กรีนพีซจี้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กฟผ.ยันเดินหน้าผุดอีกทั่วประเทศ

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 18 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2982 ครั้ง

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทัวร์พาสื่อมวลชนสายพลังงาน เดินทางดูการทำงานของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในประเทศเยอรมนี  โดยเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงการนำคณะสื่อมวลชนสายพลังงานมาเดินทางท่องเที่ยว  แต่สื่อมวลชนสายสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ตกเป็นเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย โดยมีแผนจะนำคณะทั้งหมดเดินทางกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน

กฟผ.เผยแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มมูลค่ากว่าแสนล้าน

ตามแผนของ กฟผ. ที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนระบุว่า ได้เตรียมแผนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าทดแทนแห่งเก่า รวมมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อรองรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ฉบับปัจจุบันที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2558-2579  ทำให้ได้กำลังผลิตรวม 6,360 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2565 รองรับความต้องการพลังงานของประเทศที่มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่กำลังรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการปรับสัดส่วนการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจากเดิมร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 30 ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าเป็นการเสนอโดย กฟผ. เอง และการก่อสร้างทั้งหมด กฟผ. จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

ดังนั้น ตามแผนงานของ กฟผ. จึงจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนโรง 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 1,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคอง แบบสูบกลับโรงที่ 2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ทดแทน 360 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์

แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า

การนำคณะสื่อมวลชน 2 คณะเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้ข้อมูลตัวอย่างการสร้างโรงไฟฟ้าของเยอรมนีแล้ว เป้าหมายสำคัญจะอยู่ที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ กฟผ. เองมีแผนจะเดินหน้าก่อสร้างต่อท่ามกลางกระแสคัคค้านอย่างหนักด้วยนั่นเอง

นายรันตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุด ระบุว่า ในประเด็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะมีการกำหนดขอบแขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (ค.1) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด) และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดยมั่นใจว่าประชาชนจะสนับสนุนเพราะได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจล่วงหน้ากว่า 2 ปีแล้ว ในขณะที่จะมีการลงพื้นที่ จังหวัดระยองเพื่อเตรียมแผนในการหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1,200 เมกะวัตต์ด้วย

“ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ จังหวัดกระบี่ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 3 แล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 พร้อมยืนยันเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ” นายรัตนชัย ระบุ

แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลของ กฟผ. จะสวนทางกับข้อมูลของภาคประชาชน  ข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ยังคงร้อนแรง ข้อมูลต่างๆ ถูกนำมาโต้แย้งผ่านสาธารณะ พร้อมข้อเสนอต่างๆ ต่อ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง

กรีนพีซนำชาวบ้านทำรายงานค้านต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซ  หนึ่งในองค์กรที่เป็นแกนนำหลักในการต่อต้านคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ได้ออกมาเปิดเผยรายงาน ‘กระบี่บนทางแพร่ง: ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด’ แสดงจุดยืนการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบนพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่มีอยู่เดิมใน ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่และท่าเทียบเรือขนถ่านหิน ที่มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2558

ในรายงานดังกล่าว ยังคงยืนยันหนักแน่นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่คำตอบของความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมรายงานถึงผลกระทบของถ่านหินต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดกระบี่ รวมทั้งยังเสนอระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานเป็นทางออกที่ไม่ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนต่ออนาคตพลังงานกระบี่และของประเทศไทย

นายวอน เฮอร์นันเดช ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุในรายงานตอนหนึ่งว่า ถ่านหินเป็นสาเหตุของการบ่อนทำลายสุขภาพและคร่าชีวิตผู้คนอย่างเงียบๆ โดยมลพิษที่เกิดจากถ่านหินถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดสมองของผุ้ป่วยในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถ่านหินเป็น 1 ใน 10 อันดับของสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนในประเทศจีนนั้นมีอัตราการป่วยของผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจจากถ่านหินที่สูงยิ่งกว่า เนื่องจากถ่านหินมีโลหะหนัก มีมลพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และอีกมากมาย ที่ปล่อยออกมาจากปล่องควันของโรงไฟฟ้าถ่านหิน  มลพิษเหล่านี้แผ่กระจายในบริเวณกว้างส่งผลกระทบกับผู้คน

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่จังหวัดกระบี่ ระยอง นครศรีธรรมราช ฉะเชิงเทรา ตรัง ชุมพร และทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมที่มีอยู่แล้วที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทั้งที่จริงก็อาจมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่านี้ โดยผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คือ กฟผ. ยังคงนำเอามายาคติเรื่องถ่านหินสะอาดมาใช้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแผนการส่งออกมลพิษถ่านหินออกไปยังต่างประเทศ กฟผ. เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่มูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิตติดตั้ง 1,800 เมกะวัตต์ วางแผนจะก่อสร้างในเขตโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยที่มีระบบสายส่งเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยท่ามกลางกระแสคัดค้านของชุมชนในพื้นที่

ชาวบ้านร่วมรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่

“ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกถ่านหินและปิดฉากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่จะเกิดที่จังหวัดกระบี่ และหักล้างความคิดฝันที่เป็นมายาคติของถ่านหินสะอาด ประเทศไทยต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังจากหน่วยงานภาครัฐว่า ถ่านหินนั้นสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากเพียงใด เราจำเป็นต้องเปิดกว้างรับฟังเสียงจากประชาชนในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงทบทวนและเพิ่มตัวบทกฎหมายที่ครอบคลุมถึงเถ้าถ่านหิน และเสริมบทลงโทษในการปล่อยทิ้งมลพิษ ประเทศไทยต้องการกฎหมายคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรก้าวออกมาตรวจสอบอย่างรัดกุมจริงจัง และเสริมกฎหมายให้ชัดเจน เราควรยืนหยัดคัดค้านถ่านหิน ไม่ใช่คัดค้านการคุ้มครองด้านสุขภาพ” นายวอน ระบุ

อดีตคนงานโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แฉเถ้าถ่านหินถูกทิ้งลงคลองปกาสัยไร้บำบัดกว่า 30 ปี

ประเด็นที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้ยังระบุถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ในอดีตของโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าของจังหวัดกระบี่ โดยระบุว่า กรีนพีซได้สอบถามอดีตพนักงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ลิกไนต์) กระบี่เดิมที่ปลดระวางไปแล้วและคนงานเหมืองลิกไนต์รวม 5 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนยืนยันตรงกันว่าถ่านหินทั้งหมดถูกนำมาผสมน้ำ แล้วระบายทิ้งโดยตรงลงสู่คลองดปกาสัยด้านหลังโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ  นอกจากนี้ พวกเขามั่นใจว่าไม่เคยมีการขุดลอกคลองปกาสัยเพื่อนำเถ้าถ่านหินออกนอกพื้นที่เลย

อดีตพนักงานโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เหล่านี้ยืนยันกับกรีนพีซว่า เถ้าถ่านหินถูกนำมา ‘ปั่น’ ให้เข้ากับน้ำในภาชนะขนาดยักษ์แล้วปั๊มออกทางท่อ ปล่อยลงสู่คลองปกาสัย หมายความว่าเถ้าถ่านหินถูกทิ้งสู่อุปกรณ์ที่มีระบบพลังงานสูง ทำงานโดยการพัดให้อนุภาคแตกกระจายอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงมีกระบวนการปรับเปลี่ยนสถานะของตะกอนให้มีสถานะเป็นของแข็งคล้ายคอนกรีต หรือเป็นไปได้อีกว่าเถ้าถ่านหินเหล่านี้อาจจะถูกปรับให้มีสถานะเหลวข้น ก่อนจะถูกส่งไปยังบ่อที่ใช้กำจัดเถ้าถ่านหินแล้วบ่อแห่งนี้ก็ปล่อยน้ำเสียที่มีเถ้าถ่านหินปะปนลงสู่ลำคลองใกล้เคียง

นอกจากนี้ กรีนพีชยังระบุในรายงานว่า จากการสอบถามชาวประมงท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์ยืนยันเช่นเดียว กันว่า มีการปล่อยของเสียลงสู่ลำคลอง มีความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และมีการปล่อยน้ำร้อนจากโรงไฟฟ้าในปริมาณมาก จนต้นโกงกางจำนวนมากรอบๆ บริเวณที่ปล่อยน้ำเสียหรือริมคลองตายลง นอกจากนี้พวกเขากล่าวว่าปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปล่อยของเสียและในลำคลองตายลงทั้งหมด ส่วนที่รอดชีวิตก็เพียงปลาจำนวนไม่มาก ซึ่งอาศัยอยู่ปลายน้ำห่างออกไปหลายกิโลเมตร ชาวประมงกลุ่มนี้ยังบอกอีกว่า หลัง จากปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แห่งนี้ ปลาที่อาศัยในบริเวณนี้จำนวนค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ว่ากิจกรรมการจับปลาในบริเวณนี้ยังแตกต่างจากอดีต ไม่สามารถเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำหรือลำคลองสายอื่นที่ใกล้เคียงได้ พวกเขายังกล่าวอีกว่า สัตว์น้ำมีเปลือกประเภทกุ้งหอย ปู ในบริเวณที่ปล่อยของเสียและลำคลองนี้จำนวนมากตายลง และส่วนที่รอดชีวิตเกิดจุดดำบนลำตัว ชาวบ้านที่รับประทานสัตว์น้ำปนเปื้อนและมีจุดสีดำจากลำคลองบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน

“ดังนั้น ประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นที่กระบี่ ไม่มีทางที่จะมาชดเชยความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ได้เลย ทิศทางพลังงานของประเทศไทยกำลังเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญ ประชาชนกำลังจับตามองการตัดสินใจของผู้นำประเทศว่าจะนำอนาคตพลังงานไปในทิศทางใด ระหว่างยึดติดกับเชื้อเพลิงถ่านหินที่สกปรกหรือพัฒนาไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย” นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ธารา บัวคำศรี ภาพจาก www.greennewstv.com

โดยกรีนพีซยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ เพื่อรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำที่เปราะบางและระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ที่ซึ่งประชาชนนับล้านคนพึ่งพาอาศัยทรัพยากรอันมีค่านี้

• รัฐบาลดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2555-2564 และเพื่อเป็นการสนับสนุนแผนทั้งสองนี้ควรพิจารณาวางกลไกที่ละเอียดรอบคอบเช่น ร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียน

• รัฐบาลควรมุ่งไปที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยในจังหวัดกระบี่ ภาครัฐและ กฟผ. ในจังหวัดกระบี่สามารถดำเนินการตามแผน 5 ขั้นตอน นั่นคือ (1) ประเมินทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน (2) ประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า (3) กำหนดสัดส่วนแหล่งกำเนิดไฟฟ้า (4) ออกแบบเครือข่าย และ (5) พิจารณาระบบควบคุมเพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อประชาชน

แม้จะยังไม่ได้รับเสียงตอบรับจากรัฐบาล แต่แนวทางที่กรีนพีซนำเสนอกำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องปฏิรูปพลังงานให้ไปในทิศทางที่ยั่งยืน เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย

อ่าน 'จับตา: แผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่' ได้ที่ http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5107

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: