refinery Margin
ราคาน้ำมันไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน?
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าราคาน้ำมันตลาดกลางสิงคโปร์เป็นราคาเดียวกันกับราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันในสิงคโปร์หรือไม่นั้น คำตอบก็คือไม่ใช่ราคาเดียวกัน โดยราคาขายปลีกหน้าปั๊มของสิงคโปร์เป็นราคาที่รัฐบาลมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตต่างๆ เหมือนกับประเทศไทย อีกทั้งบริษัทน้ำมันก็เก็บค่าการตลาดเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยรวมยังเก็บสูงกว่าของไทย ประมาณลิตรละ 3.50 บาท ทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่นไม่มีค่าขนส่งเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดซื้อขายกลางอยู่ภายในประเทศ
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีการอ้างอิงราคาตลาดกลางสิงคโปร์ด้วยหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศไทยครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องคือ ควรทำความเข้าใจถึงโครงสร้างราคาน้ำมันที่แท้จริงของประเทศมาเลเซียก่อน โดยที่มาเลเซียสามารถกำหนดราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มได้ด้วยการกำหนดโครงสร้างภาษีและการอุดหนุนราคา แต่ไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นได้
ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียก็อ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามตลาดกลางสิงคโปร์เช่นเดียวกัน เพราะหากไม่ใช้ราคาที่อ้างอิงราคากลางก็จะทำให้เกิดภาวะผลกระทบในลักษณะเช่นเดียวกับที่กล่าวถึงข้างต้น
ส่วนเหตุที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมาเลเซียถูกกว่าประเทศไทยมาก Petro RON 95 หรือเบนซิน 95 อยู่ที่ประมาณ 19 บาท ส่วนดีเซลอยู่ที่ประมาณ 18 บาท ก็เพราะประเทศมาเลเซียมีการควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ด้วยการงดเว้นการจัดเก็บภาษีและใช้เงินภาษีไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งงบประมาณดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติในรูป LNG (มาเลเซียเป็นประเทศส่งออกพลังงานสุทธิ)
อ่าน 'จับตา : ย้อนรอยราคาน้ำมัน'
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5194
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ