สุวาณี ฉัตรชัยชัชวาล ซบใบหน้าที่หยาบกร้านลงกับฝ่ามือของตนเมื่อถูกถามว่าเพราะอะไรถึงไม่ค่อยมีรอยยิ้มเอาเสียเลย
ชาวนาวัย 50 ปีเศษจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผู้ซึ่งมาร่วมเสวนาเรื่อง ‘พลิกวิกฤตข้าว ฟื้นชีวิตชาวนา’ ที่จัดโดยรายการเวทีสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตอบคำถามที่ทำให้ทั้งเวทีเงียบงันไปชั่วขณะ
“มันยิ้มไม่ออก ดอกธนาคารมันเดินตลอด… เครียด… ” สุวาณีกล่าวปนเสียงหัวเราะขื่นๆ “…ตอนได้เงินก็ชื่นใจ แต่ตอนจ่าย มันหมดกำลังใจ”
เพียงไม่กี่วันมานี้ สุวาณีได้รับเงินค่าจำนำข้าวที่ค้างมากว่า 4 เดือน แต่ในเวลาไม่นานนัก เงิน 3.5 แสนบาทที่ได้รับ ก็ถูกใช้ไปกับหนี้ก้อนใหญ่ที่สุวาณีมีมาก่อนหน้านี้
“ค่าปุ๋ย ค่ายา ยังไม่ได้จ่ายเลย เอาแต่ไปจ่ายธนาคาร” สุวาณีเล่าให้ผู้มาร่วมเสวนาฟัง “…ลงทุนปลูกใหม่ไปคราวนี้… ต้นทุนสูงเกินราคาที่จะขายได้ ก็ขาดทุนอีกแล้ว”
เรื่องราวของชาวนาอย่างสุวาณียังคงเป็นเรื่องเล่าซ้ำๆ ในสังคมไทย แม้ว่าจะมีความพยายามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวที่ยังคงติดค้างให้ชาวนากว่า 800, 000 ราย
องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชาวนาต่างระบุว่า แม้เงินค่าจำนำข้าวจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวนาในระยะเร่งด่วน แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาวไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากรากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวและชาวนาไม่ได้ถูกทบทวนด้วย
กิมอัง พงษ์นารายณ์ ที่ติดตามปัญหาหนี้สินมานานนับปีในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พี่น้องชาวนาล้วนมีสภาพไม่ต่างกันมากคือเงินที่ได้รับมาไม่พอใช้หนี้ แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูอาชีพให้กับชาวนา แต่หนี้ที่พวกเขามีนั้นก้อนใหญ่เกินกว่าที่จะทำให้พวกเขาริเริ่มทำอะไรอย่างอื่นได้
จากข้อมูลของเครือข่ายหนี้สินฯ มีเกษตรกรเกือบ 5 แสนคนที่มาขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีมูลค่าหนี้รวมเป็นเงินกว่า 76,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2546 ทางกองทุนฯ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนได้เพียงราว 2 หมื่นคนเท่านั้น
กิมอังเสนอว่าหากจะช่วยให้ชาวนาได้มีโอกาสฟื้นฟูอาชีพได้นั้น โจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขเป็นเรื่องแรกคือเรื่องหนี้สินของชาวนานั่นเอง
“ตอนนี้ เฉลี่ยก็เป็นหนี้กันคนละ 3 แสน” กิมอังแลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะ “จะต้องมีการจัดการหนี้ให้ได้เพื่อก้าวไปสู่การฟื้นฟูอาชีพ”
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำการศึกษาวิจัยปัญหาการผลิตข้าวและหนี้สินชาวนามาเป็นเวลาหลายปี
จากการศึกษากลุ่มชาวนาภาคกลางในปีที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาต้องมีการลงทุนสูงและเกิดเป็นหนี้สะสม คือการใช้เงินไปกับเรื่องของปัจจัยการผลิตซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน
ในขณะที่ชาวนามีความเสี่ยงทางด้านการตลาดสูง ต้นทุนและดอกเบี้ยที่ชาวนาต้องแบกรับในการผลิตแต่ละรอบก็ได้สร้างแรงกดดันให้แก่ชาวนา
พงษ์ทิพย์ กล่าวว่า ดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีเพดานขยับขึ้นไปถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์หากชาวนาผิดนัดชำระหนี้ และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาไม่สามารถชำระหนี้คืนได้และทำให้ทรัพย์สินของพวกเขาถูกขายทอดตลาด
พงษ์ทิพย์เสนอว่า ต้องให้ธนาคารหยุดขายทรัพย์สินของชาวนาทอดตลาด และให้มีการโอนหนี้ของชาวนาเข้ากองทุนฯ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้
“หนี้สินเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวนาติดลบ” พงษ์ทิพย์แลกเปลี่ยนในเวทีสาธารณะ “ถ้าเราเดินหน้าได้แล้ว เราจะสามารถก้าวข้ามจุดนี้ แล้วปรับระบบการผลิต ทำเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ”
ควบคู่ไปกับการจัดการหนี้สินในระยะเร่งด่วน พงษ์ทิพย์เสนอว่า ผู้มีอำนาจรัฐควรเข้ามาช่วยควบคุมราคาของปัจจัยการผลิตในระยะสั้น หรือ 6 เดือนข้างหน้านี้เพื่อช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อชาวนา
“แล้วก็มาดูเรื่องที่ดิน ซึ่งค่าเช่านาเวลานี้อยู่ในราว 25-30 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต” พงษ์ทิพย์กล่าว “…แล้วถ้าปรับจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ จะช่วยลดต้นทุนได้จาก 6-8 พัน เป็น 2-4 พันบาทต่อไร่ แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องการแปรรูป การตลาด ที่ต้องมาดู”
ปราโมทย์ วานิชานนท์ อดีตกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวว่า เรื่องวิกฤตข้าวที่เกิดขึ้นสามารถมองได้สองมิติ
ปราโมทย์กล่าวว่าที่ผ่านมามักมีการใช้เงินทุ่มไปกับการจัดการแก้ปัญหากลไกการตลาดของข้าว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันราคาหรือโครงการรับจำนำข้าวต่างต้องใช้เงินของรัฐนับหมื่นๆ ล้านบาท
ในขณะที่มีการใช้เงินรับไปกับเรื่องราคาในตลาด แต่กลับพบว่ามีการพัฒนาระบบผลิตและคุณภาพชีวิตชาวนาน้อยมาก ราว 300-400 ล้านบาทต่อปี
“นี่เป็นปัญหาของชาวนาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข” ปราโมทย์กล่าวในเวทีฯ “ถึงวันนี้เรากำลังติดกับดัก เราเอาแต่ผลิตจนมากเกินไปหรือเปล่า เราอาจจะส่งข้าวออกเป็นอันดับหนึ่งในด้านปริมาณ แต่ชาวนาก็ยังจนอยู่ดี”
ปราโมทย์กล่าวว่า ถ้าหากปรับวิธีคิดเกี่ยวกับการผลิตข้าวโดยใช้แนวคิดออกแบบคล้ายสินค้าอุตสาหกรรม การผลิตข้าวจากนี้ไปจะสามารถกำหนดได้ตั้งแต่แรกเริ่มว่าจะผลิตข้าวอะไรเพื่อป้อนตลาด เพื่อเอาไปขายที่ไหน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายเชิงการตลาดที่จะช่วยสนับสนุนการผลิต ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงปลูกข้าวที่ขาดทุนตั้งแต่ปลูก
“ในอนาคต เรามีศักยภาพในสายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ ดังนั้น เราจะไม่ปลูกข้าวขายจากการกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว แต่จะขายข้าวตามสายพันธุ์แล้วไปตลาดที่มีมูลค่าสูงไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทต่อตันขึ้นไป” ปราโมทย์กล่าวในเวทีสาธารณะ “เราต้องมาช่วยกันคิดออกแบบ ที่พูดนี่ไม่ใช่เรื่องความฝัน แต่ดูจากพื้นฐาน เรามีจุดแข็งหลายจุด แต่เราไม่เคยมีแผนไปสู่เป้าหมายที่เราอยากจะเห็นเลย”
คุณปราโมทย์กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายหนี้สินฯ ที่ควรมีการส่งเสริมให้ชาวนารวมกลุ่มเพื่อการผลิตแปรรูปข้าวส่งตลาดภายใน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นนโยบายคู่ขนาน และอาจกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องที่สุดและจะเป็นทางรอดของชาวนาและประเทศไทย
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาว อาจต้องเอาตลาดและผู้บริโภคเป็นตัวตั้งและผลิตสินค้าข้าวตามความต้องการที่หลากหลาย ซึ่งมีความเป็นไปได้โดยหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมการข้าว เข้ามามีส่วนช่วยเกษตรกรปรับการผลิต
รศ.สมพร กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่จะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นนี้ คสช. ควรมองในส่วนของกลไกขับเคลื่อนอันได้แก่ กรรมการนโยบายข้าวฯ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยดำเนินการเรื่องการพัฒนาระบบ
รศ.สมพร ยังแนะนำว่า กรรมการฯ ที่ปรับปรุงใหม่ควรเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ (stakeholders) เข้ามามีส่วนในการดูแลนโยบายร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่วงดุลในทุกมิติ เกิดความเป็นธรรมในที่สุด
“เป็นจังหวะดีที่ คสช. จะรื้อคณะกรรมการนโยบายข้าวเสียใหม่ เดิมมีนายกฯ ปลัดกระทรวงต่างๆ แต่ไม่มีตัวแทนชาวนาหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ถ้าทำได้ก็จะเป็นการสนับสนุนชาวนา กลุ่มผู้ประกอบการ และถ้าเราทำแบบนี้ได้ก็จะเป็นการรวมกลุ่มที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของระบบได้” รศ.สมพร แสดงทัศนะในเวทีฯ
ปราโมทย์กล่าวเสริมว่า กรรมการฯ ดังกล่าวต้องมีภาคประชาชนเข้าไปร่วม และกรรมการฯ ควรมีหน้าที่ในการวางนโยบายข้าวของประเทศที่ครอบคลุมเรื่องโครงสร้างการผลิตข้าวทั้งระบบ รวมทั้งบทบาทชาวนาในอนาคต
ปราโมทย์หวังว่านโยบายใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับข้าวของประเทศที่จะไม่ถูกยึดโยงกับเงื่อนไขทางการเมืองและแปรผันตามการเมืองอีกต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายที่เกิดจากมติของทุกภาคส่วนโดยที่พรรคการเมืองที่เข้ามาบริหารจะไม่สามารถบิดเบือนนโยบายได้ และจะต้องบริหารจัดการตามนโยบายที่ได้ตกลงกันในหมู่กรรมการฯ มาแล้ว
“ผมไม่ฝัน แต่ผมถาม คสช. วันนี้ ถ้า คสช. สถาปนายุทธศาสตร์ข้าวที่ว่านี้ ซึ่งทุกคนบอกว่า ใช่ มันคืออนาคตของประเทศ ทุกคนบอกว่ามันคุ้มค่ากับการลงทุน ชาวนาเองก็มีความสุข มันก็จะตอบโจทย์ได้หมด ผมถามหน่อยว่าจะมีพรรคการเมืองไหนจะกล้าล้มเลิกมัน” ปราโมทย์กล่าวในช่วงท้ายของการสนทนา ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของชาวนาที่ร่วมเวทีฯ ว่า หากสิ่งที่เสนอมาทั้งหมดนี้มีการผลักดันให้ทำได้จริง คุณภาพชีวิตชาวนาไทยคงจะดีกว่าที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย พลิกวิกฤตข้าว ฟื้นชีวิตชาวนา
รายการเวทีสาธารณะได้จัดเวทีเสวนาเพื่อถกปัญหาและหาทางออกสำหรับปัญหาเรื่องการผลิตข้าวและหนี้สินชาวนาไทย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ขึ้น ที่โรงเรียนข้าวและชาวนา กรมการข้าว
ทางรายการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในปัญหาการผลิตข้าวและชาวนาในสาขาต่างๆ และชาวนาหลายๆท่านจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวพื้นที่ชลประทานที่ดีที่สุดของประเทศ
จากเวทีเสวนาร่วมหนึ่งชั่งโมง นำมาซึ่งข้อเสนอในระยะเร่งด่วนและระยะยาวคือ
ในระยะเร่งด่วน ผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือ คสช. ในขณะนี้ สามารถช่วยแก้ปัญหาการผลิตข้าวของประเทสและชาวนาได้โด
1.จัดการเรื่องหนี้สินของชาวนาเป็นอันดับแรก โดยควรให้มีการหยุดการขายทรัพย์สินทอดตลาด และทำการโอนหนี้ให้ไปปรับโครงสร้างหนี้ในระบบของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มีกลไกในการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรที่มีหนี้สิน
2.จัดการเรื่องต้นทุนปัจจัยการผลิตในระยะเร่งด่วน โดย ใน 6 เดือนข้างหน้านี้ ให้ช่วยจัดการคุมราคาปัจจัยการผลิต จ่ายส่วนต่าง หรือหากไม่ต้องการแทรกแซงตลาดก็อาจใช้วิธีอุดหนุนปัจจัยบางตัวที่ชาวนายังต้องใช้
ในระยะกลางและระยะยาว
1.ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปรับวิถีการผลิต ถ้าสามารถปรับไปเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ จะสามารถลดต้นทุนการผลิตจากไร่ละ 6 ถึง 8 พันบาท เหลือ 2 ถึง 4 พันบาทได้
2.ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของชาวนาและแปรรูปการผลิตเองได้ อาจส่งเข้าสู่ตลาดภายใน
3.แนวทางการผลิตเพื่อส่งออกที่ปล่อยให้กลไกตลาดกำหนดและการอุดหนุนด้านราคาโดยรัฐ ควรยกเลิกเพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง ปีละหลายหมื่นล้านบาท ควรมีการพิจารณาการบริหารจัดการการผลิตข้าวโดยวางนโยบายการตลาด เพื่อกำหนดการผลิตที่ตรงเป้าหมายและมีมูลค่ามากขึ้น การวางเป้าหมายดังกล่าวจะช่วยลดการปลูกและผลิตข้าวที่ไม่มีมูลค่า เป็นภาระของชาวนาและประเทศเพราะขาดทุนตั้งแต่เริ่มปลูก
4.จัดทำนโยบายข้าวแห่งชาติที่มีทุกภาคส่วนมาร่วมออกแบบ เพื่อกำหนดการผลิตข้าว รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวชาวนา การวางนโยบายคู่ขนานโดยส่งเสริมให้ชาวนาแปรรูปและทำการตลาดเองได้ ในขณะที่มีการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกโดยการบริหารจัดการด้านตลาดเพื่อกำหนดการผลิต ควรมีการพิจารณาผลักดันเพราะจะเป็นทางรอดของประเทศ
5.ควรมีการปฏิรูปกลไกหลักในการขับเคลื่อนคือกรรมการนโยบายข้าวฯ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายของประเทศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง ทำให้นโยบายมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน สามารถสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ได้ในลำดับต่อไป รวมทั้งสภาชาวนา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ