6 เดือนรัฐประหาร คุกคามสื่อต่อเนื่อง วิทยุชุมชน อินเตอร์เน็ต ล่าสุดลามถึงไทยพีบีเอสแล้ว

17 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1885 ครั้ง

ใกล้ครบรอบ 6 เดือนหลัง คสช. ทำรัฐประหาร พบสถานการณ์ปิดกั้นคุกคามสื่อยังย่ำแย่ จากปิดกั้นสื่อเสื้อแดง ล่าสุดคุกคามสื่อใหญ่อย่างไทยพีบีเอสแล้ว ด้านสมาคมนักข่าวฯ เตรียมขยับ เคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับ 97 และ 103 เหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ-ประชาชน จี้ทบทวนการใช้กฎอัยการศึกสร้างบรรยากาศแสดงความคิดเห็นร่วมของทุกฝ่าย 

17 พ.ย. 2557 แม้การรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทยใกล้จะครบรอบระยะเวลา 6 เดือน แต่ล่าสุดยังพบว่าสถานการณ์ปิดกั้นและคุกคามสื่อโดยทหารยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย

จากการรวบรวมข้อมูลโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าเพียงระยะเวลาไม่ถึงเดือนหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการปิดกั้นสื่อโดยทันทีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการ ออกประกาศที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารและการแสดงความเห็นในสื่อออนไลน์ 3 ฉบับ คือ คือ ประกาศฉบับที่ 12 17 และ 18 ให้หน้าที่กับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ ห้ามเผยแพร่ข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ ต่อต้านการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดยเฉพาะวิทยุชุมชนพบว่าในระยะเวลาไม่ถึงเดือนหลังการรัฐประหาร (ข้อมูล ณ กลางเดือน มิ.ย. 2557) มีสถานีวิทยุชุมชนกว่า 99 แห่งเป็นอย่างต่ำ ถูกคุกคามซึ่งเป็นผลหลังการรัฐประหาร คสช.ออกประกาศฉบับที่ 15, 23 และ 32 เป็นผลให้สถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศต้องยุติการออกอากาศ อย่างไรก็ตามแม้สถานีวิทยุส่วนใหญ่จะยุติการออกอากาศแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงใช้อำนาจในทางปฏิบัติเพื่อทำการบุกรุก และยึดอุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานีวิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ถูกทหารบุกยึดสิ่งของ เช่น ตู้เซฟ เอกสาร อุปกรณ์การชุมนุม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

กลุ่มต่อมาคือทีวีดาวเทียมที่ถูกปิดกว่า 14 ช่อง ก่อนที่จะผ่อนปรนผ่อนปรนอนุญาตให้ 12 ช่องทีวีดาวเทียมกลับมาออกอากาศ แต่สำหรับช่องที่มีเนื้อหาการเมืองนั้นจะต้องมีการปรับผังและปฏิบัติตามเงื่อนไขและประกาศ คสช.โดยเคร่งครัด

ส่วนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียก็ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า มีเว็บไซต์และหน้าเฟซบุ๊กที่หายไป โดยที่ทั้งแอดมินเป็นผู้ปิดเอง และยังไม่ทราบว่าแอดมินปิดเองหรือถูกสั่งปิดหรือไม่  ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้  รวมทั้งที่มีคำสั่งปิด ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ prachatham.com , midnightuniv.org, dangdd.com, thaienews.blogspot.com, enlightened-jurists.com, uddred.blogspot.com และ phranakornsarn.com เป็นต้น

ล่าสุดแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 6 เดือนแล้ว การคุกคามสื่อกลับคุกคามมาสู่สื่อหลักอย่างไทยพีบีเอส หลังมีการเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมามีนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ขอร้องไม่ให้สถานี เผยแพร่รายการ เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฎิรูป อีกต่อไป ภายหลังจาก ไม่พอใจวิธีการตั้งคำถามของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ ในขณะทำหน้าที่ดำเนินรายการตอนที่ชื่อ "ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีการออกอากาศไปแล้วเมื่อ 8 พ.ย. ในหลายประเด็น และมีเนื้อหาการพาดพิงการรัฐประหารร่วมอยู่ด้วย

กรณีนี้ได้ทำให้นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาระบุว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรวม ซึ่งฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยุติการกระทำดังกล่าว เพื่อสร้างบรรยากาศในการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปสร้างประเทศไปสู่ความสันติสุข เพราะแม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็เป็นความเห็นที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคนต้องรับฟัง

นอกจากนี้นายมานพระบุว่าในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนภาคสนาม ได้หารือกับเพื่อนร่วมวิชาชีพว่าจะมีการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนทุกแขนงและองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบไปยังสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยการยกเลิกประกาศของ คสช.สามารถดำเนินการได้โดยการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายของทุกฝ่ายในประเทศ สามารถดำเนินการได้ในทันที ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสื่อมวลชนภาคสนาม จะรวมตัวเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งผ่านความคิดเห็นไปยังรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงถึงประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ ยังเห็นว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงควรทบทวนการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกโดยเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างมีเสรี เพื่อสร้างความเห็นร่วมกันของคนในประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการนำประเทศกลับไปสู่ความสันติสุข

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: