บทวิเคราะห์ : ความเพ้อฝันในฐานะรากฐานของการเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 18 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 3107 ครั้ง

เวลาผู้ชุมนุมประทุษร้ายผู้อื่นถึงขั้นใช้อาวุธ มุมมองที่ต่างประเทศมีต่อกปปส. กลับคล้ายกัน นั่นคือกปปส.เป็นการชุมนุมของพวกต่อต้านประชาธิปไตย

สำหรับคนที่มอง กปปส.แบบนี้ คำอธิบายที่แพร่หลายคือ กปปส.เกิดจากการชี้นำของชนชั้นสูงในสังคม ผู้นำของการชุมนุมจึงวนเวียนอยู่กับคนในตระกูลเก่าแก่ ราชนิกูล ทายาททุนธนาคาร ลูกหลานนายหัว อดีตนายพล ฯลฯ ผลก็คือการชุมนุมดูคล้ายการรวมตัวของอภิสิทธิ์ชนที่ใหญ่โต จนทำได้แม้เรื่องอุกอาจอย่างล้มการเลือกตั้ง ขโมยบัตรเลือกตั้งไปทิ้ง เรียกร้องรัฐประหาร ขอนายกฯพระราชทาน รวมทั้งเสนอให้ล้มระบอบการปกครองในปัจจุบัน

เราอาจเรียกคำอธิบายนี้อย่างสั้น ๆ ว่าทฤษฎี กปปส.เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน

อย่างไรก็ดี ความอิหลักอิเหลื่อของทฤษฎีนี้คือ มีผู้ชุมนุมกปปส.จำนวนไม่น้อย ที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างบริษัทระดับกลาง แม่ค้าพุงปลา ครูวัยเกษียณ เอ็นจีโอ ที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจแทบเป็นศูนย์ ฯลฯ ซึ่งไม่มีวงศ์วานกับตระกูลเก่าแก่ไหนในสังคม ทฤษฎีชนชั้นจึงอธิบายการชุมนุมได้ไม่สมบูรณ์นัก แนวอธิบายอีกข้อจึงหันไปให้น้ำหนักกับความคิดของผู้ชุมนุม นั่นคือ กปปส.เป็นการรวมตัวของคนที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับคนที่มอง กปปส.แบบนี้ คำอธิบายที่แพร่หลายคือ แม้กปปส.จะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขามีแก่นแท้ ที่มุ่งกัดกร่อนประชาธิปไตยรัฐสภา เพื่อทำให้คนส่วนน้อยยึดอำนาจจากคนส่วนใหญ่ไปในที่สุด ยิ่งกว่านั้นคือ กปปส.ไม่สนใจการลดทอนอำนาจตุลาการและอิทธิพลของกองทัพที่เพิ่มขึ้นมหาศาลหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมทั้งไม่เคยเสนออะไรที่จะทำให้ประชาชนมีอำนาจการเมืองโดยตรง

ในคำอธิบายนี้ กปปส.เป็นที่รวมคนจากทุกกลุ่มทุกชนชั้นที่มีทัศนคติแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

แน่นอนว่าปัญหาของคำอธิบายนี้คือ กปปส.ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเป็นพวกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย แต่การสำรวจของมูลนิธิเอเชียชิ้นล่าสุดก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ชุมนุมร้อยละ 40 ไปเพื่อขับไล่คนนามสกุลชินวัตร พวกที่ต้องการปกป้องกษัตริย์และปฏิรูปประเทศนั้นมีเท่ากันคือร้อยละ 15 ส่วนพวกที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยมีเพียงร้อยละ 7 ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จึงไม่ได้สนใจประชาธิปไตย เว้นแต่จะบอกว่าประชาธิปไตย คือการเลือกปฏิบัติต่อคนบางตระกูล

ผลสำรวจนี้น่าสนใจตรงที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องใหญ่สำหรับขบวนการเป่านกหวีด คือการขับไล่คนนามสกุลชินวัตร การปฏิรูปและประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เป้าหมายจริงของคนกลุ่มนี้ ในแง่นี้ก็ถูก ที่จะบอกว่าพวกเขาไม่ใช่มวลชนฝ่ายปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะวิธีคิดของพวกเขาสนใจประชาธิปไตยน้อยมาก      เมื่อเทียบกับเรื่องปฏิรูปประเทศหรือปกป้องกษัตริย์ (ซึ่งการสำรวจไม่ได้ให้รายละเอียดว่าสองเรื่องนี้หมายความถึงอะไร)

ท่ามกลางความขาดๆ เกินๆ และลุ่มๆ ดอนๆ ของคำอธิบายทั้งสองแบบ ผมเสนอว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกปปส.ผ่านคำอธิบายแบบที่สาม ซึ่งที่จริงก็มีด้านที่เชื่อมโยงกับคำอธิบายสองแบบแรก นั่นคือ กปปส.ไม่ใช่องค์กรของคนชั้นสูงล้วน ๆ และกปปส.ก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพื่อตอบปัญหาของระบอบประชาธิปไตย แต่ กปปส.เป็นเรื่องของ “เครือข่าย” ซึ่งคนชั้นสูงใช้ภาพความเป็นผู้ดีมีศีลธรรม ไปยั่วคนธรรมดาจนยอมเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่าย” นี้

ในแง่นี้แล้ว กปปส.เป็นภาพสะท้อนของระบบอุปถัมภ์ทางวัฒนธรรม ที่บางอย่างเป็นนายในจินตนาการเหนือคนธรรมดา ตั้งแต่หมอ คนรับจ้างสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย อธิการบดี ผู้กำกับหนังอิสระ ดารา  สมาคมสื่อ บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น เจ้าแม่เงินกู้ในตลาด ทนายความนักพูด เจ๊เจ้าของร้านเพชร นักข่าวภาคสนาม ฯลฯ ซึ่งเข้าใจไปเองว่าการเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่าย” คือบรรดาศักดิ์จำแลงสู่ของความมีสถานะเหนือคนอื่นในสังคม

พูดอีกแบบก็คือ บรรดาลูกหลานไพร่และชนชั้นไร้ฐานันดร ที่พากันลงขันและเป่านกหวีดเพื่อปกป้อง “เครือข่าย” กระทำการทั้งหมดไปตามสถานะที่เกิดจากการคิดไปเองอย่างยามเฝ้าแผ่นดิน / ประชาชนของพระราชา การเสพติดจินตนาการนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้หลงใหลการยกระดับตัวเองสู่ยอดของระบบอุปถัมภ์ในจินตนาการให้สูงที่สุด ผลก็คือการหลุดลอยจากความเป็นจริงรอบตัว จนเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมกับมนุษย์คนอื่นอย่างแสนพร่าเลือน

ที่จริงการผสมผสานระหว่างจินตนาการกับการสร้างการเมืองจากจินตนาการนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างคือเยอรมันทศวรรษ 1920 เต็มไปด้วยหนังสือที่พูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความล่มสลายของระบอบการปกครองที่มีอยู่เดิม ผลก็คือผู้คนเชื่อในความรุ่งเรืองของระบอบใหม่ที่รวมศูนย์แบบเผด็จการแต่มีวิทยาการสูงจนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบนี้ แม้แต่การยอมรับลัทธินาซี ทำสงครามโลกครั้งที่สอง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แน่นอนว่าสังคมไทยมีวิธีจินตนาการ และการสร้างการเมืองบนจินตนาการที่กลับตาลปัตรกับเยอรมัน เพราะในช่วงที่ผ่านมา สิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่เชิดชูความรุ่งเรืองในอดีต ฟุ้งกระจายในรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่ภาพยนตร์ ละคร เพลง มิวสิควีดีโอประกอบมหรสพ อีเมล์ลูกโซ่ เรื่องเล่าในเฟซบุ๊ค คำขวัญชี้นำชีวิต ละครน้ำเน่า สปอตโฆษณา รัฐพิธี คำสอนทางศาสนา ฯลฯ ซึ่งผลิตซ้ำเนื้อหาทำนองเดียวกันทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

การทำให้อดีตยิ่งใหญ่เกินจริงแบบนี้ ทำให้ผู้คนยอมรับให้ทำอะไรก็ได้ในนามของการรื้อฟื้นส่วนของระบบเก่าซึ่งคิดไปเองว่าดี

นอกเหนือจากความลุ่มหลงกับความดีงามและยิ่งใหญ่ในอดีต ระบบจินตนาการในสังคมไทยยังทำงาน โดยวิธีสร้างความรู้สึกหดหู่สิ้นหวัง ต่อสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน จนเกินระดับปัญหาที่เป็นจริงมาก ผลก็คือตลาดเสรีเท่ากับทุนสามานย์ ประชาธิปไตยเท่ากับลัทธิซื้อเสียง ประชาชนกลายเป็นขี้ข้า ประชานิยมเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐสภาคือระบอบทรราชย์  ไม่ต้องพูดถึงตัวอย่างอีกมากที่แสดงภาวะวิตกจริตต่อสภาพปัจจุบันจนล้นเกิน

ที่จริงวัฒนธรรมการเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องเหลวไหล และบิดเบือนหลักวิชาก็มีส่วนตอกย้ำภาวะวิตกจริตกับปัจจุบันแบบนี้ด้วย ตัวอย่างเช่นวาทกรรมว่าประชาธิปไตยเหมาะกับผู้มีการศึกษานั้น เป็นสามัญสำนึกที่รองรับรัฐประหารและการละเมิดสิทธิเลือกตั้งของคนทั้งหมด วาทกรรมนี้ถูกตั้งคำถามน้อย จนแม้ตัวเลขการขยายตัวทางการศึกษาก็เปลี่ยนวาทกรรมนี้ไม่ได้ ผลก็คือ การเลือกตั้งกลายเป็นการขายชาติ ส่วนผู้ไปใช้สิทธิก็ถูกทำร้ายได้ตามอำเภอใจ

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยจากพันธมิตรถึงกลุ่มแช่แข็งประเทศและ กปปส. หมกมุ่นกับการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยเรื่องที่ปราศจากหลักฐาน ยิ่งกว่านั้นคือข้อมูลเหล่านี้มีแกนกลางอยู่ที่เรื่องเพศ การทำผิดศีลธรรม ไม่อย่างนั้นก็คือความล่มสลายของสังคม ข้อมูลจึงไม่ได้มีคุณค่าเพราะมีข้อเท็จจริงรองรับ แต่ข้อมูลถูกใช้เพื่อให้ผู้ฟังสิ้นหวังกับปัจจุบันจนง่ายต่อการชี้ชวนให้เพ้อกับอดีตที่ไม่เคยมีอยู่เพื่อปูทางสู่ระบอบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

น่าสังเกตว่าพระมีบทบาทต่อเนื่องในขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ในฐานะผู้อำนวยการให้ผู้ชุมนุมมีมิติทางจิตวิญญาณเป็นกลุ่มก้อน จนไม่ตั้งคำถามต่อการชุมนุมทั้งหมด สถานะทางวัฒนธรรมของพระจึงช่วยค้ำประกันสารทางการเมืองที่โดยเนื้อแท้แล้วผิด และไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย ภาพความเป็นผู้มีศีลธรรมของพระในบริบทนี้ ถูกใช้เพื่อกลับผิดเป็นถูก และสร้างความสมเหตุสมผลให้ฝ่ายนิยมการเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยโดยตรง

ตัวอย่างล่าสุดซึ่งแสดงความลุ่มหลงกับจินตนาการ คือข้อเสนอว่าการเมืองแบบ “ธรรมราชา” คือทางออกของความขัดแย้งในขณะนี้ ประเด็นคือธรรมราชาเป็นคำสอนจากสังคมโบราณเรื่องผู้ปกครองในอุดมคติที่ไม่ได้หมายถึงใครหรือระบอบการปกครองไหน ธรรมราชาจึงให้ทางออกรูปธรรมไม่ได้ และเนื้อแท้ของการเชิดชูการเมืองแบบธรรมราชาก็ได้แก่การเหยียดประชาธิปไตย เพื่อให้ผู้คนยอมรับอะไรก็ได้ที่อ้างว่าจะทำให้ได้ผู้ปกครองที่ทรงธรรม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือความพยายามตอบคำถามว่า อะไรทำให้คนธรรมดาลุ่มหลงกับการจินตนาการตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่าย” ที่ในความเป็นจริงแล้วอยู่ไกลกันคนละโลก คำตอบที่ผู้เขียนเสนอคือความเพ้อฝันและการเมือง ที่มีความเพ้อเป็นแกนกลาง ประเด็นก็คือความเพ้อแบบนี้ทรงพลังจนผู้สมาทานมองเห็นโลกจริงได้ไม่ง่าย การอยู่ร่วมกันระหว่างกปปส.กับคนส่วนใหญ่จึงเป็นไปได้ยาก อย่างน้อยก็ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงที่สุดแล้ว การเมืองที่วางอยู่บนความเพ้อฝันแบบกปปส.ทำให้ กปปส.ไม่มีวันคิดถึงคนส่วนใหญ่มากเท่ากับคิดถึงการยึดอำนาจจากคนส่วนใหญ่ไปสถาปนาระบอบการปกครองของคนส่วนน้อยตามอำเภอใจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: