ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ

17 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2219 ครั้ง


ทางพิเศษที่เปิดให้บริการแล้ว

1.ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะทาง 27.1 กิโลเมตร

2.ทางพิเศษศรีรัช ระยะทาง 38.4 กิโลเมตร

3.ทางพิเศษฉลองรัช (ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ และทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร

4.ทางพิเศษอุดรรัถยา ระยะทาง 32.0 กิโลเมตร

5.ทางพิเศษบูรพาวิถีระยะทาง 55.0 กิโลเมตร

6.ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร

7.ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร

ทางเชื่อมต่อ

- ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี (เป็นทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมของทางพิเศษบูรพาวิถีเพื่อส่งเสริมการให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ)

- ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี (เป็นทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมของทางพิเศษบูรพาวิถีเพื่อส่งเสริมการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษกบางพลี-สุขสวัสดิ์)

- ทางเชื่อมต่อเฉลิมราชดำริ 84 พรรษา (ทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม) เพื่อส่งเสริมการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม

โครงการที่อยู่ในแผนงาน (ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557)

1.โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโครงข่ายของทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในทางทิศตะวันตก เพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรระดับดินและระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันตกระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร แนวสายทางเริ่มต้นที่ทางพิเศษศรีรัช โดยมีจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ระยะทางรวมประมาณ 16.7 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2559

สถานะปัจจุบัน

การคัดเลือกเอกชน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2555 ครม. ได้มีมติเห็นชอบการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เสนอให้ บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีซีเอล) เป็นเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว

โดยมีกรอบวงเงินการลงทุนก่อสร้างโครงการ จำนวน 24,417 ล้านบาท และวงเงินลงทุนสำหรับการบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษา จำนวน 8,399 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุน 32,816 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี และมีระยะเวลาออกแบบก่อสร้าง 48 เดือนและการกำหนดอัตราค่าผ่านทางเมื่อเริ่มเปิดให้บริการแล้วจะปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยลงนามในสัญญากับผู้ร่วมทุนได้ทันที

การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อทำการก่อสร้างโครงการในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 16 ก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 ซึ่ง กทพ. ได้สำรวจกำหนดเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนได้ผลงาน ร้อยละ 49.5 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 12.0 (จากแผนงานร้อยละ 37.5)

2.โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ East-West Corridor ด้านตะวันออก

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มเส้นทางจราจรระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับเขตบึงกุ่ม และเขตบางกะปิของกรุงเทพมหานคร (แนวสายทาง ตอน N1 เริ่มต้นจากทางพิเศษศรีรัชมาตามถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านแยกแคราย มาตามถนนงามวงศ์วานถึงแยกเกษตรศาสตร์ ตอน N2 เริ่มที่แยกเกษตรศาสตร์ แนวสายทางซ้อนทับบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ของกรมทางหลวงถึงถนนนวมินทร์ตอน N3 จากถนนนวมินทร์ตัดผ่านถนนเสรีไทยและถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) บริเวณถนนศรีนครินทร์ ระยะทางรวม 24.1 กิโลเมตร)

สถานะปัจจุบัน

กทพ.ได้ทำงานทบทวนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงานทบทวน และออกแบบรายละเอียดของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โดยได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 และแจ้งให้ที่ปรึกษา เริ่มงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 ระยะเวลาปฏิบัติงาน 18 เดือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ โดยที่ปรึกษาได้จัดให้มีการสัมมนาการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว จำนวน 2 ครั้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการ ดังนี้

- ตอน E-W Corridor  ครั้งที่ 1 วันที่ 11 มีนาคม 2555 ครั้งที่ 2 วันที่ 25 สิงหาคม 2555

- ตอน N2 และ N3      ครั้งที่ 1 วันที่ 18 เมษายน 2555 ครั้งที่ 2  วันที่ 25 สิงหาคม 2555

- ตอน N1  ครั้งที่ 1 วันที่ 21 เมษายน 2555 ครั้งที่ 2 วันที่ 9 กันยายน 2555

3.โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2

โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 16.923 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 10+700 ของถนนพระรามที่ 2 (ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร  ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 โครงการมีทางขึ้น-ลงจำนวน 6 แห่งและมีทางแยกต่างระดับจำนวน 1 แห่งที่บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 16.923 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 10+700 ของถนนพระรามที่ 2 (ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 โครงการมีทางขึ้น-ลง จำนวน 6 แห่ง และมีทางแยกต่างระดับจำนวน 1 แห่งที่บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ

สถานะปัจจุบัน

กทพ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และทบทวนการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-ดาวคะนอง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 และแจ้งปรึกษาเริ่มงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 มีระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน

จากการศึกษาความเหมาะสมฯ พบว่าโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-ดาวคะนองและโครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ- มหานครด้านตะวันตกมีความเหมาะสมที่จะดำเนินโครงการเป็นทางพิเศษเส้นทางเดียวกัน โดยเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการทางพิเศษสายพระราม ๓-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก”

ปัจจุบัน การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

4.โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางจากตัวเมืองภูเก็ต ผ่านอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตอง ซึ่งทางหลวงดังกล่าวมีขนาด 2 ช่องจราจร  เขตทางแคบ  เส้นทางมีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีฝนตกหนัก และยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีปริมาณจราจรสูงตลอดวัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มมาตรฐานแนวเส้นทางให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหาดป่าตอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มีระยะทางรวม 3.90 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นทางยกระดับ และอุโมงค์ขนาด 6 ช่องจราจร เป็นช่องจราจรสำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีจุดเริ่มต้นที่จุดตัดถนนผังเมืองรวมสาย ก ในพื้นที่ตำบลป่าตองเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด หลังจากลอดผ่านช่วงภูเขาจะเป็นทางยกระดับ ผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางและศูนย์ควบคุมทางพิเศษ และไปเชื่อมบริเวณ กม.0+850 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 ในพื้นที่ตำบลกะทู้ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการฯ โดยจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของโครงการมีลักษณะเป็นทางแยกต่างระดับ

สถานะปัจจุบัน

กทพ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ดีทู คอนซัลท์ เอเซีย จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 และแจ้งให้ที่ปรึกษาเริ่มงาน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมีระยะเวลาการศึกษา  15 เดือน

ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว 2 ครั้ง โดยจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 เพื่อนำเสนอความเป็นมารายละเอียดของโครงการ และแนวสายทางที่จะทำการศึกษาและออกแบบรายละเอียด และ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมฯ และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ  ปัจจุบันที่ปรึกษาอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด (Detailed Design)

สอบถามข้อมูลสถานะปัจจุบันของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายนโยบายและแผน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโทรศัพท์ 02-579-5380-9 ต่อ 2515 (คุณธิษัณย์) หรือ http://www.katoo-patongexpressway.com หรือ http://www.exat.co.th/index.php/th_TH/news/article/view/6/98/

5.โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา

โครงการมีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษบูรพาวิถีไปยังภาคตะวันออก เชื่อมต่อการเดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบัง  รวมทั้งรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจแ ละการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกในอนาคต  โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการเมื่อมีการเปิดใช้ทางพิเศษสายบูรพาวิถี - พัทยา ได้แก่ เพิ่มความสะดวก ปลอดภัยและประหยัดเวลาแก่ผู้ใช้เส้นทางเป็นทางเลือกในการเดินทางสู่จังหวัดทางภาคตะวันออก ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก  รองรับการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ

โครงการมีระยะทางรวมประมาณ 71 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางยกระดับบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและเบี่ยงซ้ายไปตามแนวถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี จากนั้นแนวสายทางจะมุ่งทางทิศใต้ ผ่านอำเภอเมืองชลบุรี บางแสน อำเภอศรีราชา ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีทางเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังโดยตรงเพื่อรองรับการขนส่งสินค้า แล้วจึงผ่านอำเภอบางละมุง จนสิ้นสุดแนวสายทางบริเวณพัทยาใต้

สถานะปัจจุบัน

กทพ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 โดยแจ้งให้ที่ปรึกษาเริ่มงานเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 มีระยะเวลาการศึกษา 15 เดือน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ โดยที่ปรึกษาได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ณ โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอเหตุผลและความจำเป็น วัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินโครงการ รวมทั้งเสนอแนวสายทางเลือกเบื้องต้นของโครงการ และได้จัดให้มีการประชุม

รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ ผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม และแผนการดำเนินโครงการในขั้นตอนต่อไป

สอบถามข้อมูลสถานะปัจจุบันของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายนโยบายและแผน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโทรศัพท์ 02-579-5380-9 ต่อ 2858 (คุณกนกพร) หรือ http://www.buraphavithi-pattaya.com หรือ http://www.exat.co.th/index.php/th_TH/news/article/view/6/2055/

6.โครงการศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา

โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษไปยัง ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทร  โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการเมื่อมีการเปิดใช้ทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ เพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และ ประหยัดเวลาแก่ผู้ใช้ทาง รองรับการเดินทาง และขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจังหวัดภาคกลางตอนบน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 และเป็นเส้นทางในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีที่มีเหตุอุทกภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการมีระยะทางรวมประมาณ 35 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นต่อจากทางพิเศษอุดรรัถยาบริเวณบางปะอิน เป็นทางยกระดับผ่านอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดบริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บริเวณอำเภอบางปะหัน

สถานะปัจจุบัน

กทพ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โดยแจ้งให้ที่ปรึกษาเริ่มงานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 มีระยะเวลาการศึกษา 15 เดือน

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯโดยที่ปรึกษาได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำเสนอเหตุผลและความจำเป็น วัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินโครงการ รวมทั้งเสนอแนวสายทางเลือกเบื้องต้นของโครงการ

ข้อมูลโครงการฯ เพิ่มเติม http://www.exat.co.th/index.php/th_TH/news/article/view/6/2047/

ปริมาณจราจรและรายได้ค่าผ่านทางพิเศษ

ปริมาณจราจรและรายได้ค่าผ่านทางพิเศษในปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555–กันยายน 2556) มีปริมาณจราจรรวม 590.34 ล้านเที่ยว/ปี หรือ 1.61 ล้านเที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 ร้อยละ 6.08 และมีรายได้ค่าผ่านทางพิเศษรวม 21,802.81 ล้านบาท/ปีหรือ 59.73 ล้านบาท/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 ร้อยละ 11.34

โดยทางพิเศษเฉลิมมหานคร มีปริมาณจราจรรวมสูงสุด 135.88 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.37 ล้านเที่ยว/วัน รองลงมาคือทางพิเศษศรีรัชในเขตเมือง รวม 118.31 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.32 ล้านเที่ยว/วัน ทางพิเศษศรีรัชส่วนนอกเมืองและส่วนดีรวม 124.14 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.34 ล้านเที่ยว/วัน

ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) รวม 72.27 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.20 ล้านเที่ยว/วัน ทางพิเศษฉลองรัช รวม 65.47 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.18 ล้านเที่ยว/วัน

ทางพิเศษบูรพาวิถีรวม 49.64 ล้านเที่ยว/ปีหรือ 0.14 ล้านเที่ยว/วัน ทางพิเศษอุดรรัถยา รวม 24.63 ล้านเที่ยว/ปี หรือ 0.07 ล้านเที่ยว/วัน

ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 มีรายได้รวม 14,515.91 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 7,926.82 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,589.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 จำนวน 746.83 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.78 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจร

ที่มา

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ขอบคุณรูปภาพจาก http://ho.files-media.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: