คสช.เดินหน้าสวมประชานิยม‘ยิ่งลักษณ์’ ‘เมกะโปรเจกต์’ได้ทียืมมือสกัดเสียงต้าน

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 17 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 7531 ครั้ง

สานต่อโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมจากแผนเดิม

ก่อนหน้านี้ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการประกาศนโยบายเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่จะมีการสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมเพิ่มขึ้นทั้ง การปรับปรุงท่าอากาศยานต่างๆ การสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ถนนระหว่างเมือง ท่าเรือน้ำลึก ถึงขนาดเดินสายให้ข้อมูลกับประชาชนทุกภูมิภาค รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร ก็มีทีท่าว่าโครงการทั้งหลายจะยุติลง แต่ต่อมาเมื่อคสช.จัดตั้งรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลับประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทันที ในการแถลงนโยบาย ยุทธศาสตร์นี้มีแผน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน แผนงานพัฒนา 5 แผนงาน โครงการเร่งด่วนปี 2557-2558 ประกอบด้วย

1.พัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ได้แก่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรถไฟทางคู่ 2.พัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ รถไฟฟ้า 10 สาย จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน และก่อสร้างโครงข่ายถนนและสะพานในกรุงเทพฯและปริมณฑล 3.เพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เชื่อมเมืองหลักกับฐานการผลิตของประเทศ เชื่อมประตูขนส่งระหว่างประเทศ 4.พัฒนาโครงข่ายขนส่งทางน้ำ ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือและตลิ่ง 5.เพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ พัฒนาท่าอากาศยานต่าง ๆ การจัดการจราจรทางอากาศ เพิ่มฝูงบิน ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและพัฒนาบุคลากร ให้ไปทำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน หากมีความชัดเจนให้ประสานงานกับทางสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการในขั้นตอนผ่านการอนุมัติของแต่ละแผนงานต่อไป

จับมือญี่ปุ่นลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเดินหน้าโครงการลงทุนในพื้นที่ทวายในประเทศพม่า กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องต่อการหนุนให้ภาคเอกชนไทย ไปลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ แต่ล่าสุดในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเปิดเผยว่า จะให้การสนับสนุนเดินหน้าโครงการนี้ หลังผู้นำของประเทศพม่าเดินทางมาเยือนประเทศไทย และนายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปเยือนพม่า พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า “โครงการทวายไม่ใช่การผลักดัน แต่เป็นการร่วมมือในกรอบอาเซียน และเป็นความร่วมมือกันทั้งสามประเทศคือ ไทย ญี่ปุ่น และเมียนมาร์”

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็เจรจากับญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าญี่ปุ่นเองก็มีท่าทีสนใจการลงทุน มีการเดินทางไปขอข้อมูลต่างๆ จากประเทศพม่า

ขณะที่ในประเทศไทย รัฐบาลได้มอบหมายให้สศช. ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ที่ตั้งขึ้นร่วมกันระหว่างไทยกับพม่า ลดขั้นตอนต่างๆ ลงเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ภายในไตรมาส 4 น่าจะมีความชัดเจน ทั้งรูปแบบโครงการที่จะลงทุนในโครงการทวาย และพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในกับรัฐบาลไทย ซึ่งเบื้องต้นทุกด้านกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาและหาข้อสรุป พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมผลักดันเต็มที่ เพราะเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลในวันข้างหน้า

ถนนจากโครงการทวายที่กำลังก่อสร้างมาเชื่อมต่อกับประเทศไทยที่จ.กาญจนบุรี

ล่าสุดมีการลงทุนเฟสเริ่มต้น ซึ่งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ถนนเชื่อมนิคมทวายมายังประเทศไทยที่ด่านพุน้ำร้อน และการสร้างท่าเรือขนาดเล็กที่อยู่นอกนิคมฯ บนเนื้อที่ประมาณ 30,000 ไร่ คิดเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ 1.2 แสนไร่ มูลค่าลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ผู้ลงทุนเฟสเริ่มต้นจะได้สิทธิประโยชน์บางส่วนในพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย เช่น อาจให้บริหารบางส่วนในนิคมทวาย หรือทำโรงไฟฟ้าขนาดย่อย เพื่อขายให้นิคม หรือทำน้ำประปา เป็นต้น

นโยบายนี้คงต้องติดตามต่อว่า จะมีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนขึ้นมาได้มากน้อยเพียงไหน เพราะในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจากฟากเอ็นจีโออยู่ไม่น้อย เนื่องจากเห็นว่าการเปิดโอกาสให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในพื้นที่บริสุทธิ์ทางธรรมชาติของพม่า ถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้เลย

ประชาชนจ.สงขลา คัดค้านโครงการพัฒนาภาคใต้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปลดล็อคงบ‘ค้างท่อ’ส่งเสริมการลงทุน

ขณะเดียวกัน คสช.ยังแก้ไขขั้นตอนของทางราชการที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) รวมทั้งประทานบัตรเหมืองแร่ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ด้วย

ในส่วนของการลงทุนภาคอุตสาหกรรม หลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อเดือนสิงหาคม โดยพล.อ.ประยุทธ์ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมมีการอนุมัติการลงทุนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะโครงการการลงทุนที่ติดขัดมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ครอบคลุมในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 - 2564) ตามที่บีโอไอเสนอยุทธศาสตร์ใหม่จะปรับเปลี่ยนจากส่งเสริมครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) ที่ให้สิทธิพิเศษในการลงทุนกว่า 240 ประเภท มาเป็นการส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Focus& Prioritized) มากขึ้น และทบทวนบัญชีประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สิ่งที่น่าสนใจคือการอนุมัติเงินลงทุนรวม 40,538 ล้านบาท ถ้ารวมกับโครงการที่บอร์ดบีโอไออนุมัติไปก่อนหน้านั้นแล้วรวม 121 โครงการ มูลค่า 318,839.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น กิจการธุรกิจห้องเย็นของบริษัท, อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องเซรามิค, อุตสาหกรรมผลิตขวดแก้ว, กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้คสช.ยังมีมติเห็นชอบการลงทุนของหน่วยงานด้านการผลิตและจ่ายไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศรวม 5 โครงการวงเงินรวม 171,850 ล้านบาท ประกอบไปด้วยโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 โครงการวงเงินรวม 160,011 ล้านบาท

ประกอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม เครื่องที่ 4-7 วงเงิน 36,811 ล้านบาท ขยายระบบส่งไฟฟ้า ก่อสร้างสถานีส่งไฟฟ้าแรงสูงเพิ่มเติมในระยะที่ 12 วงเงินลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ วงเงินรวม 63,200 นอกจากนี้ที่ประชุมฯเห็นชอบแผนการลงทุนประจำปี 2557 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

และให้ฝ่ายความมั่นคงประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ในการศึกษาการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งได้เห็นชอบให้อนุมัติจัดสรรวงเงิน 375 ล้านบาท จากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการโครงการนำร่องแปลงขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง โดยติดตั้งเตาเผาขยะในพื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่ 372 ไร่

 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ที่กฟผ.พยายามผลักดันให้ก่อสร้างในรัฐบาลคสช. ท่ามกลางการคัดค้านจากคนในพื้นที่

ไฟเขียวกู้เงินทำแผนบริหารจัดการน้ำ

ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากคสช.ยึดอำนาจ ได้สั่งชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน แต่ในที่สุดก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่คสช.สั่งเดินหน้าต่อ โดยตั้งอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อจัดทำแผนในภาพรวม ครอบคลุมทั้งการจัดเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ การระบายน้ำ การสร้างฐานข้อมูลและข้อกฎหมาย โดยจะจัดทำแผนน้ำที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ยังอนุมัติงบประมาณกว่า 800 ล้านบาท ให้กรมทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำและบรรเทาภัยแล้งในอนาคตด้วย

โดยกรมชลประทานกำหนดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตรรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เพื่อรับฟังปัญหาของพื้นที่ ยุทธศาสตร์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากภาคประชาชน และนำมาปรับเข้าแผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ตามนโยบายคสช. เชิญตัวแทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเข้าร่วม

บรรยากาศการจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เกิดความขัดแย้งในแทบทุกพื้นที่

ทั้งนี้ คสช.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินในโครงการนี้ถึง 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เซ็นสัญญาเงินกู้ไว้กับสถาบันการเงินเรียบร้อย แต่จะเบิกได้ตามความจำเป็นของรัฐบาล ทั้งนี้การเดินหน้ากู้เงินในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ในฐานะประธานกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รายงานให้คสช.รับทราบว่า เงินกู้สำหรับการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทยวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ใช้ไปในโครงการเร่งด่วน 30,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน เพิ่มเติมจากเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.25 ล้านล้านบาท ที่คสช.อนุมัติเห็นชอบไปแล้ว

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีการริเริ่มเมื่อครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ถึงความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกู้เงินจำนวนมาก โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ การทำฟลัดเวย์ และอีกหลายโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่นการสร้างพนังกั้นริมแม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งการทำประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นไปตามระเบียบเท่านั้น แต่กลับมีนักการเมืองและข้าราชการบางหน่วยงาน ที่กำหนดรูปแบบและผู้ที่เข้าร่วม ทำให้แทบทุกครั้งที่มีการทำประชาพิจารณ์มักถูกชาวบ้านมาชุมนุมประท้วงให้ล้มเลิกเวที ขณะที่มีการมองกันว่าจะมีนักการเมืองบางคนได้รับผลประโยชน์จากการผลักดันโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงรัฐบาลคสช.กลับถูกนำมาดำเนินการต่อ จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าจะเป็นไปในรูปแบบเดิมที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่

แจกเงินชาวนากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

นโยบายล่าสุดที่กำลังเป็นที่จับตาของสังคม หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา วงเงิน 40,000 ล้านบาท จากธ.ก.ส.เพื่อจ่ายเงินเข้าบัญชีให้ชาวนาเพิ่มไร่ละ 1,000 บาท ภายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นรัฐบาลจะตั้งงบประมาณคืนให้แก่ธ.ก.ส.ในปีหน้า ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า การดำเนินนโยบายนี้เป็นประชานิยมเช่นเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่

         “ชาวนาที่ปลูกข้าว 10 ไร่ จะเก็บเกี่ยวได้ 6.5-7 เกวียน ถ้าขายได้เกวียนละ 8,000 บาท จะได้เงิน 50,000 กว่าบาท แต่เป็นแค่ราคาขาย ยังไม่ได้หักต้นทุน จึงมีรายได้น้อยกว่าทำงานในโรงงาน การมีเงินจากรัฐบาลไปช่วยจะทำให้ชาวนาอยู่ได้ และไม่ต้องห่วงชาวนาที่เช่าที่นาก็จะได้รับเงินเหมือนกัน เพราะได้ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ไว้แล้ว และที่รัฐบาลใช้เงินรอบนี้ 40,000 ล้านบาท ก็ดีกว่าไปขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีละ 250,000 ล้านบาท และทำแค่ปีเดียวเท่านั้น ไม่เรียกว่าเป็นโครงการประชานิยม เพราะไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง ตอนนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่นโยบายนี้กำลังเร่งดำเนินการปรากฎว่าได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกันนั้นเกษตรกรกรประเภทอื่นๆ ก็ส่งเสียงเรียกร้องเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาของตนด้วย ทั้งเกษตรกรชาวสวนยางพารา และอ้อย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ระบุว่า ราคายางตกต่ำมีปัญหามาโดยตลอด แต่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีหันมาให้ความสนใจแก้ปัญหาให้กับชาวสวนยางเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาให้ชาวนาด้วย

ปฏิรูปพลังงาน ลดราคาน้ำมัน ปรับแอลเอ็นจี-เอ็นจีวี

การปฏิรูปพลังงานนับเป็นนโยบายร้อนแรงที่สุดหลังการเข้ารับตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ในฐานะ ประธานคสช. จนกระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงานระหว่างสองฝ่ายคือ ภาคพลังงานภาครัฐได้แก่ กระทรวงพลังงานและปตท.กับภาคประชาชน นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม ทั้งเรื่องของโครงสร้างราคาพลังงาน,การยกเลิกสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงความโปร่งใสในการบริหารงานพลังงานทั้งในภาครัฐ จากการจัดเก็บกองทุนต่างๆ หรือการบริหารจัดการในปตท. ที่ยังไร้ข้อสรุปจนถึงวันนี้

แต่ฟังจากน้ำเสียงของนายกรัฐมนตรีแล้ว ดูเหมือนว่าแนวโน้มการปฏิรูปพลังงานจะมีทิศทางไปตามนโยบายที่ไม่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน โดยปรับลดภาษีกลุ่มเบนซินและไปปรับขึ้นภาษีดีเซลแทน ก่อนที่จะทยอยขอปรับขึ้นราคา LPG เป็นรายเดือน โดยระบุว่า เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง และที่ผ่านมาใช้วิธีนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันบางส่วนมาชดเชย

ส่วนข้อถกเถียงเรื่องแนวทางการปฏิรูปในระดับนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า จะยังคงหาทางออกด้วยการรับฟังประชาชนว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร และต้องการมีส่วนร่วมอย่างไร ก่อนจะกำหนดการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับประโยชน์การพัฒนาพลังงานทุกด้าน เพื่อเริ่มต้นใหม่และมีนโยบายที่ชัดเจนให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ทั้งหมด ให้เกิดความเป็นธรรม ชอบธรรมมาก และโปร่งใสมากที่สุด แม้จะยอมรับว่าสิ่งที่มีปัญหามากที่สุดก็ตาม

นับแต่นี้คงต้องจับตาดูกันว่า โครงการต่าง ๆ การแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ จะดำเนินไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลคสช. เพราะโครงการส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่าเป็นโครงการประชานิยม มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่สำคัญเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนทั้งสิ้น หรือรัฐบาลนี้จะเป็นหนังหน้าไฟให้กลุ่มทุน รัฐวิสากิจ หน่วยงานของรัฐ เจ้าของเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่เฝ้ารอวันเดินหน้าโครงการอย่างเต็มตัว ดันหลังให้เผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่นอยู่ทั่วประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: