2แสนคนค้านเขื่อนน้ำโขง ไทย-เขมรจวกรัฐบาลลาว

17 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1612 ครั้ง

เมื่อวันที่ 17 กันยายน สำนักข่าวคนชายข่าว คนชายขอบ http://transbordernews.in.th/    รายงานว่า ที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีเสวนาเรื่อง” หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง เสียงจากคนหาปลา จัดโดยความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยและกัมพูชา อาทิ เครือข่ายชุมชนคนหาปลาแม่น้ำมูน สภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายชาวประมงกัมพูชา

นางสมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนจากชุมชนลุ่มน้ำมูน จ.อุบลราชธานี ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน กล่าว กรณีที่ลาวยังเดินหน้าสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮงนั้น ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ชาวประมงและเกษตรกร รวมทั้งนักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมาพยายามออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกภาคส่วนให้ระงับโครงการหลายครั้ง ทั้งนี้สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ กรณีเขื่อนดอนสะโฮง หากมีการสร้างจริง ๆ ต้องระเบิดฮูสะโฮง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสะเทือนถึงพี่น้องลุ่มน้ำโขงฝั่งอุบลราชธานีและพี่น้องลุ่มน้ำมูนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูนด้วย ทั้งนี้ปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านปากมูนร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดประตูเขื่อนจะสูญเปล่า เพราะฮูสะโฮงที่สีพันดอน แขวงจำปาสัก ของ ลาวเป็นพื้นที่อาศัยอยู่ของปลาหลายชนิด

         “ตอนนี้รัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวอีกแล้ว เราก็มาทุกข์หนักเพราะไม่มีอะไรจะกิน รอวันตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาแก้ปัญหาที่ปากมูน แต่ยังไม่มีความหวังเลย มาเจอเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงอีกครั้ง ก็ยิ่งจะทุกข์หนักเข้าไปอีก เพราะเราไม่เหลือพื้นที่ให้ต่อสู้แล้วจริง ๆ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ประเทศไทยและนักลงทุนเห็นชัด ๆ คือ กรณีแม่น้ำมูนซึ่งเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงเสมอ เมื่อก่อนเราหาปลาในวังปลาบ้านใครบ้านมัน เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงทั้งนั้น แต่มาปีนี้หาไม่ได้ ร้องเรียนให้เปิดประตูเขื่อนก็ไม่เปิด เขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างความทุกข์แก่ชาวบ้านไม่ต่างจากเขื่อนปากมูน” นางสมปองกล่าว

ด้านนาย โส แจด ตัวแทนนักพัฒฯเอกชนด้านประมงจากกัมพูชา กล่าวว่า ทุกวันนี้เราแห็นโครงการการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงบ่อยครั้ง อยากให้มีการนำเสนอข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนที่ตรงไปตรงมาในประเทศไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เช่น เรื่องความเชื่อมโยงน้ำโขงกับทะเลสาบนั้น มีการหากินที่ทะลสาบก็จริง แต่ระดับน้ำขึ้น -ลง มีการไหลจากแม่น้ำโขงสู่พื้นที่ทะเลสาบมากกว่า 1 แสน 6 หมื่นเฮกตาร์ โดยทะเลสาบรับน้ำจากแม่น้ำโขงประมาณ 60 เปอเซ็นที่เหลือนั้นมีการรับน้ำจากสาขาอื่น

นายโส แจด กล่าวว่า พื้นที่ทะเลสาบเขมรนั้น คนกัมพูชาทำอาชีพ จับปลาช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้ปลาประมาณ 3 แสน 6 หมื่นตัน สำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออกนอกประเทศ ทะเลสาบหล่อเลี้ยงชีวิตคนกว่า 4 ล้านคน ที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดย 25 เปอร์เซ็นใน 4 ล้านคน ไม่มีการครอบครองที่ดินเพราะรัฐบาลไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ พื้นที่ทุกตารางนิ้วจึงเป็นของสาธารณะ หากมีการสร้างเขื่อน ชาวประมงหาปลาไม่ได้ รัฐบาลต้องแบกภาระคนไร้ที่อยู่ และไร้อาชีพมากมายมหาศาล เกิดการอพยพอีกจำนวนไม่น้อย ชาวกัมพูชาจึงได้ล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านเขื่อนน้ำโขงโดยตรง โดยได้รายชื่อประมาณ 2 แสนคน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลลาวและออกแถลงการณ์ร่วมกับองค์กรภาคีอื่น ๆ

ขณะที่นาย ซมอาด ชาวประมงพื้นบ้านชาวกัมพูชา กล่าวว่า การสร้างเขื่อนในลาวเป็นการกระทำที่ไร้ธรรมาภิบาลทั้งคนคิด คนสร้าง และคนให้ทุนสนับสนุน การให้เงินแต่นักลงทุนไปสร้างเขื่อน คือ อาวุธทำลายล้างประชากรลุ่มน้ำโขง เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนยาลีในเวียดนาม ที่สร้างเสร็จแล้วนั้น มีผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นไม่มีใครอยากได้บทเรียนสาหัสนั้นอีก จึงขอเรียกร้องให้ประเทศไทยมีธรรมมาภิบาลต่อประชาชนด้วย โดยเฉพาะการร่วมสนับสนุนโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำนี้เราใช้ร่วมกันไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครอยากได้ไฟฟ้าที่มาแลกกับอาหาร เราทานอาหาร เราดื่มน้ำและหลายชีวิตอาศัยน้ำในแม่น้ำโขงรวมทั้งลำน้ำสาขาเพื่อดำรงอยู่

           “บางคนในกัมพูชาจนมาก เขาต้องทำแพอยู่ในทะเลสาบ เขาไปไหนไกลไม่ได้ บางคนไม่มีบัตรประชาชน แต่อยู่รอดเพราะปลาในทะเลสาบเขมร อยู่รอดเพราะน้ำ เขาไม่อาจกลายตัวเองมาเป็นคนเมืองได้ ไม่มีที่อยู่ ไม่มีสิทธิ์ครองที่ดินยังทนไหว แต่จะไม่ให้มีแหล่งอาหารเราทนไม่ได้ ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีบทบาทบ้าง แต่เราเชื่อว่าเขาไม่ได้เห็นใจเราและรับรู้ความรู้สึกของคนจน ได้เหมือนเรา การอพยพและหนีทุกข์ร้อนของคนกัมพูชามีมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้คือลมหายใจจริง ๆ ทางการลาวควรรับรู้บ้าง” นายซมอาดกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: