เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมาตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์ ได้เข้าพบ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือและยื่นหนังสือคัดค้านคำขอสิทธิบัตรเรื่องนิวคลีโอไซด์ฟอสฟอรามิเดต ของบริษัทกิลลีด ฟาร์มาสเซ็ท แอลแอลซี ซึ่งเป็นคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาโซฟอสบูเวีย (Sofosbuvir) ซึ่งใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะคำขอสิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีความใหม่และไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นขัดต่อพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า คำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวได้ยื่นในประเทศไทยช้ากว่า 12 เดือนนับจากวันที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรก และมีการแก้ไขเอกสารคำขอให้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย
“คำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ความใหม่ เนื่องจากสารประกอบในรูป free base และ nucleoside ของ Sofosbuvir ได้ถูกเปิดเผยมาก่อนแล้ว รวมทั้งวิธีการประดิษฐ์ก็ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นเพราะมีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงในเพิ่มประสิทธิภาพของยา เป็นแนวทางการพัฒนายาต้านไวรัสที่ทราบกันดีอยู่แล้วและมีการนำมาใช้มาก่อนหน้านี้ จึงเป็นสิ่งที่ประจักษ์โดยง่ายโดยบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนี้ ถึงแม้ว่าจะหมดช่วงเวลาการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรไปแล้ว แต่ยาตัวนี้มีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วยที่มีในไทยประมาณ 1 ล้านคนอย่างมาก เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่า มีโอกาสหายขาดได้ จึงต้องมาให้ข้อมูลเพื่อคัดค้านกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา”
ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทกิลลิแอดที่มาขอจดสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวีย (Sofosbuvir) ซึ่งใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี ตั้งราคาขายแพงมากถึงเม็ดละ 30,000 บาทหากใช้ครบการรักษาต้องใช้เงินมาถึง 2.5 ล้านบาท และไม่เคยยอมลดราคายาลง ขณะที่อียิปต์ที่ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรตัวเดียวกันนี้ กิลลิแอดให้ราคาขายที่ ไม่ถึง 30,000 บาทต่อคอร์สการรักษา ส่วนที่อินเดีย สิทธิบัตรยาตัวนี้กำลังถูกคัดค้านเช่นกันทำให้บริษัทกิลลิแอดยอมให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญในอินเดียผลิตได้ แต่ห้ามขายยา หรือวัตถุดิบทางยาให้กับประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทย จีน บราซิล
“เรามาหารือกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรมีความเข้าใจที่ดีขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าคำขอรับสิทธิบัตรฉบับนี้และฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวกับยา Sofosbuvir ได้รับการอนุมัติ ทั้งที่เป็นคำขอที่ไม่สมควรจะได้รับสิทธิบัตร จะส่งผลให้ประชาชนเข้าไม่ถึงยา ทั้งที่โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมของเรามีศักยภาพการผลิตในราคาที่ถูกลงอย่างมากก็จะไม่สามารถผลิตได้”
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ