สพฐ.ชงห้องเรียนอัจฉริยะ 1.9หมื่นห้อง-ยังใช้แท็บเล็ต

17 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1652 ครั้ง

จากกรณีที่ประชุมฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ยุติโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งในปีงบประมาณ 2557 และโซน 4 ระดับ ม.1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และปีงบประมาณ 2556 ที่ค้างอยู่ โดยให้นำงบประมาณทั้งสองส่วน รวม 6,970 ล้านบาท ไปดำเนินการในโครงการอื่น ที่เกิดประโยชน์กับการศึกษาและเข้าถึงนักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึงนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการดำเนินการอย่างอื่น แทนการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนว่า สพฐ.จะทำเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอขอเปลี่ยนแปลงโครงการโดยจะใช้ชื่ออื่น เช่น โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หรือโครงการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา พร้อมทั้งขอกันงบประมาณเหลื่อมปี เพื่อใช้งบประมาณปี 2556 จัดทำโครงการใหม่ต่อได้

            “นอกจากสพฐ.แล้ว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  (ตชด.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา เมืองพัทยา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสถาบันการพลศึกษา ซึ่งได้รับงบประมาณจัดซื้อแท็บเล็ต มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรดำเนินโครงการในลักษณะสมาร์ทคลาสรูม (ห้องเรียนอัฉริยะ) เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้แท็บเล็ตร่วมกัน" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายกมลกล่าวต่อว่า เบื้องต้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา มอบให้สพฐ.เป็นเจ้าภาพหลัก จัดประชุมเพื่อกำหนดรายละเอียด ก่อนเสนอข้อมูลกลับมาให้คสช.พิจารณาอีกครั้ง โดยในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ สพฐ.จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีที พร้อมทั้ง 9 หน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาหารือ และให้คำแนะนำว่า ห้องเรียนอัฉริยะควรมีลักษณะแบบใด ซึ่งเวลานี้ สพฐ.ได้ประเมินค่าใช้จ่ายห้องเรียนอัฉริยะแบบมาตรฐานทั่วไปมีราคาเริ่มต้น อยู่ที่ห้องละ 250,000 บาท

            “เมื่อคำนวณงบประมาณปี 2557 สพฐ.คาดว่าจะสามารถจัดสร้างสมาร์ทคลาสรูมได้ 15,000 ห้อง เมื่อรวมกับงบประมาณแท็บเล็ตโซน 4 ปีงบประมาณ 2556 ซึ่งสามารถทำสมาร์ทคลาสรูมได้ 4,000 ห้อง รวมแล้ว 19,000 ห้อง อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้กำหนดเกณฑ์ในการจัดทำสมาร์ทคลาสรูมของแต่ละโรงเรียน ไว้เบื้องต้นแล้วโดยให้ทำ 1 ห้องเรียนต่อ 1 โรงเรียนก่อน แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1.โรงเรียนในโครงการพัฒนามาตรฐานสู่สากล และโรงเรียนดีประจำจังหวัด จะทำเป็นห้องขนาดใหญ่มีแท็บเล็ต 50 เครื่อง 2.โรงเรียนดีประจำอำเภอ มีแท็บเล็ต 40 เครื่อง 3.โรงเรียนดีประจำตำบล มีแท็บเล็ต 30 เครื่อง และ4.โรงเรียนขนาดเล็ก มีแท็บเล็ต 20 เครื่อง ดังนั้นภายใน 1 ปีจะจัดทำสมาร์ทคลาสรูมได้ 15,000-20,000 ห้อง และสามารถทำสมาร์ทคลาสรูมได้ประมาณ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กทุกระดับชั่นได้ใช้เรียนภายใน 2 ปี

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำห้องเรียนอัฉริยะ จะต้องเพิ่มค่าเครื่องแท็บเล็ตให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีกประมาณ 2,000 บาท เป็น 8,500 บาท เพื่อให้แท็บเล็ตมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม บรรจุข้อมูลได้มากกว่า และใช้งานได้ประมาณ 5-6 ปี รวมทั้งจะบรรจุเนื้อหาทุกชั้นเรียนไว้ในเครื่อง ซึ่งคาดว่านักเรียนบางส่วนจะเริ่มเรียนในห้องเรียนอัฉริยะในภาคเรียนที่ 2 นี้ นอกจากนี้พล.ร.อ.ณรงค์ ยังฝากให้เน้นดูแลกลุ่มเป้าหมายภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็น โซน 4 ที่ไม่ได้รับแท็บเล็ต โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเด็กกลุ่มนี้ว่าจะได้ของใหม่ที่ดีกว่าเดิม

            “ทั้งหมดนี้คือแนวทางเบื้องต้นในการจัดทำสมาร์ทคลาสรูม เฉพาะในโรงเรียนของ สพฐ.ส่วนโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของต้นสังกัด ว่าจะดำเนินการรูปแบบใด และจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร เช่น โรงเรียนสาธิต สังกัด สกอ. อาจทำเป็นศูนย์ไอซีทีประจำโรงเรียน เป็นต้น ส่วนแท็บเล็ตที่แจกนักเรียนไปแล้ว คงต้องจัดการเรียนการสอนตามเดิมไปก่อน โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะต้องหารืออีกครั้งว่าจะนำแท็บเล็ตที่แจกแล้วมาใช้ อย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด” นายกมลกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: