วันวานถึงวันนี้ของรถไฟรางคู่

18 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 3423 ครั้ง


ดร.สามารถได้โพสต์ข้อความผ่านมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 เพื่อทำความเข้าใจกับแผนโครงการรถไฟว่าใครเป็นผู้ริเริ่มความคิดกันแน่ ดังนี้

คสช.ทำ แต่ทักษิณไม่ได้คิด

หลังจาก คสช.ประกาศเดินหน้าโครงการรถไฟรางคู่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนโครงการรถไฟความเร็วสูง ก็มีเสียงค่อนแคะว่า คสช.เดินตามแนวทางที่อดีตนายกฯ ทักษิณคิดไว้ภายใต้แผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงที่คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้คิดโครงการในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แล้วให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้เงินเพื่อดำเนินการก่อสร้าง

ข้อมูลที่ถูกต้องก็คือโครงการทุกโครงการภายใต้แผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่โครงการใหม่ที่เกิดจากความคิดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เป็นโครงการเก่าที่มีการวางแผนกันมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า หรือมอเตอร์เวย์

รถไฟรางคู่มีการให้ความสำคัญอย่างจริงจังในรัฐบาลชวน 1 และชวน 2 โดยเริ่มก่อสร้าง 4 สาย ได้แก่ (1) หัวหมาก - ฉะเชิงเทรา (2) ตลิ่งชัน - นครปฐม (3) บ้านภาชี - มาบกะเบา และ (4) บ้านภาชี - ลพบุรี

รัฐบาลต่อๆ มาให้ความสนใจในรถไฟรางคู่น้อยมาก จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ระบบรางได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้จัดทำแผนแม่บทรถไฟรางคู่ (รวมทั้งรถไฟสายใหม่) ระยะทาง 3,039 กม. และแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง ที่สำคัญ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 1.7 แสนล้านบาท เพื่อก่อสร้างรถไฟรางคู่ระยะที่ 1 ระยะทาง 767 กม. ซึ่งถือเป็นงบประมาณมากที่สุดที่มีการจัดสรรให้กับระบบราง

ผมขอสรุปความเป็นมาของโครงการสำคัญในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ดังนี้

1. รถไฟรางคู่ที่มีในปัจจุบันเกิดขึ้นหรือริเริ่มในรัฐบาลชวน 1-2 รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดทำแผนแม่บทรถไฟรางคู่ 17 สาย โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หยิบมาใส่ไว้ในแผนเงินกู้ 11 สาย

2. รถไฟสายใหม่ (รางคู่) มีการจัดทำแผนแม่บทในรัฐบาลอภิสิทธิ์ 11 สาย โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หยิบมาใส่ไว้ในแผนเงินกู้ 3 สาย

3. รถไฟความเร็วสูง รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดทำแผนแม่บทไว้ 5 สาย โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หยิบมาใส่ไว้ในแผนเงินกู้ 4 สาย พร้อมทั้งตัดเส้นทางให้สั้นลง นั่นคือสายกรุงเทพฯ - หนองคาย เหลือแค่โคราช และสายกรุงเทพฯ - ปาดังเบซาร์ เหลือแค่หัวหิน

4. มอเตอร์เวย์ มีการจัดทำแผนแม่บททั่วประเทศหลายสาย ระยะทางกว่า 4,000 กม. (และก่อสร้างสายแรกในรัฐบาลชวน 1) โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หยิบมาใส่ไว้ในแผนเงินกู้ 3 สาย

5. ถนน 4 เลนทั่วประเทศเกิดขึ้นในรัฐบาลชวน 1 รัฐบาลต่อๆ มาสานต่อโครงการนี้ รวมทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้บรรจุโครงการถนน 4 เลน หลายสายไว้ในแผนเงินกู้

ได้รับรู้ข้อมูลเช่นนี้แล้ว คุณเห็นด้วยมั้ยครับว่า "คสช. ทำ แต่ทักษิณไม่ได้คิด" หรือมีความเห็นอย่างไรกับการเดินหน้ารถไฟรางคู่ของ คสช. ครับ”

โดย 5 เส้นทางรถไฟรางคู่จากทั้งหมด 17 เส้นทาง พร้อมจะก่อสร้างแล้ว ประกอบด้วย

1. สายลพบุรี - ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. มูลค่าโครงการ (ค่าก่อสร้าง + ค่าเวนคืนที่ดิน + ค่าจ้างที่ปรึกษา) 24,842.44 ล้านบาท (ราคาปี 2556) โดยช่วงเลี่ยงเมืองลพบุรีออกแบบเป็นทางรถไฟยกระดับ มีเส้นทางเริ่มจากสถานีบ้านกลับ - เลี่ยงเมืองลพบุรี - กลับมาบรรจบกับเส้นทางเดิมที่สถานีบ้านหมี่ - สถานีบ้านตาคลี และสิ้นสุดที่สถานีปากน้ำโพ

2. สายมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. มูลค่าโครงการ 29,855.08 ล้านบาท โดยช่วงที่เป็นอุโมงค์ออกแบบเป็นอุโมงค์คู่เพื่อความแข็งแรงและปลอดภัย มีเส้นทางเริ่มจากสถานีมาบกะเบา - สถานีมวกเหล็ก - สถานีปากช่อง - สถานีคลองไผ่ - สถานีสีคิ้ว - สถานีสูงเนิน และสิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ

3. สายชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. มูลค่าโครงการ 26,007.20 ล้านบาท มีเส้นทางเริ่มจากสถานีชุมทางถนนจิระ - สถานีโนนสูง - สถานีชุมทางบัวใหญ่ - สถานีบ้านไผ่ และสิ้นสุดที่สถานีขอนแก่น

4. สายนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 165 กม. มูลค่าโครงการ 20,038.43 ล้านบาท มีเส้นทางเริ่มจากสถานีนครปฐม - สถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีราชบุรี - สถานีเพชรบุรี และสิ้นสุดที่สถานีหัวหิน

5. สายประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 17,292.53 ล้านบาท มีเส้นทางเริ่มจากสถานีประจวบคีรีขันธ์ - สถานีบ้านกรูด - สถานีบางสะพานใหญ่ - สถานีปะทิว และสิ้นสุดที่สถานีชุมพร

นอกจาก 5 สาย ดังกล่าวแล้ว สายอื่นดังต่อไปนี้ก็จะตามมา

1. สายปากน้ำโพ - เด่นชัย

2. สายขอนแก่น - หนองคาย

3. สายชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี

4. สายหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์

5. สายชุมพร - สุราษฎร์ธานี

6. สายสุราษฎร์ธานี - ปาดังเบซาร์

ล่าสุด ดร.สามารถโพสต์ข้อความมีใจความว่า วันที่ 16 มิถุนายน 2557 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กรอบวงเงินสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเวลา 8 ปี หรือระหว่างปี 2558 - 2565 นั้น ถูกปรับลดลงเหลือ 2.4 ล้านล้าน ภายหลังการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ชะลอการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงออกไปก่อน

นอกจากนี้ ดร.สามารถได้ตั้งคำถามที่ ผอ.สนข.จะต้องให้ความกระจ่างต่อประชาชนก่อนที่จะนำเสนอกรอบวงเงินนี้ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. คือ

1. ครั้งที่แล้วเมื่อ สนข. เสนอกรอบวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ต่อ พล.อ อ.ประจิน ก็ได้ชะลอโครงการรถไฟความเร็วสูงเอาไว้แล้ว แต่ทำไมกรอบวงเงินยังสูงถึง 3 ล้านล้านบาท

2. ทำไมกรอบวงเงินที่ สนข. จะเสนอ พล.อ.อ.ประจิน ในครั้งนี้ (2.4 ล้านล้านบาท) จึงสูงกว่ากรอบวงเงินที่ สนข.เสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2 ล้านล้านบาท) ทั้งๆ ที่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเอาไว้ด้วย ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง มีมูลค่าถึง 783,552.73 ล้านบาท

3. มีโครงการอะไรบ้างที่ สนข.ได้ปรับเปลี่ยนจากที่เคยเสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และคิดเป็นเงินเท่าไร เช่น ชะลอการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพิ่มการจัดซื้อเครื่องบินให้การบินไทย และเพิ่มการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก รฟท.จ่อชงรถไฟรางคู่14สาย-3.6แสนล. วิพากษ์‘รถไฟความเร็วสูง’ทำคุ้ม-ไม่คุ้ม

***************************

ที่มา

เฟซบุ๊คของดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ http://www.facebook.com/Dr.Samart

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ

ขอบคุณรูปภาพจาก http://fanthai.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: