เปรียบเทียบร่างพรบ.ทรัพยากรน้ำ3ฉบับ เร่งปรับปรุงหวังให้คลอดในรัฐบาลคสช.

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 17 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4780 ครั้ง

แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ต้องอยู่กับสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วงตลอดมา แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีกฎหมายด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบขึ้นมาใช้เลย แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการเสนอให้มีการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศขึ้นมาใช้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันกฎหมายสำคัญนี้ก็ยังไม่มีโอกาสคลอดออกมาใช้ได้จริง ๆ เสียที

ล่าสุดวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วทส.) ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาวิชาการเพื่อพูดคุย ระดมความคิดต่อแนวทางการผลักดันพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ...ขึ้นมา ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ท่ามกลางความสนใจจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ที่เข้าร่วมหารือคึกคัก โดยมีความคาดหวังอยู่ที่การผลักดันให้กฎหมายน้ำสามารถคลอดออกมาใช้ได้ภายในรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เร่งทำร่างกฎหมายน้ำเสนอคสช.

นายบัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้เกิดร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ....หรือกฎหมายน้ำ มาเป็นเวลานานจากหลายคณะ แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันกฎหมายนี้ออกมาได้ ล่าสุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 85/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 ชุด เพื่อเข้ามาทำงาน ทั้งปัจจุบันมีร่างกฎหมายน้ำออกมา3 ฉบับด้วยกัน  คือ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และฉบับของอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมการที่คสช.ตั้งขึ้น จะหารือเพื่อปรับปรุงกฎหมาย ให้เชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ๆ ที่ครอบคลุมในทุกด้านเกี่ยวกับน้ำ ก่อนที่จะดำเนินการไปตามขั้นตอนต่อไป

         “สำหรับเนื้อหาในกฎหมายน้ำ ทุกฝ่ายเห็นเช่นเดียวกันว่า จะต้องมีเรื่องของสิทธิในน้ำ องค์กรบริหารจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า จะต้องมีนโยบายการบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้มีการกำหนดหน้าที่ในการดูแหล่งน้ำทั้งหมด รวมถึงเรื่องของการกำหนดแหล่งทุน บทลงโทษต่างๆ ขณะเดียวกันกฎหมายจะต้องเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยกันดูในเรื่องนี้เพื่อให้กฎหมายชัดเจนและครอบคลุมที่สุดเพื่อให้เราได้มีกฎหมายน้ำขึ้นใช้หลังจากที่พยายามมานาน” นายบัญชากล่าว

กรมน้ำ-คปก.ทำเสร็จแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เนื้อหาไม่ต่างกัน

ด้านนางปัทมา ปานประชา ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติการ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเรื่องการทำกฎหมายน้ำ มีการดำเนินการมานานแล้วเพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายน้ำขึ้นใช้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็มีกฎหมายนี้ใช้แล้ว โดยในปี 2539 มีการดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่พยายามร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตามแม้อยากจะมีกฎหมายน้ำ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่ก็มีความพยายามในการปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2550 มีการดำเนินการร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....เรียบร้อยตามขั้นตอนเตรียมเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในครั้งนั้นมีสมาชิกท่านหนึ่งเสนอให้มีการนับองค์ประชุมในสภาฯ ปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้กฎหมายน้ำที่กำลังจะเข้าพิจารณาอยู่แล้วตกไป และไม่ได้มีการนำมาพิจารณาอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

         “อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย เมื่อปี 2554 มีความพยายามในการร่างกฎหมายแม่บท ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ขึ้นมาในปี 2555-2556 รัฐบาลพยายามให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอกฎหมาย มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ฉบับปัจจุบันนี้เข้าไป เพื่อทบทวนและรับฟังความคิดเห็น จนได้ร่างปัจจุบัน ซึ่งมีการดำเนินการตามขั้นตอน กระทั่งมีการเสนอไปที่คณะรัฐมนตรีชุดที่ผ่านมาเพื่อพิจารณา อยู่ระหว่างการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเห็น แต่ก็มาถึงช่วงที่คณะรัฐมนตรีจบลงเสียก่อน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำก็ต้องจบลงไปด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำปัจจุบัน มีการปรับปรุงแก้ไขทบทวน  รับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนเรียบร้อย ซึ่งขณะนี้รอการเสนอเข้าพิจารณาใน ครม.ชุดใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้นต่อไป

ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบมีบูรณาการ กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ล้วนร่างกฎหมายน้ำขึ้นมาใช้หมดแล้ว แต่ประเทศไทยยงไม่มี สำหรับร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นการปรับปรุงและพัฒนาจาก ร่าง พ.ร.บ.น้ำต่าง ๆ 6 ร่างมารวมกัน แต่เนื้อหาไม่แตกต่างกันมากนัก สิ่งสำคัญในร่างกฎหมายน้ำฉบับคปก. คือต้องการที่จะให้เกิดโครงสร้างกฎหมายที่มาจากประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย ซึ่งร่างพ.ร.บ.น้ำของคปก. จะเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่จะถูกนำไปยื่นต่อสภาปฏิรูปฯ รวมกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ เพื่อให้มีการพิจารณาหลังจากนี้ด้วย

เปรียบเทียบเนื้อหลักร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 3 ฉบับของ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ทั้ง 3 ร่าง จาก กรมทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: