สถานการณ์งานวิจัยสมุนไพร

16 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3415 ครั้ง


จากการรวบรวมผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและวิทยานิพนธ์ในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2543-2550 โดยวารสารในประเทศทำการสืบค้นจากวารสารทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีผลงานศึกษาวิจัยด้านสมุนไพรจำนวน 969 เรื่อง มากกว่างานวิจัยการแพทย์แผนไทย งานวิจัยการแพทย์พื้นบ้าน และงานวิจัยการแพทย์ทางเลือก

เมื่อจำแนกสมุนไพรที่ทำการศึกษาพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นสมุนไพรเดี่ยว 801 เรื่อง หรือร้อยละ 82.66 สมุนไพรตำรับ 168 เรื่อง หรือร้อยละ 17.34 โดยสมุนไพรที่มีการนำมาศึกษามากที่สุด 10 อันดับ (โดยนับความซ้ำจากการศึกษาเดี่ยวและแบบยาตำรับ) ได้แก่ 1.ขมิ้นชัน  2.ฟ้าทะลายโจร 3.กวาวเครือขาว 4.กระเทียม 5.บัวบก 6.มะกรุด 7.ช้าพลู 8.บอระเพ็ด 9.ขี้เหล็ก 10.หญ้าหนวดแมว

พื้นที่ทำการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางมากที่สุด ร้อยละ 49.33 รองลงมาคือภาคเหนือ ร้อยละ 19.60  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.20 ส่วนงานวิจัยที่จัดทำภาพรวมของประเทศมีเพียง ร้อยละ 3.62

ในจำนวนงานวิจัยทั้งหมด สามารถจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้เป็น 4 กลุ่มตามการนำไปใช้ประโยชน์ เรียงลำดับจำนวนงานวิจัยมากที่สุด คือ
1.งานวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ ร้อยละ 68.11
2.งานวิจัยเพื่อจัดการองค์ความรู้ ร้อยละ 19.20
3.งานวิจัยเพื่อการรวบรวมสำรวจ ร้อยละ 7.01
4.งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ร้อยละ 5.68

ในแต่ละวัตถุประสงค์การวิจัยทั้ง 4 กลุ่มนี้สามารถจำแนกออกเป็น 6 กลุ่มวิจัย ได้แก่ 1.ยาคน 2.ยาสัตว์ 3.ผลิตภัณฑ์ทั่วไป 4.อาหาร 5.เครื่องสำอาง 6.เกษตรกรรม ซึ่งกลุ่มวิจัยในแต่ละวัตถุประสงค์มีความแตกต่างกัน

โดยงานวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ เป็นกลุ่มงานวิจัยที่มากที่สุด 571 เรื่อง หรือร้อยละ 66 ของผลงานศึกษาวิจัยทั้งหมด ในส่วนนี้มีงานวิจัยด้านเกษตรกรรมมากที่สุด 195 เรื่อง หรือร้อยละ 37.71 เช่น ผลของน้ำส้มควันไม้ต่อการงอกของเมล็ดแบะการเจริญเติบโตของผักพื้นบ้าน, ความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบสาบเสือ ใบกระดุมทองเลื้อย และใบผักคราด เพื่อใช้เป็นสารฆ่าหอยเชอรี่ เป็นต้น และมีงานวิจัยยาคน ร้อยละ 26.11 ยาสัตว์ ร้อยละ 22.05 ผลิตภัณฑ์ทั่วไป ร้อยละ 6.18 อาหาร ร้อยละ 5.02 เครื่องสำอาง ร้อยละ 2.90

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก เปิดเออีซี-อนาคต‘สมุนไพรไทย’น่าห่วง 'วัตถุดิบ'สู้อาเซียนไม่ได้-เจอกม.บีบซ้ำ

******************************

ที่มา

หนึ่งทศวรรษงานวิจัยภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทย การศึกษาสถานการณ์งานวิจัยการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ระหว่าง พ.ศ.2543-2552 โดยสถาบันสุขภาพวิถีไทย ภายใต้สถาบันวิจัยสาธารณสุข

ขอบคุณรูปภาพจาก www.bangkokbiznews.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: