อดีตกำนันแฉตร.เอี่ยว'ทนายสมชาย'หาย จี้รัฐเลิกกฎอัยการศึกชราในชายแดนใต้

อัล-อัยย์ บินตักวา ฟอตานี ออนไลน์ 18 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2337 ครั้ง

ฟอตานี ออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัดเสวนา “10 ปี กฎอัยการศึก 10 ปี ณ ปาตานี กับการบังคับให้สูญหายของเสียงเรียกร้อง” ซึ่งตรงกับวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม ที่ช่วยเหลือพี่น้องในชายแดนใต้ในหลายคดีหายตัวไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ห้องประชุมอิหม่ามอันนาวาวีย์ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ในงานนี้ ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ แสดงปาฐกถา “ภาระหน้าที่ของมุสลิมต่อความอยุติธรรมในสังคม” ถึงการสะท้อนความเจ็บปวดของคนในสามจังหวัดว่า อิสลามสอนให้มีส่วนร่วมในการสร้างคุณงามความดี ภายใต้สิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนต้องดำรงการละหมาดญามะอะฮฺ (การละหมาดร่วมกัน) และการจ่ายซะกาตเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ร่วมกันขจัดสิ่งเลวร้าย ความยุติธรรมที่ใกล้ชิดที่สุดคือ การตักวา (ยำเกรง) ต่ออัลลอฮฺ อย่าให้ความรู้สึกเกลียดชังมาทำให้เสียความยุติธรรม ถ้าดำเนินชีวิตตามบัญญัติของอัลลอฮฺ ความอยุติธรรมก็ไม่สามารถทะลวงให้สังคมอ่อนแอ เพราะทุกคนมีจิตสำนึก ความอยุติธรรมหลายครั้งที่เกิดขึ้นเพราะสังคมอ่อนแอเกินไป

ซึ่งความอยุติธรรมมาจากภายในตัวเอง และจากภายนอกคือ อำนาจรัฐภายใต้ความพยายามทำให้ความเป็นชาติหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การขจัดสิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องกลับไปสู่บัญญัติของอัลกุรอ่านที่ต้องมีส่วน ร่วมรับผิดชอบสังคม ผดุงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น เมื่อมาถึงจุดเสื่อมของสังคมในปัจจุบัน แม้ไม่สามารถตักเตือน แต่หัวใจต้องปฏิเสธไม่เอาคนชั่วมาเป็นเพื่อนและเป็นผู้นำ หากมองแต่เรื่องส่วนตัวไม่มองส่วนรวมก็มีความอัปยศไร้เกียรติเกิดขึ้น คนที่ถูกข่มเหงจึงต้องต่อสู้ตามลำพังในสังคมเช่นนี้

            “มูลนิธิทนายความมุสลิมได้ทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรมในพื้นที่นี้ สิ่งที่อยากเห็น คือเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากอุลามะฮฺ ที่ควรมีมากกว่านี้ ต้องสร้างโครงสร้างสังคมที่มีความแข็งแกร่งแก่อุมมะฮฺ (ประชาชนมุสลิม) เมื่อสังคมเข้มแข็งใครก็มาย่ำยีไม่ได้ ต้องยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย อย่าให้สิ่งที่เขากล่าวหาสังคมมุสลิมว่า ไม่มีกระดูกส่วนใดหยัดยืนต่อสู้ เหมือนสังคมอมีบา จึงต้องอาศัยกำลังของอุลามะฮฺที่ส่งเสียงมากกว่านี้ ความเป็นเอกภาพของสังคมไม่ควรเอาความเป็นส่วนตัวมาตัดสิน ต้องเป็นโครงกระดูกที่ยืนได้ ถ้าไม่ยืนหยัดแล้ว เมื่อไหร่จะได้ลิ้มรสความเป็นธรรม จึงอย่าได้มีความแตกแยก ต้องช่วยกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว แสดงถึงพลังให้หยัดยืน เอาคนถูกเหยียบย่ำให้ยืนหยัดได้เพื่อสังคมที่เป็นปึกแผ่น”

ทางด้านนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิทนายความมุสลิม กล่าวถึงผลเสียที่นำเอากฏอัยการศึกที่เป็นกฏหมายชราภาพ มาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า กฎอัยการศึกในชายแดนใต้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งใช้ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล กฏหมายนี้ไม่ให้ทนายความหรือญาติเข้าไปเยี่ยม จึงต้องมีการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อยกเลิก ซึ่งนายสมชาย นีละไพจิตร ส่งเอกสารพร้อมใบปะหน้า ที่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่ไม่ทันได้ส่ง เพราะนายสมชายได้หายไปก่อน พี่น้องในพื้นที่จึงต้องทนทุกข์กับการไม่ถูกตรวจสอบ และถ่วงดุลย์ซึ่งมี 3,000 กว่าเรื่อง ที่ศูนย์ความมุสลิมรับเรื่องร้องเรียนมา กฎหมายนี้ถ้าเป็นคนคือตายไปแล้ว เพราะออกมาเมื่อ 100 ปีที่แล้ว คือพ.ศ.2457 เป็นกฎหมายที่ชราภาพ แต่ยังนำมาบังคับใช้ในชายแดนใต้

ขณะที่ นายอนุพงษ์ พันธชยางกูร อดีตกำนันโต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และอดีตจำเลยในคดีปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2547 เขาถูกตำรวจซ้อมทรมานจนฟันกรามหัก 2 ซี่ มัดขาแล้วโยนตัวออกจากเฮลิคอปเตอร์จนห้อยโตงเตงกลางทะเล จับใส่ห้องเย็น จับตัวลูกและเมียมาทรมานต่อหน้า กำนันโต๊ะเด็งจึงยอมทุกอย่าง เพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกเมีย เขาขอพบทนายสมชายและรับรู้ว่า ทนายสมชายถูกทำให้เสียชีวิต ถูกบังคับให้แถลงข่าว ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนปล้นปืนในค่ายทหารปี 2547 และให้พูดตามที่เตรียมไว้คือ ให้ใส่ร้ายหะยีสุหลง พ่อของนายเด่น โต๊ะมีนา และกลุ่มวาดะห์ ในพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน หลังจากศาลได้ยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556

กำนันโต๊ะเด็งได้เล่าถึงความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และยอมให้อภัยคนที่ใส่ร้ายและทำร้าย รวมทั้งมาเปิดเผยในเวทีนี้เป็นครั้งแรกว่า  “ใครสั่งฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร”

            “ผมพูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกบนเวทีนี้ ตอนที่ถูกควบคุมตัวที่เขาตันหยงอาการผมยังไม่สาหัส จนเที่ยงคืนถูกคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกรุงเทพฯ มีตำรวจยศพล.ต.อ.คนหนึ่ง เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวผมขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำตัวผมไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาซ้อมผมจนไม่รู้สึกตัว ล่ามกับเก้าอี้ ฟันผมหักสองซี่ ผมยังเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักกับทนายสมชายเป็นการส่วนตัว รู้แต่ว่าเป็นทนายมุสลิมที่เสียสละมาช่วยพี่น้องในชายแดนใต้ และผมอยากให้มาช่วย ผมถูกซ้อมหลายครั้ง ถูกล่ามโซ่ไว้กับโต๊ะ ถูกกระทืบ เขานั่งกินไวน์กัน ฉี่ใส่ปากผม เขาพูดกันว่า ผมเรียกร้องจะเอาทนายสมชายอย่างเดียว จะทำอย่างไร ถ้าทนายสมชายยังอยู่ก็จะหาหลักฐานมาหักล้างได้หมด ต้องทำคดีอื่นมาใหม่ โดยให้ผมแถลงข่าว”

นายอนุพงษ์กล่าวบนเวทีเสวนาต่อว่า “จากนั้นผมถูกทำร้ายร่างกายจนหมดสติ พอฟื้นมาก็ถูกจับไปขังในห้องเย็นที่หนาวจัดจนปวดหัว เขาบอกให้ผมรับสารภาพ ผมบอกว่าถ้าผมเป็นคนปล้นปืนไปกว่า 300 กระบอก แล้วจะเอาปืนที่ไหนมาคืน จนวันที่ 8 มีนาคม 2547 พี่สมชายนัดมาว่าจะเจอผม แต่พวกเขาไม่ให้เจอ เขามาถามว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย มีกระดาษโน้ตมาบอกว่า พี่สมชายจะมาหาวันที่ 15 มีนาคม แต่ไม่รู้ว่าเป็นลายมือพี่สมชายจริงหรือไม่”

            “พวกเขามานั่งกินเหล้ากันที่เดิม แล้วถามผมว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย เขาบอกว่ากูส่งมันไปหาอัลลอฮฺแล้ว เอามันไปเผาที่ราชบุรี และจะส่งมึงไปด้วย คนที่สั่งฆ่าทนายสมชายคือนายตำรวจที่อยู่ต่อหน้าผม คนที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์และทรมานผม ผมอยู่ในคุกอีกสักพัก ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้น เจอตำรวจที่เคยทรมานผมเข้ามาอยู่ในคุก ผมเข้าไปถามว่า ฆ่าพี่สมชายทำไม เขาบอกว่า นายสั่ง เพราะนาย กลัวตำแหน่งจะหาย ถ้าความจริงปรากฏ และนายเขาก็ได้ตำแหน่งนั้นจริงๆ”

            “ผมต่อสู้โดยกระบวนการยุติธรรม ให้รู้ว่ามีความถูกต้อง ออกจากคุกมาต่อสู้เป็นคดีเดียวที่กล้าฟ้อง ถูกสังคมพิพากษาว่า ผมเป็นโจรใต้ทั้งที่ศาลพิพากษาว่า ผมบริสุทธิ์ คดีอื่นมีแต่เอาปืนไปสู้เลยช้า หากต่อสู้ตามแนวทางของทนายสมชายจะรู้ว่า มุสลิมไม่ใช่คนที่นิยมความรุนแรง ฝากไปถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ชอบไปสนับสนุนความรุนแรง แต่ไม่เคยสนับสนุนมูลนิธิทนายความมุสลิม เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ ให้งบประมาณมาอุดหนุน ฟ้องกลับไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกขังบ้าง ความรุนแรงก็จะหายไป ความเป็นธรรมเกิดยากหากยังเป็นแบบนี้” นายอนุพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุพงษ์อยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 22 วัน และออกมาฟ้องร้อง นายตำรวจยศพล.ต.อ.คนหนึ่ง พร้อมพวก รุมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ศาลพิพากษายกฟ้อง นายอนุพงษ์ พันธชยางกูร หรืออดีตกำนันตำบลโต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และอดีตจำเลยในคดีปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2547 จำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ จากกรณีจำเลยยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กล่าวหา นายตำรวจยศพล.ต.อ.พร้อมพวก รุมทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืน

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง ซึ่งคดีนี้ พล.ต.อ.คนดังกล่าวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3613/2552 สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จำเลยได้ถูกชุดพนักงานสืบสวนสอบสวนที่มีโจทก์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรอง ผบช.ก.เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไปสอบสวนที่กองปราบปราม จำเลยได้อ้างว่าถูกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพในคดีปล้นปืนและคดีฆ่า ด.ต.ปัญญา ดาราฮีม และยังได้อ้างว่าหลังจากนำตัวกลับมาควบคุมที่ สภ.ตันหยง จ.นราธิวาส ยังได้ถูกโจทก์พร้อมด้วยตำรวจอีกหลายนายซ้อมทรมานให้รับสารภาพในคดีดังกล่าว

ต่อมาจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับพวกอีกรวม 4 คนในข้อหาปล้นปืน และร่วมกันฆ่า ด.ต.ปัญญา ดาราฮีม ที่ศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1689/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 1479/2549 ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน ต่อมาจำเลยคดีนี้ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษว่า โจทก์ได้ร่วมกับพวกซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอได้ทำการสอบสวนและส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโจทก์ ต่อมา ป.ป.ช.ได้ชี้ว่า พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: