บทวิเคราะห์ : เงื่อนไขในสังคมที่ทำให้องค์กรอิสระไม่เป็นประชาธิปไตย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 18 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2033 ครั้ง

แต่ข้อถกเถียงส่วนใหญ่ก็รวมศูนย์อยู่ที่การอธิบายว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร 2549 จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้องค์กรอิสระมีบทบาทแบบที่ผ่านมา

แน่นอนว่าไม่มีอะไรให้โต้แย้งได้ว่าข้อถกเถียงนี้ผิด เพราะทั้งผู้สนับสนุนองค์กรอิสระและผู้วิพากษ์วิจารณ์นั้นเห็นเหมือนกันหมดว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากจริง ข้อแตกต่างมีอยู่เพียงว่าองค์กรอิสระควรมีอำนาจมากแบบนี้หรือไม่เท่านั้นเอง

ปัญหาก็คือถ้าองค์กรกรอิสระมีอำนาจมากจริง และการใช้อำนาจนั้นก็เป็นไปในแบบที่ไปกันไมได้กับประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงยอมรับได้กับการที่องค์กรอิสระมีบทบาทอย่างที่ทำไป ยกเว้นแต่คนเสื้อแดง?

หนึ่งในทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อการอธิบายองค์กรอิสระของไทยมากที่สุดคือทฤษฎีการเมืองเครือข่าย ทฤษฎีนี้ยอมรับตั้งแต่ต้นว่าองค์กรอิสระเป็นสมญานามรวมหมู่เฉย ๆ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าองค์กรเหล่านี้เป็นอิสระหรือปราศจากจากฝักฝ่ายทางการเมืองในแง่ไหนทั้งนั้น ในทางตรงกันข้าม องค์กรและกรรมการองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเมืองแบบต้านประชาธิปไตยด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเสมอ จะเป็นความสัมพันธ์ฉันศิษย์ ลูกน้องเก่า หรืออคติทางการเมืองก็ตาม

แม้ทฤษฎีการเมืองเรื่องเครือข่ายจะมีจุดแข็งตรงทำให้เห็นภาพว่าองค์กรอิสระมีบทบาทตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายการเมืองฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และถึงแม้จะเป็นความจริงว่าตัวบุคคลในองค์กรอิสระหลายคนก็มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวจริงกับคนที่ว่ากันว่าอยู่ในเครือข่ายดังกล่าว แต่ก็อธิบายพฤติกรรมของพวกกองเชียร์ที่คอยยุยงหรือสนับสนุนให้องค์กรอิสระไล่ล่าประชาธิปไตยไม่ได้ และตอบไม่ได้เหมือนกันว่าพวกกองเชียร์อยู่ตรงไหนในเครือข่ายต่อต้านประชาธิปไตย

หากมองเรื่ององค์กรอิสระด้วยเลนส์ที่เลยจากเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองไทยออกไป แม้จะยอมรับได้ยากที่คนกลุ่มน้อยแบบองค์กรอิสระมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  อันที่จริงทุกสังคมก็มีคนกลุ่มน้อยที่พยายามมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ในทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อให้คนกลุ่มน้อยมีอิทธิพลในสังคมประชาธิปไตยตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรณี

หนึ่งในเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มน้อยมีอิทธิพลเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยคือสภาพอันสลับซับซ้อนของภาคสังคม (the social)

หนึ่งในข้อถกเถียงที่สุดเหลวไหลในสังคมไทยคือการเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย แต่ถ้าตัดการบิดเบือนตรรกะเพื่อลากไปสู่การต่อต้านการเลือกตั้งทิ้งไป ข้อถกเถียงนี้ก็มีด้านที่พอฟังได้อยู่บ้าง นั่นก็คือการเลือกตั้งเป็นรูปแบบพื้นฐานของประชาธิปไตย การเลือกตั้งอย่างเดียวจึงไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วยแน่ๆ หัวใจของคำถามนี้จึงอยู่ที่การไปสำรวจว่าอะไรขวางกั้นระหว่างการเลือกตั้งกับประชาธิปไตย

ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาธิปไตยหมายถึงภาวะที่พลเมืองปกครองและสร้างกติการะดับชีวิตส่วนรวมด้วยตัวเอง  รากฐานของความชอบธรรมแบบประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ความเท่ากันทางการเมืองระหว่างเอกบุคคลเสมอ หนึ่งในเหตุที่การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยก็เพราะการเลือกตั้งทำให้พลเมืองมีโอกาสสร้างกติกาส่วนรวมอย่างเท่ากันตามนัยนี้ แม้ความเท่ากันทางการเมืองจะไม่ใช่หลักประกันของความเท่าเทียมด้านอื่นแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทย์ของการเมืองแบบประชาธิปไตยคือการแปลการสร้างกติการะดับชีวิตส่วนรวมของพลเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองให้ได้มากที่สุด แต่การสร้างการเมืองเชิงปฏิบัติจากหลักการนามธรรมแบบนี้ไม่ง่าย ยิ่งในสภาพสังคมสมัยใหม่ที่คนแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้นมีความเหมือนและความแตกต่างเหลื่อมทับกันหลายระดับ แค่จะกำหนดว่าอะไรคือ “กติกาส่วนรวม” ก็ยากมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงการสร้างกติกาจากการให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่ากัน      

ความซับซ้อนของสังคมแบบนี้ทำให้คนส่วนน้อยที่สถาปนาตัวเองหรือถูกอุปโลกน์เป็น “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” มีอิทธิพลเหนือสังคมจนน่าวิตก ตัวอย่างเช่นเมื่อพูดเรื่องเศรษฐกิจ ผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์จะถูกถือว่าเป็น “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งต้องถูกเสมอในการวินิจฉัยว่านโยบายเศรษฐกิจแบบไหนดีต่อส่วนรวม ทั้งที่คนเหล่านี้มีอวิชชาและผลประโยชน์ทางชนชั้นเป็นเพดานการคิด จนไม่แน่ว่าจะรู้ว่าส่วนรวมคืออะไรเสมอไป

โปรดระลึกว่านักเศรษฐศาสตร์คัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกครั้งด้วยข้ออ้างซ้ำซากเรื่องอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมก็ถูกต่อต้านด้วยวาทกรรมวินัยการคลัง ขณะที่นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ก็ถูกตั้งข้อหาประชานิยมและจะทำให้ระบบสาธารณสุขแห่งชาติล่มสลาย ทำนองเดียวกับที่นโยบายจำนำข้าวโดนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ทุกตัวอย่างล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำตามความต้องการของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งทั่วไป

ยิ่งในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ซับซ้อน คนที่สถาปนาตัวเองหรือถูกอุปโลกน์ว่าเป็น “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” ก็ยิ่งมีโอกาสใช้ความชำนาญเฉพาะทางไปมีอิทธิพลต่อการจัดสรรงบประมาณได้เสมอ อำนาจในการวินิจฉัยว่างบประมาณถูกหรือผิดกฎหมายการคลังทำให้คนกลุ่มน้อยพวกนี้คือผู้กำกับนโยบายสาธารณะในความเป็นจริงไปในที่สุด ต่อให้นโยบายจะมาจากมติพลเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตยก็ตามที

การล้มล้างโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านการล้ม พรบ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกันคืออาศัยบุคคลที่อ้างหรือถูกถือว่าเป็น “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” สี่คนไปทำลายโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนซึ่งดำเนินไปผ่านกระบวนการประชาธิปไตยโดยชอบทุกประการ รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีช่วยในอดีตจึงจับมือกับรองปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันล้มล้างมติของประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

น่าสังเกตด้วยว่าในกระบวนการล้มล้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายผู้ล้มล้างแทบไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนกลุ่มอื่นนอกจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทั้งสี่คนเลย  พูดให้เป็นรูปธรรมคือไม่มีตัวแทนประชาชนตามแนวเส้นทางรถไฟรายไหนถูกเชิญไปให้การในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ผลก็คือคำว่า “ผู้เกี่ยวข้อง” ถูกทำให้มีความหมายจำกัดอยู่แค่ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญด้านการคลัง เหตุผลด้านการคลังและกฎหมายการคลังจึงกลายเป็นเกณฑ์พิจารณาโครงการนี้อยู่แค่มิติเดียว

การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกตัวอย่างที่สถานะความเป็น “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” ทำให้คนส่วนน้อยมีอิทธิพลเหนือคนส่วนใหญ่จนสามารถล้มความต้องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนแสดงในวันเลือกตั้งและแปรเป็นกฎหมายโดยชอบด้วยกระบวนการประชาธิปไตย  แต่ในขณะที่บทบาทของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญกรณีจำนำข้าวหรือรถไฟความเร็วสูงเป็นการให้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจ  คนกลุ่มนี้กลับมีบทบาทกรณีรัฐธรรมนูญในฐานะผู้วินิจฉัยเองโดยตรง

ในแง่นี้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของระบอบที่ใช้ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนหักล้างทำลายเจตจำนงร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่ไปไกลถึงขั้นยอมรับให้คนกลุ่มน้อยตัดสินล้มล้างการเลือกตั้งทั่วไปของคนส่วนใหญ่ได้ง่าย ๆ ราวเป็นเรื่องปกติ และเพราะลักษณะเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ขณะนี้แทบไม่มีผู้รู้ด้านรัฐธรรมนูญและสาขาอื่นเลย การตีความรัฐธรรมนูญแบบคับแคบและไม่คงเส้นคงวาจึงแทบจะเป็นวิธีพิจารณารัฐธรรมนูญอยู่มิติเดียว

น่าสังเกตด้วยว่าในการพิจารณาว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธุ์ เป็นโมฆะหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถามความคิดเห็นอะไรเลยจากผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคมอย่างผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 20 ล้านคน

ไม่ใช่ความลับที่ทุกวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์เผ็ดร้อนถึงขั้นให้ยุบศาลไปเลย แต่หากตัดคนที่ชื่นชอบความเอื้อเฟื้อของศาลรัฐธรรมนูญต่อบางฝ่ายทิ้งไป คำถามที่น่าสนใจคืออะไรทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นศาลรัฐธรรมนูญอยู่้จนบัดนี้  เป็นเพราะความเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของศาลในความหมายทั่วไป? หรือเป็นเพราะความเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เข้าใจความซับซ้อนของรัฐธรรมนูญมากที่สุดในสังคมไทย?

มองในระดับภาพรวมแล้ว คนกลุ่มน้อยสถาปนาอำนาจเหนือสังคมสมัยใหม่บนเงื่อนไขที่สังคมสมัยใหม่มีความซับซ้อนจนเปิดโอกาสให้ “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” อ้างว่าเป็นตัวแทนของส่วนรวมมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ ผลก็คือการเลือกตั้งในฐานะกระบวนการหลอมรวมความต้องการของปัจเจกให้เป็นเจตจำนงร่วมของสังคม (will formation) ก็ถูกแทนที่ด้วยการปั่นความเห็นคนกลุ่มน้อย (opinion formation) เป็นกรอบอ้างอิงในการวินิจฉัยประเด็นสาธารณะจนคนกลุ่มน้อยครอบครองอำนาจสุดท้ายเหนือคนส่วนใหญ่ในความเป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จะลงคะแนนให้นโยบายไหนหรือแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร คนกลุ่มน้อยก็มีโอกาสล้มได้ทุกกรณี

ด้วยข้อเท็จจริงทุกวันนี้และย้อนหลังไปหลายปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรอิสระมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเครือข่ายต่อต้านประชาธิปไตย  โจทย์ซึ่งฝ่ายต้องการประชาธิปไตยพยายามทำมาพักใหญ่จึงได้แก่การคืนความเป็นการเมืองไปยังองค์กรเหล่านี้ องค์กรอิสระและกรรมการของหลายองค์กรถูกฉุดกระชากลากถูไปตีแผ่สายสัมพันธ์กับชนชั้นนำกลุ่มอื่นจนความน่าเชื่อถือของสถาบันเสื่อมในเวลาที่รวดเร็วมาก แต่ก็ไม่รวดเร็วเท่ากับการทำลายประชาธิปไตยของฝ่ายองค์กรอิสระเอง

การออกแบบกระบวนการให้องค์กรอิสระมีอำนาจน้อยลงและตรวจสอบความสมจริงของการอ้างเป็นตัวแทนส่วนรวมได้มากขึ้นคือหนึ่งในเรื่องทีต้องทำเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในสังคมไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: