ลำห้วยเปลี่ยนสี

loeiminingtown.org 19 ม.ค. 2557


กว่าสองเดือนที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าความสงบหวนคืนสู่หมู่บ้านอีกครั้ง เมื่อเครื่องจักรในเหมืองทองคำบนภูเขาหยุดดำเนินการ เนื่องจากชาวบ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย 6 หมู่บ้าน ได้ประกาศใช้ระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตัน และห้ามขนสารเคมีอันตรายผ่านถนนสาธารณะของหมู่บ้าน จนเป็นเหตุให้ชาวบ้าน 33 รายถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 120 ล้านบาท

แต่การเฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความเสียหายบนภูเขา ป่า ลำห้วย แหล่งน้ำ และนาข้าวของชาวบ้าน ยังคงเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และการประกอบโลหกรรม  ตลอดจนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ตำบลเขาหลวง มาตั้งแต่ประมาณปี 2533

‘ภูซำป่าบอน’ ภูเขาลูกแรกที่ผ่านการทำเหมือง ได้ทิ้งขุมเหมืองน้ำกรดที่กว้างลึกและความตายของระบบนิเวศเอาไว้ข้างหลัง

ส่วนการทำเหมืองบนภูเขาลูกที่สอง ‘ภูทับฟ้า’ ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลอยู่เป็นระยะ และเป็นสาเหตุให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ เช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่เกาะติดการทำงานอยู่กับชาวบ้าน ต้องติดตามตรวจสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

            “ภูซำป่าบอนมีพื้นที่ประมาณ 295 ไร่...ผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย น้ำและดินที่นี่จะไหลลงสู่ที่นาชาวบ้านที่อยู่ด้านหลังภูเขา คือ บ้านนาหนองบง ...มีการประชาคมซึ่งไม่ผ่านทำให้พื้นที่นี้ต้องหยุดทำเหมืองไป...ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าตาม พรบ.ป่าไม้ เอาต้นไม้มาลงผ่านไป 3-4 ปี ก็ยังฟื้นสภาพความสมบูรณ์ไม่ได้” สุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์ กล่าว

ราวต้นเดือนที่ผ่านมาลำห้วยเหล็กที่ไหลผ่านใต้เขื่อนเก็บกากแร่บนภูทับฟ้า สายน้ำทั้งสายกลายเป็นสีสนิม

แม้ลำห้วยสายนี้จะเป็นสายน้ำต้องห้ามที่ไม่มีการนำมาอุปโภคบริโภคและไม่มีการเก็บสัตว์น้ำและพืชน้ำมารับประทานกว่าสี่ปีแล้ว แต่การปนเปื้อนในดิน นาข้าว และในระบบนิเวศยังเป็นคำถามที่ชาวบ้านทุกคนเป็นห่วงอยู่เสมอ

คำจันทร์ ดวงแก้ว ย้อนเล่าอดีตการใช้ประโยชน์ลำห้วยเหล็กที่ขาดหายไป เขารู้สึกว่าความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นคือการสูญเสียวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพิงทรัพยากรอันสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้าน

            “ห้วยภูเหล็ก เมื่อก่อนเราเคยกินผักหนามผักกูดกัน กบ เขียด หอย ปู ปลา เราก็หากินกันตรงนี้ มาตอนนี้กินไม่ได้...ก็รู้สึกอึดอัด หากินไม่ได้กิน ถ้าเราหากินได้ตามธรรมชาติสะดวก สบายใจ เราก็ไม่ต้องไปซื้อที่ตลาด” คำจันทร์ กล่าว

คริส บริค (Chris Brick) จาก เครือข่ายคลาร์ก โฟร์ก (Clark Fork Coalition)  ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาที่ศึกษาการฟื้นฟูผลกระทบจากเหมืองทองแดงในแม่น้ำ คลาร์ก โฟร์ก ของสหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่เพื่อศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้น

คริส สันนิษฐานว่า สีน้ำของลำห้วยเหล็กเกิดจากการปนเปื้อนโลหะหนักที่เป็นเพื่อนแร่ เช่น สังกะสี เหล็ก แมงกานีส หลังจากได้สำรวจพื้นที่โดยรอบแล้ว เธอแสดงความเห็นว่า “เหมือนว่าบริษัทเหมืองใช้เงินมากมายในการทำเหมือง แต่ไม่ได้ใช้เงินมากนักในการเก็บกวาดความเลอะเทอะที่ตัวเองทำไว้ การทำแบบนี้ไม่ควรมีการอนุญาตให้ทำได้ บริษัทเหมืองแร่ที่ดีจะไม่ทำแบบนี้ ฉะนั้นสำหรับฉันคนพวกนี้ไร้ความรับผิดชอบ สิ่งที่เขาทำเพื่อเช็ดล้างสิ่งที่เขาได้ทำไว้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้แล้ว”

เป็นข้อเท็จจริงที่ความเปลี่ยนแปลงยังคงปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดตลอดพื้นที่หลายร้อยไร่ในร่องห้วยเหล็ก

คำจันทร์เล่าว่า หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านคุยกันเรื่องนาข้าวหลายแปลงให้ผลผลิตน้อยลงจนไม่คุ้มทุน บางแปลงแน่ชัดมาหลายปีแล้วว่าไม่สามารถปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่นๆ ได้เนื่องจากพืชที่ปลูกจะเน่าตายในระยะเวลาสั้น ๆ

ส่วนความพยายามในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ปลูกอะไรก็ตายของชาวบ้านด้วยการลงทุนคนละหลายหมื่นบาทซื้อหน้าดินมาถมที่นา หวังว่าดินใหม่ที่ถมลงไปจะฟื้นฟูดินเดิม แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่เป็นผล

ล่าสุดกับการสำรวจการกระจายตัวและแหล่งที่มาการปนเปื้อนโลหะหนัก ในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจาย สาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนัก และประเมินการปนเปื้อนของโลหะหนักในเขตพื้นที่แหล่งแร่ทองคำ โดย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บตัวอย่างในปี 2555

ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดังกล่าว ยังคงพบสารหนู และแมงกานีสที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและน้ำบาดาลเกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 ลุ่มน้ำในพื้นที่ ได้แก่ ลุ่มน้ำฮวย ลุ่มน้ำห้วยผุก ลุ่มน้ำห้วยเหล็ก

น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน พบค่าความเข้มข้นเกินมาตรฐานของ สารหนู ไซยาไนด์ และตะกั่ว ส่วนแมงกานีส เกินมาตรฐานในบางสถานี

สารหนู และไซยาไนด์ ในน้ำผิวดิน ส่วนใหญ่เกินมาตรฐานในพื้นที่เหมือง และบางสถานีนอกพื้นที่ประกอบกิจกรรมเหมือง อีกทั้งในช่วงฤดูฝนจะพบไซยาไนด์ เกินมาตรฐานน้าผิวดินหลายจุดนอกพื้นที่เหมือง

นอกจากนี้ยังพบว่าบ่อบาดาลอื่น ๆ ในเหมือง และบ่อกักเก็บตะกอนกากแร่ มีค่าไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส และทองสูงเกินมาตรฐานเช่นกัน

และแม้ว่าการศึกษาสำรวจจากสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะไม่มีบทสรุปจากนักวิชาการว่าการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ที่เกินค่ามาตรฐานมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ เหมือนเช่นการศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่ผ่านมา

แต่มาถึงวันนี้ บาดแผลร้าวลึกที่ธุรกิจเหมืองแร่และนโยบายของรัฐได้ก่อไว้ ภายใต้วิธีคิดว่า ‘แร่’ คือทรัพยากรเพื่อการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ดีและสร้างความเจริญ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักโดยชาวบ้านในพื้นที่ว่า จะพัฒนาได้อย่างไรหากสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของชุมชนถูกทำลายลงด้วยผลกระทบจากการทำเหมืองแร่?

ดังนั้นการต่อสู้คัดค้านเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตในสายตาของชาวบ้าน มีแต่การปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูเท่านั้นจึงจะเป็นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจากรากเหง้าและนำวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเกษตรที่พยายามจะรักษาทรัพยากรที่พึ่งพิงไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้

ซึ่งหากนโยบายของประเทศต่อการใช้ทรัพยากรแร่ยังมีทิศทางและซ้ำรอยบทเรียนเดิม ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน รัฐ และธุรกิจเหมืองแร่ จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงเหล่านั้นจะจบลงอย่างไร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: