ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วิพากษ์ 'รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ'

สำนักข่าวอิศรา 18 ก.ย. 2557


       “รัฐที่เข้มแข็งเกินไป อาจมีการเก็บภาษีอัตราที่สูงมาก กระทั่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน อีกด้านหนึ่งรัฐที่อ่อนแอมากเกินไป อาจทำให้รัฐไม่ลงทุนในเรื่องสินค้าสาธารณะเท่าที่ควร”

วันที่ 15 กันยายน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนา “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” โดยศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์อาวุโส คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวิพากษ์หนังสือ “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” ซึ่งเขียนโดย ผศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย

สำนักข่าวอิศรา ถอดความโดยละเอียดมานำเสนอ ทั้งในประเด็นรัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ, การลดทอนความสำคัญจากปัจจัยภายนอกประเทศ, ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา และการยกย่องจอมพลป.พิบูลสงครามเกินกว่าความเป็นจริง

อรรถาธิบายรัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ

สำหรับนโนทัศน์รัฐที่เข้มแข็ง (Strong state) และรัฐที่อ่อนแอ (Weak state) คำอธิบายมีหลากหลาย อะไรจะเป็นปัจจัยกำหนดความเข้มแข็ง หรือความอ่อนแอของรัฐ คำอธิบายจะแตกต่างกันมากระหว่างนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์

        “ผมมีข้อสังเกต 2 ประการ เส้นแบ่งระหว่าง รัฐที่เข้มแข็ง   และรัฐที่อ่อนแอ ไม่ใช่เส้นสีดำ ไม่สามารถฟันได้ว่า  นี่เป็นรัฐเข้มแข็ง นี่เป็นรัฐอ่อนแอ เส้นแบ่งนี้มันเป็น “เส้นสีเทา” เป็นแถบสีเทาด้วยซ้ำไป ดังนั้น อาจารย์อภิชาติไม่กล้าฟันธงยุคสมัยไหนเป็นรัฐเข้มแข็ง ยุคสมัยไหนเป็นรัฐอ่อนแอ ฟันธงไม่ได้เพราะในหนังสือไม่เคยนำเสนอตัวแปรในการชี้วัด รัฐเข้มแข็งและความอ่อนแอของรัฐถูกกำหนดด้วยอะไร”

ในบทสรุปหน้าสุดท้าย อาจารย์อภิชาตสรุปว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจยุค 2493 -2506 เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ช่วงรอยต่อรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ความไม่สำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจ หลังวิกฤติการณ์การเงิน 2540 เป็นเพราะความล้มเหลวของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐ

การจำแนกโดยแบ่งยุคที่ค่อนข้างกว้างขวาง 2493 -2506 ก่อให้เกิดคำถามมากมาย ช่วงเวลาดังกล่าวรัฐไทยเข้มแข็งหรือเปล่า 2493 เป็นช่วงที่จอมพลป.พิบูลสงคราม กำลังล้มลุกคลุกคลาน กำลังต่อสู้กับกลุ่ม รอยัลลิสต์ และทำท่าจะแพ้ ดังนั้นจึงไม่สามารถพูดได้เลยว่า รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม อยู่ในยุคที่รัฐไทยเข้มแข็ง

“ผมไม่คิดว่าจะพูดได้”

Daron Acemoglu  นักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี ที่มีผลงานถูกอ้างอิงมากที่สุดของโลก งานวิจัยชื่อ  Politics and economics in weak and strong states เขาบอกว่า รัฐที่อ่อนแอเกินไป กับรัฐที่เข้มแข็งเกินไป สร้างปัญหาก่อให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร

รัฐที่เข้มแข็งเกินไป อาจมีการเก็บภาษีอัตราที่สูงมา กระทั่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน อีกด้านหนึ่งรัฐที่อ่อนแอมากเกินไป อาจทำให้รัฐไม่ลงทุนในเรื่องสินค้าสาธารณะเท่าที่ควร

Acemogluได้แยกระหว่างความเข้มแข็งทางการเมือง กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐที่เข้มแข็งทางการเมืองอาจอ่อนแอทางเศรษฐกิจได้ 

ศ.รังสรรค์กล่าวว่า ในสังคมมนุษย์ ประชาชนมีทางเลือกที่ออกไปจากรัฐ (exit option) การออกไปจากรัฐ เช่น แทนที่จะประกอบกิจกรรมใน formal sector ก็ออกไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector)

“หาก exit option มีน้อย รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ในอัตราสูง แต่หาก exit option มีมาก รัฐที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจไม่สามารถเก็บภาษีในอัตราสูงได้ ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า การจำแนกประเภทรัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ มีปัญหา”

การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ

ศ.รังสรรค์  กล่าวถึงการลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ อาจเป็นจารีตของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่พยายามบอกเราว่า ทุกอย่างเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยภายนอกประเทศมีความสำคัญน้อย

“ปัจจัยภายนอกประเทศสามารถมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งโดยตรง และโดยอ้อม เช่น ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์กรโลกบาล ประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น”

การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้พลาดการวิเคราะห์ประเด็นหลักในหลายประเด็น 

1.การเดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม

2.การขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจ

และ 3. การละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

         “เนื้อหาในหนังสือบางตอนพยายามจะเชิดชูจอมพลป.พิบูลสงคราม ว่าเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนกระบวนเศรษฐกิจเสรีนิยมในประเทศไทย แต่การอ้างการตรากฎหมาย 4 ฉบับ เป็นการอ้างที่ผิด

พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม 2497 ไม่ถือว่า เป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐ ในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนจากต่างประเทศ

เนื้อหาบางตอน สื่อนัยว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แต่เอกสารภายในธนาคารโลกบอกว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกบางคนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ และในข้อเท็จจริงหลังจากมีการบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้เกือบไม่ได้มีบทบาท ในการส่งเสริมการลงทุนของเอกชน”

กฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรม 2497 ออกมาในช่วงรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม คือ ต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของต่างชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้นอกจากการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนแล้ว ยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นหมุดหมายที่บอกว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม กำลังจะละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม

และมีกฎหมายอีก 3 ฉบับไม่ใช่เป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่อาจารย์อภิชาตตีขลุมว่า เป็นเศรษฐกิจเสรีนิยม คือพระราชบัญญัติประกันสังคม 2497 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อเป็นธรรมกับสังคม 2497 พระราชบัญญัติจัดอาชีวะศึกษาสำหรับคนบางจำพวก 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นกลไกในการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนกระบวนเศรษฐกิจเสรีนิยม

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ไปสู่แนวทางเสรีนิยม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องถือเอา “การยุบสำนักงานข้าว” เป็นหมุดหมาย เพราะข้าวคือสินค้าส่งออกสำคัญที่สุด ของสังคมเศรษฐกิจไทย และสำนักงานข้าว ผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศ

การผูกขาดการค้าข้าวของสำนักงานข้าว จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยมิได้เป็นไปเสรีนิยม

       “การยุบสำนักข้าว จึงมีผลเสมือนหนึ่งการเลิกผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศ โดยรัฐ”

ฉะนั้นการยุบสำนักงานข้าว เป็นหมุดหมายของการเดินบนเส้นทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

เหตุใดจอมพลป.พิบูลสงคราม จึงปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ จากนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม มาสู่นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นผู้บงการให้มีการยุบสำนักงานข้าวด้วยตนเองหรือไม่คำตอบเบื้องต้นที่มีก็คือ จอมพลป.พิบูลสงคราม ต้องการการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจล้วนไม่พอใจนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย

ล่วงถึงปลายทศวรรษ 2490 จอมพลป.พิบูลสงคราม ตระหนักชัดแล้วว่า อำนาจทางการเมืองกำลังหลุดลอยไปสู่กลุ่มซอยราชครู ซึ่งมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นำ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้นำ

จอมพลป.พิบูลสงคราม จำเป็นต้องหันเข้าหาฐานมวลชน ด้วยการเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ทั้งการแสดงความเห็นในที่สาธารณะ การจัดตั้งพรรคการเมือง และการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และด้วยการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ เพื่ออำนวยความผาสุกแก่ประชาชน นอกจากนี้การปรับนโยบายเศรษฐกิจไปสู่แนวทางเสรีนิยม ยังความพึงพอใจแก่ประเทศมหาอำนาจ

         “รัฐบาลไทยมีพันธระหว่างประเทศ ที่ต้องละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม และหันสยามรัฐนาวาไปสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก เพราะองค์กรโลกบาลทั้งสองยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ตอกย้ำเมื่อรัฐบาลไทยทำความตกลงทางวิชาการ เศรษฐกิจกับสหรัฐ เมื่อเดือนกันยายน 2493”

จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นผู้บงการให้มีการยุบสำนักงานข้าวด้วยตนเองหรือไม่

        “ผมไม่พบงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้ แต่ประเด็นที่เป็นไปได้มากกว่า ก็คือการกดดันผ่านบทสนทนา ระหว่างเทคโนแครต องค์กรโลกบาล กับเทคโนแครตไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

เมื่อรัฐบาลอเมริกัน และองค์กรโลกบาลต้องการให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องใด ก็มีบทสนทนากับเทคโนแครตในเรื่องนั้น ข้างฝ่ายเทคโนแครตไทย เมื่อไม่สามารถผลักดันนโยบายของตนเองให้ปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องใดได้ ก็บอกผ่านรัฐบาลอเมริกัน และองค์กรโลกบาลให้กดดัน ...”

ด้วยเหตุนี้ การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้ความเข้าใจการก่อเกิด และการขับเคลื่อนปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน

สำหรับเงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลไทยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้าง ที่รัฐบาลกู้จากธนาคารโลก เงื่อนไขการดำเนินนโยบายเหล่านี้ อยู่ในปริมณฑลของการปฏิรูปเศรษฐกิจ การขอเงินกู้ทั้ง 2 ประเภทนี้เกิดขึ้น เมื่อระบบเศรษฐกิจเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ

กระบวนการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย มิใช่กระบวนการสั่งการจากองค์การโลกบาลมายังรัฐบาลไทย หากแต่เป็นกระบวนการต่อรองระหว่างองค์กรโลกบาลกับรัฐบาล อำนาจต่อรองขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใดอำนาจต่อรองของรัฐบาลยิ่งมีน้อย

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 2520 รัฐบาลไทยยังมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรองเลย

ความเข้มข้นและความเข้มงวดของเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ ความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤติเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใด เงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจก็จะยิ่งเข้มข้น และเข้มงวดมากเพียงนั้น โดยที่ความร้ายแรงของวิกฤติเศรษฐกิจมีความสำคัญกับความเข้มแข็ง หรือความอ่อนแอของรัฐ

รัฐที่อ่อนแอมีแนวโน้มที่จะนำรัฐนาวาไปสู่ภาวะวิกฤติได้โดยง่าย โดยที่ภาวะวิกฤติบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐได้อย่างสำคัญ รัฐที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติย่อมอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขององค์กรโลกบาล ทั้ง IMF และธนาคารโลก...

รัฐบาลไทยเคยได้รับเงินกู้ฉุกเฉินจาก IMF ปี 2524 เนื่องจากเผชิญปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้ายแรง แต่ถูกตัดเงินกู้เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และเมื่อรัฐบาลไทยกู้เงินฉุกเฉินจาก IMF หลังวิกฤติการณ์ปี 2540 รัฐบาลชวน หลีกภัย ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย อย่างเชื่องๆ โดยไม่ได้คำนึงว่า การดำเนินนโยบายบางข้อ เป็นการให้ยาผิด เช่น การดำเนินนโยบายเกินดุล และบางข้อไม่เกี่ยวกับการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ดังเช่น การถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization)

การปฏิบัติตามอย่างเชื่องๆ มีผลต่อการบั่นทอนทุนทางการเมืองของรัฐบาลชวน และพรรคประชาธิปัตย์อย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤติการณ์ดังกล่าวหลายต่อหลายเรื่องอยู่ในเงื่อนไขการดำเนินนโยบายของเงินกู้ฉุกเฉินนี้

การละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

การให้เครดิตกับกลุ่มเทคโนแครต ในการผลักดันให้ละทิ้ง multiple exchange rate system และหันมาใช้ single exchange rate system ซึ่งไม่ผิดข้อเท็จจริง แต่ถูกไม่หมด เพราะไทยเป็นสมาชิก IMF ตั้งแต่ปี 2492 ในฐานะสมาชิกไทยต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา IMF มีกฎข้อหนึ่งว่า ห้ามภาคีสมาชิกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา รัฐบาลไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรามาตั้งแต่ปี 2489 กว่าจะละทิ้งระบบนี้ก็ปี 2498 กินเวลา 6 ปี หลังจากเป็นภาคีสมาชิก IMF ซึ่งตลอดระยะเวลา IMF กดดันให้รัฐบาลไทยหันไปใช้ single exchange rate system ผ่านบทสนทนาเทคโนแครตของ IMF กับเทคโนแครตไทย

การไม่ให้ความสำคัญกับระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ไม่ได้ตระหนักว่า มาตรา 8 เซ็คชั่น 3 ของ IMF เป็นชนักติดหลังที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติ คือต้องเลิก multiple exchange rate system

ช่วงท้าย ศ.รังสรรค์ อธิบายเหตุใดธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา และนักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราอย่างไร

ผมเรียนรู้มาเป็นเวลาช้านานว่า อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ที่ธปท.นำมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยผ่านกลไก อย่างน้อย 2 กลไก กลไกแรกลดปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ กลไกที่สองได้แก่การกดราคาสินค้้าออกบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าว” การบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศได้จากส่งสินค้าออกรายการสำคัญ โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการ ต่ำกว่าอัตราตลาด ทำให้เงินบาทออกสู่การหมุนเวียนน้อยกว่าที่ควร

การลดปริมาณเงินหมุนเวียนมีผลในการลดการกดดันของเงินเฟ้อ อีกด้านหนึ่งสินค้าออกที่ถูกบังคับขายเงินตราต่างประเทศ ต่ำกว่าอัตราตลาด ย่อมขายได้ราคาเป็นเงินบาทต่ำกว่าที่ควร

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา จึงมีผลในการกดราคาสินค้าออก ที่ถูกบังคับ เมื่อระบบนี้ใช้กับ "ข้าว" ย่อมมีผลในการกดราคาข้าวในประเทศ ทำให้ค่าครองชีพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

เครื่องมือของระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา มีอยู่อย่างน้อย 3 ประเภท

1.รายการสินค้าออกที่บังคับซื้อเงินตราต่างประเทศ

2.อัตราส่วนของเงินตราต่างประเทศที่ซื้อจากการส่งออกที่ถูกบังคับซื้อ เช่น บังคับซื้อทั้งหมด 100% หรือครึ่งเดียว

3.ความนิ่งในการบังคับใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

สำหรับกรณีมีการระบุ นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา และย้ำว่า การละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เป็นการทุบหม้อข้าวนักการเมือง โดยไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่า นักการเมือง แสวงหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราอย่างไร

หากนักการเมืองจะหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา  นักการเมืองต้องเข้าไปแทรกแซงระบบการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เช่น การเลือกประเภทสินค้าส่งออกที่จะบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศทีไ่ด้จากการส่งออก รวมถึงกำหนดสัดส่วนเงินตราต่างประเทศที่จะบังคับซื้อ การเลือกรายการสินค้านำเข้า ที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ

       “ตามความเข้าใจของผม ผู้ส่งออกสินค้าที่ถูกธปท.บังคับให้ขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ ส่วนหนึ่งขายตรงแก่ ธปท. อีกส่วนขายผ่านธนาคารพาณิชย์ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จากนั้นธนาคารพาณิชย์จึงขายต่อให้ ธปท.

ธนาคารพาณิชย์สามารถหากำไรจากความแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยการรายงานเงินตราต่างประเทศที่รับซื้อต่ำกว่าความเป็นจริง หาก ธปท.จับได้ต้องมีการลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ ดังเช่น การปรับสหธนาคารกรุงเทพ ถูกธปท.สั่งปรับ ด้วยกรณีเช่นนี้

สหธนาคารกรุงเทพ วิ่งเต้นนักการเมืองเพื่อให้กดดัน ธปท.ลดค่าปรับ จอมพลสฤษดิ์ ขอให้ "ป๋วย อึ้งภากรณ์" รองผู้ว่าการ ธปท.ในขณะนั้นช่วยลดค่าปรับ โดยอ้างจอมพลสฤษดิ์ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จะเข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารนี้

อาจารย์ป๋วยเสนอให้ผู้ทรงอำนาจทั้งสอง นำเรื่องเข้าครม.เพื่อให้มีมติยกเว้น หรือลดหย่อนค่าปรับ ต่อมาอาจารย์ป๋วย ถูกปลดจากรองผู้ว่าการ ธปท.เดือนธันวาคม 2496”

ฉะนั้นการกล่าวอ้าง นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ทั้งๆ ที่นายธนาคารพาณิชย์เป็นผู้หาประโยชน์โดยตรง นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลเป็นผู้ปกป้องนายธนาคารอีกทอดหนึ่ง

เมื่อรัฐบาลละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ประกอบกับการยุบสำนักงานข้าว มาตรการที่นำมาใช้ทดแทน เพื่อไม่ให้ราคาธัญญพืชเพิ่มสูงมากเกินไป ได้แก่ การเก็บภาษีสินค้าเกษตรรายการสำคัญ และ “การเก็บพรีเมี่ยมข้าว”

ยกย่องจอมพลป. เกินกว่าความเป็นจริง

กรณีผู้เขียนกล่าวว่า “ในขณะที่ความทรงจำในประวัติศาสตร์ต่อยุคจอมพลป.นั้นคือ ยุคทุนนิยมขุนนาง หรือยุคทุนนิยมข้าราชการ ที่รัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างสูง ซึ่งอาจตีความได้ว่า เป็นสาเหตุหนึ่งการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการรัฐประหาร โค่นล้มจอมพลป. จึงเป็นการล้มทุนนิยมขุนนาง และเข้าสู่ยุคสมัยทุนนิยมเสรีหรือทุนนิยมนายธนาคาร”

ความทรงจำหลักนี้ ถือได้ว่า ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันความทรงจำหลักนี้ ก็มองข้าม "หน่ออ่อน" ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.

ข้อถกเถียงหลักในข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ปลูกหน่ออ่อนแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเองหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด หนังสือของอาจารย์อภิชาติยกย่องจอมพลป.พิบูลสงคราม เกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกย่องว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ จากนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม สู่นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม  โดยไม่ได้คำนึงถึงพันธะที่รัฐบาลไทยมีต่อ IMF และธนาคารโลก และพันธะที่มีต่อสหรัฐฯ รวมทั้งยังลดทอนกลุ่มขุนนางวิชาการ ที่ผลักดันสังคมเศรษฐกิจไทยไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม..

หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงการแทรกแซงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจอมพลป.ด้วยสำเนียง ส่อไปในทางยกย่อง จอมพลป.ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ มิต้องกล่าวถึงความรู้ด้านการเงินระหว่างประเทศ...

หากจอมพลป.มีอัจริยภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจดังที่ผู้เขียนกล่าวเป็นนัย เหตุใดจอมพลป.จึงไม่ผลักดันให้สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ สถาปนาตั้งแต่ปี 2493 มีบทบาทที่กระฉับกระเฉงมากกว่าที่เป็นอยู่จริง โดยที่มิได้มีบทบาทในการสร้างหน่ออ่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแม้แต่น้อย

ด้วยเหตุนี้ตลอดทศวรรษ 2490 เกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของระบบเศรษฐกิจไทยเลย และอาจช่วยให้เข้าใจได้อีกว่า ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงไม่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.

ขอบคุณบทความจาก www.isra.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: