คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวที่กำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษหรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองและป้องกันความขัดแย้ง
TCIJ เห็นว่างานเขียนของยุกติ มุกดาวิจิตร ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัย ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ดีต่อการมองการเมืองท้องถิ่นของไทย จึงขอยกมานำเสนอ ดังนี้
.............
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาค ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
'การปกครองส่วนภูมิภาค' ได้แก่ ระบบกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรเหล่านี้อยู่ในกำกับของรัฐมากที่สุด รวมศูนย์มากที่สุด “สภาองค์กรชุมชน” เป็นองค์กรที่ใหม่ เกิดขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 สภานี้เป็นสภาแต่งตั้งและยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก
ส่วน 'องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น' หรือ อปท. ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีสมาชิกสภาและนายกสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน หากไม่นับ อปท. อย่างกรุงเทพมหานครและพัทยา อปท. ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างส่วนใหญ่เริ่มมีขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2537 และมีพัฒนาการที่เพิ่มอำนาจการบริหารงบประมาณและมีที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง อปท. ขึ้นมาทั่วประเทศ มีงานวิจัยจำนวนมากที่ตั้งคำถามกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในที่นี้ขอประมวลให้เห็นชัดๆ อย่างย่อๆ ง่ายๆ จากงานวิจัยที่ผมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยคืองานวิจัยเรื่อง 'ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย' (ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี [นสธ.] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ [สสส.]) ได้ดังนี้
1.“อปท. เป็นเพียงแหล่งทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองท้องถิ่นหรือไม่”
การศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเอง เช่น จากตัวอย่างหมู่บ้านที่คณะวิจัยผมศึกษาหลายหมู่บ้าน พบว่า ผู้นำและสมาชิกของ อปท. มีอิสระในการตัดสินใจของตนเอง สร้างโครงการพัฒนาที่ตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวาระของการเลือกตั้ง
2.“อปท. มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่”
งานวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เลือกศึกษา อปท. จำนวนหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกชี้ให้เห็นว่า อปท. ระดับเทศบาลสามารถเก็บภาษีท้องถิ่นมาบริหาร พัฒนาเทศบาลของตนเองจำนวนมาก มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ไม่เพียงผลสะท้อนความพอใจจะแสดงออกจากผลการเลือกตั้ง แต่เทศบาลเหล่านั้นยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่พึงพอใจและไว้ใจการให้บริการของ อปท. เหล่านั้น
3.“อปท. เป็นเพียงฐานอำนาจของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นหรือไม่”
งานศึกษาการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากชี้ว่า พัฒนาการของการเมืองท้องถิ่นและเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่แสดงว่า ทั้งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีลดน้อยลง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า มีการแข่งขันกันระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้การผูกขาดอำนาจทั้งสองในท้องถิ่นลดลง
ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงไม่ค่อยได้เห็นข่าวเสี่ยนั่น นายห้างนั้น พ่อเลี้ยงนี้ ถูกยิงตายหรือสังหารล้างตระกูลเพื่อสร้างบารมีกัน ผู้บริหาร อปท. จำนวนมากที่คณะวิจัยผมได้เคยสัมภาษณ์ ก็เปิดเผยว่าพวกเขากล้าท้าทายอำนาจของบรรดา “บ้านใหญ่” ในอดีตกันมากขึ้น เนื่องจากทางเลือกทางการเมืองและเศรษฐกิจมีมากขึ้น
4.“อปท. เป็นเพียงฐานอำนาจของพรรคการเมืองระดับชาติหรือไม่”
จากการศึกษาพบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ มักจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง ไม่จำเป็นที่นักการเมืองท้องถิ่นในระดับตำบลหรือในระดับจังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมระดับชาติ จะพลอยได้รับเลือกตั้งไปด้วยเพียงเพราะเขาสังกัดพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมนั้น
มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แล้วลาออกจากตำแหน่งมาสมัครสมาชิก อบจ. ก็ยังสอบตกได้ ที่เป็นดังนี้เพราะประชาชนใช้เกณฑ์ในการเลือก สส. แตกต่างจากเกณฑ์ในการเลือกสมาชิก อบจ.
5.“การเลือกตั้ง อปท. มีส่วนสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่นหรือไม่”
ขึ้นชื่อว่าสังคมมนุษย์ ที่ไหน เมื่อใด ก็จะต้องเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สังคมที่ไม่ขัดแย้งก็น่าสงสัยว่าจะเป็นสังคมที่กลบเกลื่อนเก็บซ่อนความขัดแย้งเอาไว้ด้วยการกดหัวฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับ หากสังคมมีความเท่าเทียมกัน ความขัดแย้งก็จะต้องแสดงออกมา และการเลือกตั้งเป็นการจัดการความขัดแย้งในชุมชนอย่างสันติที่สุดเท่าที่สังคมมนุษย์มีในขณะนี้
ในหมู่บ้านที่ผมศึกษา ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางที่จะทำให้เขาได้ผู้นำท้องถิ่นที่พวกเขาต้องการ และเมื่อพวกเขาได้ผู้นำที่ต้องการแล้ว พวกเขาก็จะรอดูผลงาน จะตรวจสอบผู้นำ แล้วจะตัดสินใจใหม่เมื่อวาระของการเลือกตั้งใหม่มาถึง ประชาชนทุกแห่งสามารถเรียนรู้กระบวนการนี้ได้ แล้วพวกเขาก็จะเข้าใจว่า การเลือกตั้งต่างหากที่เป็นหนทางสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้ง
กล่าวอย่างถึงที่สุด ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยกำลังเติบโต เป็นการการเติบโตทั้งในทางประสิทธิภาพการบริหารงานและการบริหารจัดการงบประมาณ ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตของ อปท. คือดัชนีหนึ่งของการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น
หากเราวาดหวังที่จะให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว เราก็จะต้องยิ่งส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นอันมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแบบนี้ยิ่งๆ ขึ้นไม่ใช่หรือ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ