ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล: ผู้บุกเบิกศาสตร์แห่งการมองเห็น ‘ทัศนมาตรศาสตร์’

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 18 พ.ย. 2557


พูดถึงวิชา ‘ทัศนมาตรศาสตร์’ หลายคนยังไม่รู้จัก บางคนเคยได้ยิน แต่ไม่แน่ใจ หนักกว่านั้นคือเข้าใจผิด คิดว่าเรียนไปเป็นช่างตัดแว่น ทั้งที่การตัดแว่นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของศาสตร์นี้ ศาสตร์ที่ว่าด้วยระบบการมองเห็นของมนุษย์

ทัศนมาตรศาสตร์เกิดขึ้นในไทยประมาณปี 2545 ปัจจุบันผลิตบุคลากรได้ 88 คนต่อปี แต่ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นคนบุกเบิกวิชานี้ในไทยและเป็นคนไทยคนแรกที่จบทัศนมาตรศาสตร์จากอเมริกา ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นความตั้งใจประการหนึ่งของ ดร.ดนัย ที่ต้องการสร้างสาขาทัศนมาตรศาสตร์ในเมืองไทย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่กำลังมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในยามที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ความเข้าใจของประชาชนมีน้อยมาก ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การเดินเข้าร้านตัดแว่นและออกมาพร้อมแว่นใหม่ก็เพียงพอแล้ว แต่ไม่ใช่

รู้จักศาสตร์แห่งการมองเห็น ความสำคัญ และอนาคตที่ไทยต้องเตรียมรับมือ

TCIJ: ทัศนมาตรศาสตร์คืออะไร

ดนัย: ทัศนมาตรศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยระบบการเห็น ปกติเราคิดว่าเราเห็นด้วยตา แต่ผมแย้งว่าเราไม่ได้เห็นด้วยตา เราเห็นด้วยสมอง ตาเป็นแค่อวัยวะรับภาพ รับข้อมูลจากภายนอกให้เข้ามาผ่านกระบวนการในสมอง ดังนั้น พอเราพูดถึงระบบการเห็น เรากำลังพูดถึงระบบประสาท ระบบที่สนับสนุนระบบประสาท โครงสร้างสมอง กะโหลก ผมบอกเด็กว่า ตราบใดที่ลูกตาคุณยังติดกับกะโหลก คุณจะต้องเรียนเกี่ยวกับกะโหลกและสมอง เพราะว่าคุณไม่ได้เห็นที่ลูกตา คุณเห็นที่สมอง ดังนั้น เมื่อพูดถึงทัศนมาตรศาสตร์จึงกินความถึงสิ่งที่คนไข้เห็นเข้ามาที่ตา และกระจายข้อมูลทั้งหมดให้สมองรับรู้ เรียนรู้ จนถึงการมีทักษะในการใช้สายตา ซึ่งทักษะการใช้สายตาของคนแต่ละคนเกิดมาไม่เท่ากัน

จักษุแพทย์ตรวจเพื่อหาว่าอะไรที่ต้องผ่าตัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ผ่าไปแล้วตาจะใช้งานได้ตามปกติหรือเปล่า ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของจักษุแพทย์ พูดคือจักษุแพทย์รักษาโรคเป็นหลัก แต่นักทัศนมาตรทำให้ระบบการเห็นทำงานได้อย่างที่คุณต้องการให้มันทำงาน อะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการมองเห็นในชีวิตประจำวันของคน นี่คือสิ่งที่นักทัศนมาตรตั้งคำถามมากกว่าที่จะบอกว่าตามีความผิดปกติอย่างไร

TCIJ: ทักษะในการใช้สายตา?

ดนัย: คุณจะเห็นว่าบางคนใช้สมาร์ทโฟน ใช้แท็บเล็ต วันละหลายๆ ชั่วโมงไม่มีปัญหา บางคนดูได้แค่ 30 นาทีก็เริ่มมีปัญหาแล้ว นี่คือทักษะการใช้สายตา แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่แบเบาะ เราไม่รู้ว่าเราฝึก แต่เราฝึกมาโดยตลอด ทำให้ระบบการควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา การที่สามารถอ่านหนังสือบนรถที่เคลื่อนไหวตลอด ไม่เป็นปัญหาเลย นี่คือสิ่งที่บอกชัดเจนว่า การเห็นไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้บนหินว่าเราจะต้องเห็นเวลาที่เราเกิด แต่เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา บางคนฝึกไปฝึกมา ทักษะในการเห็นเกิดไม่ดีกลายเป็นตาเข ตาขี้เกียจ สิ่งเหล่านี้บางครั้งสังคมเราคุ้นเคยกับการปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม โดยที่ไม่รู้ว่ามันรักษาได้

TCIJ: เป็นเพราะครอบครัวคุณทำแว่นด้วยหรือเปล่า จึงทำให้คุณสนใจเรียนด้านทัศนมาตรศาสตร์

ดนัย: นั่นน่าจะเป็นเหตุผลแรก เดิมทีผมตั้งใจจะสืบทอดกิจการของครอบครัว ทีนี้ช่วงที่ฝึกงานอยู่ จบ ม.6 แล้ว ก็เริ่มทำแว่น ตรวจสายตา ส่งแว่นให้คนที่มาตรวจ ก็มีความรู้สึกว่าเราทำแว่นได้ เขาใส่แว่นได้ แต่เราไม่รู้ว่าค่าสายตาที่เราให้มันดีที่สุดหรือยัง มีอะไรที่ดีกว่านี้อีกมั้ย หรือลูกค้ามีปัญหาในตาอย่างอื่นหรือเปล่า บางคนบอกว่าไม่รู้ก็ไม่ผิด แต่เรื่องบางเรื่องที่เกี่ยวกับตา เราไม่มีความรู้ที่จะไปบอกเขา อย่างเรื่องต้อ เราก็ไม่รู้ เรารู้แต่ว่าเราทำแว่นได้

พอคำถามันเยอะเข้าๆ ที่บ้านก็ทำแว่นมานาน 40 กว่าปี ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แต่เขาก็ไม่มีคำตอบให้ คงต้องไปเรียนเองแล้วแหละ ในยุคนั้นคุณพ่อบอกว่ามันมีสองที่ คือฟิลิปปินส์กับอเมริกา ตอนแรกคิดว่าจะไปฟิลิปปินส์เพราะว่าเร็ว กลับมาก็ทำงานเลย แล้วก็มีคนบอกว่าสาขาวิชานี้ในอเมริกา มันยากพอๆ กับหมอและไม่เคยมีคนไทยจบมาก่อน เราจึงคิดว่า ไหนๆ จะเรียนแล้วก็ขอทำให้มันเต็มที่ จึงตัดสินใจไปเรียนที่อเมริกา ซึ่งมันก็ยากจริงๆ ผมไปเรียนตอนปี 2535 ไปแบบมืดๆ มึนๆ ไปคลำเอาเอง เป็นประสบการณ์พอสมควร

ตอนแรกไปเรียนที่ Boston College ไปเรียนทางด้านชีววิทยาทั่วไป แล้วรู้สึกว่าในเมืองค่าครองชีพแพงมากเลยทำการย้ายตัวเองไปอยู่รัฐโอกลาโฮมา ค่าครองชีพถูกกว่าเยอะ ไปเรียนที่นั่นจนกระทั่งจบปริญญาตรีทางด้านชีววิทยาโมเลกุล ยังเรียนทัศนมาตรศาสตร์ไม่ได้ เพราะว่าต้องไปเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้จบ ต้องเรียน Prerequisite หรือวิชาพื้นฐานที่จำเป็นก่อน ถึงจะเข้าโปรแกรมของทัศนมาตรศาสตร์ ซึ่งเป็น Post Graduate ทั้งหมดเลย เป็น Doctoral Program เมื่อจบด้านนี้ก็จะเป็น Doctorate เพราะฉะนั้นคุณต้องเรียนปริญญาตรีก่อนถึงจะสมัครได้ ถ้าได้ก็เรียนรวดเดียวอย่างน้อยอีก 4 ปี เขาก็จะให้ปริญญาเอกเลย บางคนใช้เวลาเยอะมาก เพราะมันมี Prerequisite ซึ่งค่อนข้างยาก

TCIJ: ทำไมการจะเรียนทัศนมาตรศาสตร์ในอเมริกาถึงได้ยากเย็นขนาดนั้น

ดนัย: เพราะคุณรับผิดชอบคน ที่อเมริกา วิชาทัศนมาตรศาสตร์มีสิทธิ์ในการรักษาเทียบเท่ากับแพทย์ทั่วไปของเขา แต่มีความเฉพาะทางด้านตา เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การรักษาคน เน้นทางด้านตาที่ไม่ใช่การผ่าตัดตา นักทัศนมาตรสามารถทำได้หมด ถือว่าเป็นหมอคนหนึ่ง ที่ผมเคยฝึกงานที่อเมริกาจะมีนักทัศนมาตรทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ เราตรวจก่อน แล้วถ้าเห็นว่าควรจะใช้ทักษะหรือสิ่งที่จักษุแพทย์ต้องทำ เราก็จะส่งคนไข้ให้กับจักษุแพทย์ ซึ่งที่อเมริกา จักษุแพทย์ถือเป็นมืออาชีพทางด้านการผ่าตัด เขาจะไม่ค่อยตรวจคนไข้ที่ไม่ต้องผ่า คนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอันตราย เขาก็จะไม่ค่อยดู จะให้นักทัศนมาตรดูแลก่อน

TCIJ: ตอนที่คุณเริ่มบุกเบิกวิชานี้ในไทย อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด

ดนัย: การอธิบายให้หน่วยงานของรัฐทราบว่า ทัศนมาตรศาสตร์คืออะไร ทุกที่ก็ถามคำถามนี้ แล้วก็นั่งคุยกันครึ่งวัน ไม่ได้ทำอะไร แค่บอกว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ไปขายแว่น แต่เรามีหน้าที่ตรวจตา นี่คือสิ่งที่ต้องบอกหน่วยงานของรัฐทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปพบกับหน่วยงานของรัฐ

TCIJ: การที่บางคนเข้าใจว่านักทัศนมาตรคือช่างตัดแว่นก็เป็นความเข้าใจที่ผิด

ดนัย: การตัดแว่นเป็นแค่อุปกรณ์หนึ่งหรือยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสายตา ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่คนเห็นง่ายที่สุด การเป็นนักทัศนมาตรกับการเป็นช่างแว่นจึงต่างกันมาก ต่างกันในเชิงที่ว่าช่างแว่นคำนึงถึงว่าแว่นจะดียังไง แต่นักทัศนมาตรไม่ได้คำนึงตรงนั้น เราคำนึงถึงว่าสายตาของคนคนหนึ่งมันเพียงพอสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ จะใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ แว่นก็ได้ หรือจะเป็นการบริหารกล้ามเนื้อตาก็ได้ คอนแท็กเลนส์ หรือต้องไปรักษาอาการบางอย่างก่อนที่ไม่เกี่ยวกับตาเลย เช่น เบาหวาน ความดันสูง เพราะฉะนั้นนักทัศนมาตรต้องเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ว่า อะไรเกิดขึ้นบ้างในร่างกายของคนไข้

ที่เราต้องเรียนกัน 6 ปีเพราะแบบนี้ คือต้องเรียนก่อนว่าร่างกายปกติเป็นยังไง มันมีปฏิสัมพันธ์กับระบบการเห็นยังไง สมองประกอบสร้างโลกที่เราเห็นอย่างไร กระบวนการพวกนี้เป็นรายละเอียดมาก ไม่ใช่แค่การทำงานของสมอง แต่เป็นเรื่องของประสาทสัมผัสทั้งหมดที่เข้ามา แล้วเราประมวลผล จึงต้องใช้เวลาในการเรียนเยอะพอสมควรว่าร่างกายปกติเป็นอย่างไร แล้วจึงมาเรียนว่าคนที่ผิดปกติเป็นอย่างไร ระบบการเห็นที่ผิดปกติเป็นอย่างไร

TCIJ: ปัจจุบันเราผลิตนักทัศนมาตรได้กี่คนต่อปี และถือว่าพอเพียงหรือเปล่า

ดนัย: เท่าที่ผมคุยกับอีกสองสามมหาวิทยาลัยที่ผลิตอยู่และกำลังจะผลิต ถ้าผลิตแบบเต็มประสิทธิภาพรวมทุกมหาวิทยาลัย ปีหนึ่งจะผลิตได้ประมาณ 100 กว่าคน แต่ก็ยังไม่พอ ช่วงปี 2533 ทางสภาทัศนมาตรศาสตร์สากลเคยคำนวณไว้ว่า ประเทศไทยควรต้องมีนักทัศนมาตรขั้นต่ำ 600 คน เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน วันนี้เราก็ลองคำนวณดูโดยใช้อัตราส่วนเดียวกัน ตอนนี้เราควรมีนักทัศนมาตรขั้นต่ำประมาณ 700 กว่าคน วันนี้เรามี 88 คน จำนวนนี้แค่ 7 ปีเราก็ผลิตได้ แต่อย่าลืมว่านี่คือขั้นต่ำ เราอยากได้มาตรฐานคุณภาพชีวิตยังไง ถ้าอยากได้แบบประเทศพัฒนาแล้ว 700 กว่าคนนี่ไม่ใช่ ต้องมากกว่านี้ 13 เท่า

แต่รอบบ้านเราตอนนี้มีนักทัศนมาตรจ่ออยู่ที่พรมแดนเป็นหมื่น แล้วเขาก็รอเออีซี เมื่อถึงตอนนั้นคนเหล่านี้สามารถข้ามพรมแดนมาได้ แต่บ้านเราไม่เคยมีมาตรฐานบุคลากรที่จะทำงานด้านสายตา นี่คือเหตุผลเร่งด่วนว่าทำไมเราต้องรีบทำเรื่องการศึกษาก่อน

TCIJ: ถ้าร้านแว่นทุกร้านต้องมีนักทัศนมาตรประจำ ต้นทุนของประชาชนในการเข้าถึงแว่นตาจะสูงขึ้นหรือเปล่า

ดนัย: แว่นตาของเราราคาถูกหรือแพง? ราคาแว่นตาของเราไม่ได้ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เขามีนักทัศนมาตร และมันจะไม่ทำให้ราคาแว่นตาบ้านเราเปลี่ยนไป เพราะนักทัศนมาตรไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับราคาแว่น ราคาแว่นเป็นเรื่องที่ช่างแว่นเป็นคนตั้งและเขาได้บวกค่านักทัศนมาตรลงไปในราคาแว่นแล้ว โดยที่เขาไม่มีนักทัศนมาตร

นี่คือเหตุผลว่า จริงๆ แล้วแว่นแพงเพราะอะไร แว่นแพงเพราะต้องมีนักทัศนมาตรอยู่ ส่วนใหญ่บวกไว้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้สำหรับนักทัศนมาตร แต่แว่นบ้านเราราคาไม่ได้แตกต่างจากของเพื่อนบ้านที่มีนักทัศนมาตรสักเท่าไหร่ ราคาเท่าๆ กันหรือมากกว่าด้วยซ้ำ แต่เรากลับไม่มีนักทัศนมาตร ใครรวยครับ ผู้บริโภคควรได้รับการตรวจที่คุ้มค่า เพราะผู้บริโภคหลายรายเชื่อว่าไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตรวจความเป็นไปทุกอย่างในลูกตาหมดแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ คอมพิวเตอร์จะวัดแค่โฟกัส ณ จุดนั้นและวัดได้เฉพาะดูไกลเท่านั้น ดูใกล้วัดไม่ได้  การดูใกล้ของสายตาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คอมพิวเตอร์วัดได้แต่ค่าสายตา เขาดูไม่ได้ว่าคุณเป็นต้อมั้ย จอตามีปัญหาหรือเปล่า หรือวุ้นในตาเสื่อมหรือเปล่า โรคที่ควรจะดูเช่นเบาหวานก็ไม่ได้ดู มีเนื้องอกในสมองหรือเปล่า

TCIJ: แต่คนที่เข้าร้านแว่นส่วนใหญ่ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนไข้ แค่รู้สึกว่าสายตามีปัญหาจึงต้องตัดแว่น

ดนัย: ใช่ แต่ตามองไม่ชัดมีหลายสาเหตุ ตาสั้น ตายาวก็ได้ หรือเป็นเพราะน้ำตาลในเลือดสูงก็ได้ เป็นมะเร็งในสมองก็ตามัวได้เหมือนกัน การตามัวเป็นเพียงอาการ แต่คนที่จะมาคัดกรองมีความรู้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เข้าใจเพียงว่าถ้าผ่านเครื่องตรวจตาแล้ว ปลอดภัยแล้ว ได้รับการตรวจที่ดีแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ต่อไปถ้าร้านขายแว่นตาต้องการให้บริการสุขอนามัยทางด้านตาที่ดีก็ควรต้องมีนักทัศนมาตร แต่ถ้าต้องการขายสินค้าหรือขายแว่นอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องมี ตอนนี้การกระจายยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีจำนวนนักทัศนมาตรถึงจุดที่ผมเรียกว่า Critical Mass หน่วยงานของรัฐจะเข้ามาและคงจะเข้ามาเร็วๆ นี้ในการทำให้จำนวนนักทัศนมาตรสามารถกระจายตัวไปอยู่ตามจุดต่างๆ ที่จะบริการประชาชนได้ดีขึ้น

TCIJ: แล้วกับคนพิการทางสายตา นักทัศนมาตรจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า

ดนัย: เกี่ยวสิครับ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสายตาแก่คนพิการทางสายตาเป็นหน้าที่โดยตรงของนักทัศนมาตร ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์นะครับ เพราะคนพิการทางสายตามีหลายประเภท ถ้าบอดสนิทเลยเราทำอะไรไม่ได้ แต่ความพิการบางอย่างไม่ได้ตาบอดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีระดับของความพิการอยู่ที่เราสามารถฟื้นสภาพให้ดีขึ้น ให้เขาใช้สายตาช่วยตัวเองได้ เราเรียกกลุ่มนี้ว่าสายตาเลือนลาง

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับความสนใจ ซึ่งจะเป็นปัญหาสาธารณสุขในอนาคตด้วย กลุ่มสายตาเลือนลางเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านจอตา เช่น คนที่มีอายุมากๆ จอตาเสื่อม จะเริ่มเข้าสู่ภาวะสายตาเลือนลาง สิ่งที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ เช่น การเดินไปเดินมาในบ้าน เราสามารถให้อุปกรณ์ที่ช่วยให้เขาสามารถเดินไปเดินมาในบ้านได้ เราสามารถให้กล้องโทรทัศน์เพื่อให้เขาดูได้ว่าเตาแก๊สเปิดหรือปิดอยู่ หรืออาจให้กล้องวิดิโอเพื่อขยายหนังสือแล้วโปรเจ็กต์ภาพขึ้นมาให้เขาอ่านหนังสือได้ กลุ่มสายตาเลือนลางมีเยอะและไม่จำเป็นต้องแก่เสมอไป แต่บุคลากรที่จะฝึกคนกลุ่มนี้และทำการตรวจว่าใช้อุปกรณ์อะไรได้บ้าง ในบ้านเราไม่มี มีก็น้อยมากหรือไม่ได้ฝึกมาโดยตรง

TCIJ: การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องสายตาจะกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน

ดนัย: เป็นปัญหาที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญมาก ถึงขนาดว่าเขาตั้งกลุ่มนักวิชาการด้านสาธารณสุขเพื่อศึกษาว่า ประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลกเตรียมบุคลากรพร้อมรองรับการชราภาพของประชากรหรือเปล่า มีหลายประเทศที่ไม่พร้อม แล้วกลุ่มประเทศของเราเป็นกลุ่มประเทศที่แปลกประหลาด ประเทศส่วนใหญ่รวยแล้วถึงจะมีประชากรชรา แต่บ้านเรา ประชากรชราก่อนที่ประเทศจะร่ำรวย ซึ่งเป็นเรื่องวิกฤตมาก เนื่องจากขณะนี้เราไม่มีทรัพยากรในการดูแลปัญหาด้านนี้

ไม่ต้องแก่มาก อายุประมาณ 40 ก็ควรต้องใช้บริการทางด้านสายตาอย่างน้อย 1 ครั้ง ทำอะไรครับ แว่นดูหนังสือ งานด้านทัศนมาตรจึงเป็นงานที่ยังมีความต้องการบุคลากรอีกมาก ตอนนี้แพทยสภาให้การยอมรับนักทัศนมาตรเป็นบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ เพียงแต่ยังมีจำนวนไม่มาก มีแค่ 88 คน คงใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ขณะนี้นักทัศนมาตรถ้ามีหนังสืออนุญาตถูกต้องสามารถไปอยู่ตามโรงพยาบาลได้ เพียงแต่ว่าสังคมยังไม่ทราบ เนื่องจากบุคลากรเรายังไม่เยอะพอ ผมคิดว่าหลายๆ หน่วยงานทราบแล้ว และถ้าเป็นหน่วยงานทางด้านสายตา เขาก็รู้ดีว่าจักษุแพทย์หนึ่งคนต้องมีนักทัศนมาตรทำงานด้วย 2-4 คน บ้านเรามีจักษุแพทย์ประมาณ 1,000 คน วันนี้ก็ควรต้องมีนักทัศนมาตรอย่างต่ำประมาณ 2,000 คน แต่เรายังต้องใช้เวลาในการผลิตพอสมควร

TCIJ: คุณวางแผนพัฒนาทัศนมาตรศาสตร์ในอนาคตอย่างไร

ดนัย: ศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่เพิ่งเกิดในบ้านเรา ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ยังมีอยู่น้อย เราต้องนำเข้าองค์ความรู้เข้ามา สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือสร้างบุคลากรของเรา แล้วส่งเขาไปเรียนต่อเพื่อให้เขานำความรู้เข้ามาในบ้านเรา ก็มีสองสามสาขาย่อยที่เราอยากจะทำก่อน เช่น กุมารทัศนมาตร กลุ่มสายตาเลือนลาง เลนส์สัมผัสสำหรับกระจกตาพิการ เป็นต้น ซึ่งเราอยากจะนำความรู้เหล่านี้เข้ามา เพราะฉะนั้นในอนาคต นักทัศนมาตรก็จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น

ถึงจุดหนึ่งเราก็จะผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้เอง ตอนนี้ต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญเข้ามาก่อน แต่จากสิบปีที่เรามีประสบการณ์มันไม่เวิร์คร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าอาจารย์ฝรั่งไม่เข้าใจบริบทสังคมไทยดีเท่าเรา ที่สำคัญคือเขายังไม่เข้าใจความเป็นไปของประเทศไทยที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เช่น คอนแท็กส์เลนส์ เรามีวัสดุชนิดใหม่เกิดขึ้นในโลกสามารถใส่ต่อเนื่องได้ 30 วันโดยไม่ต้องถอดออก แต่นั่นคือในประเทศของฝรั่ง บ้านเราใส่แบบนั้นไม่ได้ เพราะบ้านเรามีอนุภาคขนาดเล็กฟุ้งอยู่ในอากาศเยอะ พวกเกษร เชื้อรา มันเยอะมาก ถ้าใส่โดยไม่ถอด 30 วัน รับรองตาติดเชื้อแน่ ตรงนี้แหละครับคือบริบทที่ต่างกัน

อีกเรื่องคือเราพยายามจะดีลกับร้านแว่น เราพบว่าปัญหาหลักๆ ของเขาคือบุคลากรไม่มีความรู้หรือมีไม่พอ ในอดีตอาจจะมีความรู้ที่จะทำแว่นได้ แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป ความรู้ทางด้านระบบการเห็นหรือด้านสุขภาพตามันเปลี่ยนไป เราจะพยายามทำในลักษณะของการค่อยๆ ให้ความรู้ในกลุ่มของร้านแว่น เช่น การอบรม การอภิปราย การสัมนา หรือการพิมพ์ตำรา เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น แต่ถามว่าร้านแว่นจะล้มหายตายไปหลังจากมีนักทัศนมาตรมั้ย ไม่ และเราคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราจำเป็นต้องใช้บริการของร้านแว่น เพียงแต่ต้องการให้เขาบริการแก่ประชาชนด้วยความมั่นใจมากขึ้นและคุณภาพการบริการที่ดีกว่านี้

TCIJ: คุณบอกว่ามีนักทัศนมาตรในประเทศรอเข้าไทยจำนวนมาก ถ้าเราเปิดเออีซีให้มีการข้ามพรมแดนแล้ว มันจะส่งผลกระทบอะไรต่อไทยบ้าง

ดนัย: ผลกระทบในเชิงบวกคือประชาชนมีตัวเลือกเยอะขึ้น การบริการมีความเป็นวิชาการมากขึ้นแน่นอน ส่วนเชิงลบคือเราไม่สามารถคัดคุณภาพได้ เพราะเขามีสิทธิ์ เขาก็เข้ามา ยกเว้นในกรณีที่เราเตรียมมาตรการด้านการควบคุมบุคลากรที่ด้อยคุณภาพไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมกับกระทรวงสาธารณสุขกำลังทำร่วมกับสาขาการประกอบโรคศิลป์อื่นๆ เพื่อที่จะให้มีระดับขั้นตอนว่า ถ้าคุณจะเข้ามา คุณต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้ๆ แต่ถ้าเราทำหรือประกาศใช้ไม่ทัน ผลเสียก็จะตกอยู่กับประชาชน

TCIJ: ทุกวันนี้เราต้องอยู่อุปกรณ์สื่อสารมากมาย เราจะดูแลสายตาตัวเองได้อย่างไร

ดนัย: จริงๆ ระบบของตาไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง อ่านหนังสือก็เหมือนกัน ไม่ได้ถูกสร้างมาให้อ่านหลายชั่วโมงนะครับ ระบบของตาถูกสร้างขึ้นมาสำหรับดูอะไรใกล้ๆ ไม่เกิน 45 นาที หลังจากนั้นคุณจะเริ่มรู้สึกล้าแล้ว ตามปกติ เราจะแนะนำว่า ถ้าจะให้ประสิทธิภาพในการมองหรือประสิทธิภาพในการอ่าน 45 นาทีคุณต้องรีเซ็ทสายตาด้วยการพักสายตา ซึ่งทำได้ด้วยการมองทอดสายตาไปไกลๆ เปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 5-10 นาทีก่อนจะกลับมาทำงานใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะเพลิน ลืมพัก ก็จะเริ่มปวดหัว ปวดตา ตาร้อนผ่าวๆ ที่สำคัญคืออย่าหาอะไรมาหยอด ถ้าไม่ใช่สิ่งที่หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ยืนยันว่าปลอดภัย

TCIJ: ขอคำถามสุดท้ายครับ โฆษณาเครื่องดื่มที่ทานแล้วดวงตามีสุขภาพดีและตาใสเป็นประกาย มันช่วยได้จริงหรือเปล่า?

ดนัย: มันก็อร่อยดีนะครับ (หัวเราะ) มันมีวิตามินเอ ผมไม่เถียง แต่มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง คือวิตามินเอมันช่วยบำรุงประสาทตา แต่มันไม่ช่วยให้ตาวิ๊งขึ้นมา ที่ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งคือกินแล้วอร่อย แต่ถ้าใครจะไม่กินก็คงไม่เป็นไรมั้ง ยกเว้นคุณขาดวิตามินเอจริงๆ ซึ่งน้อยคนที่จะขาด ส่วนใหญ่มักจะได้จากอาหารพออยู่แล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: