สมาคมเภสัชกรรมชุมชนระบุ ร้านยาทั่วไปที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำมักจ่ายยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นทั้งที่หลายโรคไม่จำเป็นต้องใช้ หวั่นคนไทยดื้อยา-เสียค่ายาโดยไม่จำเป็น
การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ยาและผู้สั่งจ่าย ทั้งในสถานพยาบาลและร้านยา โดยเฉพาะในโรคหวัดที่พบว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เป็นการเพิ่มโอกาสของการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย เพิ่มค่าใช้จ่ายค่ายาโดยไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ คือ การแพ้ยาปฏิชีวนะ ที่พบได้บ่อยที่สุดของรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา
ร้านยาเป็นด่านแรกของระบบสุขภาพ เมื่อประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย จะไปขอคำปรึกษา และแนะนำยาเพื่อการดูแลรักษาปัญหาด้งกล่าว มีทั้งมาปรึกษาอาการเจ็บป่วย ปรึกษาเรื่องการใช้ยา และมาเรียกหายา ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก
งานศึกษาโดยสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ศึกษาร้านขายยากลุ่มตัวอย่างจำนวน 90 ร้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) กลุ่ม intervention จำนวน 30 ร้าน ที่ผ่านการอบรม และได้รับอุปกรณ์ในการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล
2) กลุ่ม comparator จำนวน 30 ร้าน เป็นร้านยาที่มีเภสัชกรประจำที่อยู่ใกล้ร้านยากลุ่ม intervention จำนวน 30 ร้าน แบบจับคู่ ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรม และไม่ได้รับอุปกรณ์ในการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และ
3) กลุ่ม control จำนวน 30 ร้าน เป็นร้านยาทั่วไปที่ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำ ที่อยู่ใกล้ร้านยากลุ่ม intervention จำนวน 30 ร้าน แบบจับคู่ ซึ่งไม่ได้ผ่านการอบรม และไม่ได้รับอุปกรณ์ในการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล
ในการประเมินการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ประเมินด้วยการสังเกตการให้บริการที่ได้รับจากร้านยา ด้วยการสวมบทบาทเป็นญาติของผู้ป่วย “โรคไข้หวัดเจ็บคอ” เข้าไปขอซื้อยาแก้เจ็บคอกับคนขายยาในร้านกลุ่มตัวอย่างทั้ง 90 ร้าน
ผลการศึกษาพบว่า ร้านยาโครงการเกือบทั้งหมดให้บริการ โดยมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเป็นหลัก (ร้อยละ 32.2) หรือ จำนวน 29 ร้านจากจำนวนทั้งสิ้น 30 ร้าน ในขณะที่ร้านยาเภสัชส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเป็นหลัก (ร้อยละ 26.7) หรือ จำนวน 24 ร้าน ส่วนอีก 6 ร้าน หรือ ร้อยละ 6.7 ที่มุ่งเน้นการขายยาเป็นหลัก ส่วนร้านยาทั่วไปนั้น มีเพียง 7 ร้าน (ร้อยละ 7.8) ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่อีก 23 ร้าน หรือ ร้อยละ 25.6 จะมุ่งเน้นการขายยาเป็นหลัก
“No action Today, No cure Tomorrow” คำขวัญการรณรงค์ ‘ไม่เริ่มรณรงค์เรื่องการดื้อยาเสียตั้งแต่วันนี้ อาจจะไม่มียาปฏิชีวนะให้ใช้ในการรักษาในวันข้างหน้า’ เพราะอาจจะไม่มียาปฏิชีวนะให้ใช้ ถ้าเราเกิดการติดเชื้อดื้อยา
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ