เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)(องค์การมหาชน) อาคารพญาไท พลาซ่า ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสมศ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ. โดยมี ศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี เป็นประธานบอร์ดสมศ.ว่า สมศ.ได้จัดทำตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเริ่มประเมินในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งในการพัฒนาตัวบ่งชี้ดังกล่าวได้เชื่อมโยงนโยบายมาตรฐานการศึกษาของชาติ มุ่งพัฒนาให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีคุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต การมีงานทำ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสอดคล้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวม
ผอ.สมศ.กล่าวต่อว่า การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ยังคงยึดตามคอนเซ็ปเดิม ตัวบ่งชี้ 3 มิติ ได้แก่ ตัวบ่งชี้พื้นฐาน ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ผู้เรียน เอกลักษณ์ของสถานศึกษา และตัวบ่งชี้มาตรฐานการส่งเสริม เพื่อประเมิน 7 ด้าน มี 20 ตัวบ่งชี้ คือ 1.ด้านคุณภาพศิษย์ มี 4 ตัวบ่งชี้ โดยได้เพิ่มตัวบ่งชี้เรื่องความเป็นคนดี ซึ่งจะวัดจากการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาทำจิตอาสาอย่างน้อย 50 ชั่วโมง หรือการทำงาน กิจกรรมต่าง ๆ 2.ด้านคุณภาพครู/อาจารย์ 4 ตัวบ่งชี้ เป็นการประเมินคุณภาพเด็กเชื่อมโยงกับคุณภาพของครู โดยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานดูผลสัมฤทธิ์การเรียน และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ของเด็กที่จะมีผลต่อการให้คะแนนครู, อาชีวศึกษา ดูความสำเร็จผู้เรียน การได้รับรางวัลระดับนานาชาติ และดูคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (วีเน็ต) และอุดมศึกษาดูการมีงานทำของบัณฑิต 3.ด้านการบริหารและธรรมาภิบาลของสถานศึกษา 4 ตัวบ่งชี้ เป็นการประเมินตั้งแต่ระดับสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย กรรมการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน 4.ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน 2 ตัวบ่งชี้ 5.ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม 2 ตัวบ่งชี้ 6.ด้านอัตลักษณ์เอกลักษณ์ 2 ตัวบ่งชี้ และ 7.ด้านมาตรการส่งเสริม 2 ตัวบ่งชี้ โดยมีการเพิ่มตัวบ่งชี้ประเมินศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ
“สำหรับตัวบ่งชี้ที่จะมาใช้แทนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติอุดมศึกษา (ยูเน็ต)คณะกรรมการพัฒนาตัวบ่งชี้ ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ได้ปรับเปลี่ยนมาพิจารณา 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ICI หรือเทียบเท่า 2.มีรางวัล/ได้รับการยอมรับ/ยกย่องที่สะท้อนความรู้ ความสามารถในระดับนานาชาติ 3.การสำเร็จการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในแต่ละรุ่น 4.การมีงานทำหรือสอบได้ทุนศึกษาต่อจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศของบัณฑิตระดับปริญญาตรี และ 4.ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต” ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวและว่า ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่นี้ สมศ.ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเกณฑ์ในด้านลบของตัวบ่งชี้ โดยจะมีการตัดแต้มเนื่องจากที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา และเพื่อให้นิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพก็จะเปิดโอกาสให้ร้องเรียนข้อบกพร่องในด้านคุณภาพการเรียนการสอนได้ก่อนและระหว่างการประเมิน แต่หลังจากการประเมินเสร็จสิ้นแล้วไม่สามารถมาเสนอได้ นอกจากนั้น ตัวบ่งชี้แต่ละตัวจะมี 5 คะแนน สถานศึกษาต้องได้ 3.5 คะแนนขึ้นไปในแต่ละตัวบ่งชี้ แต่อนุโลมให้ได้ต่ำกว่า 3.5 คะแนน เพียง 2 ตัวบ่งชี้เท่านั้น โดยจะถือว่าสถานศึกษานั้นผ่านการรับรองแบบมีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม สมศ.จะประกาศตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ได้ภายในสัปดาห์หน้าผ่านเว็บไซต์ สมศ. www.onesqa.or.th เพื่อให้ภาคประชาชนได้รับทราบ ตรวจสอบ และจะทำคู่มือให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2557
ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ