ชี้ความขัดแย้งการเมือง เพราะตีความปชต.ต่างกัน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 2836 ครั้ง

ด้วยสภาพทางการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงและการชุนนุมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่า การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งในมาเลเซีย กัมพูชา และไทย และการที่ที่นั่งของพรรครัฐบาลสิงคโปร์ต้องสูญเสียให้แก่พรรคฝ่ายค้านมากกว่าครั้งใด ๆ เหล่านี้กำลังสะท้อนการเติบโตทางประชาธิปไตยในประเทศอาเซียนหรือไม่

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชนในหัวข้อ “การชุมนุมทางการเมือง : ภาพสะท้อนการเติบโตของประชาธิปไตยในดินแดนอาเซียน” โดย ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ความขัดแย้งภายในประเทศต่าง ๆ ของประเทศในอาเซียน มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่าง แต่ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นภายหลังจากระบบโลกมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจุดจบของสงครามเย็นก็คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนี้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวปรากฎใน 2 ด้าน คือ การเปิดประเทศ ซึ่งหมายถึงการเปิดรับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งคือด้านการเมืองที่เกิดการขยายตัวของอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ยกเว้น ลาว เวียดนาม และบรูไน ซึ่ง ดร.สมชาย ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่เปิดในทางการเมืองมักมีปัญหาตามมา ผิดกับประเทศที่ยังปิดในทางการเมืองอย่างลาว เวียดนาม และบรูไน แต่ก็ใช่ว่าประเทศเหล่านี้ไม่มีปัญหา เพียงแต่แรงกดดันยังไม่ถึงจุดที่จะระเบิดออกมา

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชายเห็นว่า อีก 7 ประเทศที่เหลือก็หาได้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่ พม่าเพิ่งเริ่มต้น ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ อยู่ระหว่างการสร้างประชาธิปไตยที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ส่วนอินโดนีเซีย แม้ระยะหลังการเมืองมีเสถียรภาพขึ้นมาก แต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชั่นและต้องการการพัฒนาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ไทยและกัมพูชา ดร.สมชาย จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ที่กำลังมีปัญหาในการตีความประชาธิปไตย โดยอธิบายประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยในตะวันตกที่เคยผ่านการถกเถียงและผ่านการพัฒนาประชาธิปไตยมากว่า 200 ปี กระทั่งได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยแม้จะยึดหลักเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเช่นกัน

         “คำว่าระบบการเมืองหัวใจสำคัญคือ กระบวนการการเมืองที่ดีที่สุด ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ”

การเลือกตั้งจะต้องไม่มีการใช้เงินซื้อเสียง ขจัดการคอร์รัปชั่น และเคารพสิทธิของประชาชน เพราะเสียงข้างมากก็สามารถเป็นเผด็จการได้

          “ประเทศในอาเซียน ข้อขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในกลุ่มที่มองว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งกับที่มองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประเทศไทยกับเขมรจึงเหมือนกัน แต่กรณีของไทยมีความรุนแรงกว่า”

ดร.สมชายแสดงทัศนะว่า การเมืองทุกประเทศที่มีความรุนแรงเป็นผลจากระบบอุปถัมภ์ และระบบอุปถัมภ์จะยิ่งมีความรุนแรงหากช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยสูงมาก ขณะที่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะพยายามรักษาอำนาจรัฐโดยใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งดร.สมชายกล่าวว่า นโยบายประชานิยมไม่ใช่สิ่งที่ผิดในตัวเอง แต่การใช้แบบผิดๆ จะนำไปสู่ปัญหาหลายประการและทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแข่งขัน เช่น นโยบายจำนำข้าวที่นำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาบวกรวมด้วยคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ดร.สมชาย ยกตัวอย่างประเทศยูเครน ซึ่งฝ่ายค้านออกมาประท้วงรัฐบาลคล้ายคลึงกับไทย แต่สหรัฐอเมริกากลับมีท่าที่สนับสนุนฝ่ายค้าน นั่นเป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลโอนเอียงไปทางรัสเซีย ขณะที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีผลประโยชน์ร่วมใดๆ กับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แต่มีกับรัฐบาล สหรัฐฯ จึงสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้ง

ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยกับกัมพูชาจึงหมุนเป็นวงจรอุบาทว์ ซึ่งจะสามารถหยุดได้ด้วยระบบการศึกษาที่ทำให้ประชาชนมองเห็นดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตน และสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งขึ้น

เมื่อถามว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในไทยจะจบลงอย่างไร ดร.สมชายกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยตอนนี้จะจบได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยู่ในสถานการณ์ที่วิน-วินหรือชนะทั้งคู่ แต่ที่จบไม่ได้ตอนนี้เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ซีโร่ ซัม เกม คือฝ่ายชนะได้หมด ฝ่ายแพ้เสียหมด จึงทำให้ไม่มีใครยอมแพ้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อาจดำเนินไปถึงจุดปั่นป่วนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าหากยังไม่หยุดจะแพ้ทั้งคู่ นั่นก็อาจนำไปสู่การคลี่คลายได้ในอนาคต

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: