ชี้เขื่อนน้ำโขงกั้นโรงคลอดพันธุ์ปลา แนะยึด 7 หลักสากลก่อนสร้าง

19 มิ.ย. 2557


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)   จัดเวทีสรุปข้อมูลสำหรับสื่อมวลชลเรื่อง “เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ตัวแทนองค์กรแม่น้ำนานาชาติ, ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนวะณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล  นักวิชาการอิสระและกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ นายไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมแสดงความคิดเห็น

น.ส.เพียรพรกล่าวว่า ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ลุ่มน้ำโขงมีความเคลื่อนไหวอย่างมาก ต่อกรณีโครงการสร้างเขื่อนประมาณ 12 แห่ง โดยมีเหตุการณ์ที่น่าจับตามอง 2 เหตุการณ์ คือวันที่ 26 มิถุนายนนี้ จะมีการจัดประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง (4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี) ครั้งที่ 20 ขึ้นที่กรุงเทพฯ มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณากรณีกำหนดให้เขื่อนดอนสะโฮงต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าหรือไม่ หากทั้ง 4ประเทศไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็ต้องมีการยกระดับการตัดสินใจไปสู่ระดับของการทูต และทำให้เกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข  และวันที่ 24 มิถุนายน นี้ที่ศาลปกครอง กรุงเทพฯ จะมีการอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดกรณีที่ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงร้องให้ศาลมีคำสั่งไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 4 หน่วยงานรัฐ ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยและชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ ที่สำคัญคือไม่มีการปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทย เช่น เรื่องการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันที่ 24 มิถุนายน จะมีการแถลงข่าวเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำโขงราว 30-40 คนที่โรงแรมทีเคพาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะด้วย  ถือว่าเป็นประเด็นค่อนข้างใหญ่ในลุ่มน้ำโขง ที่ไทยต้องรับรู้เนื่องจากเป็นประเทศทีซื้อไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรื่องของสถานการณ์แม่น้ำโขงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

ด้านดร.สรณรัชฎ์ กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมิติของความหลากหลายทางธรรมชาติ อาทิ พันธุ์ปลา ที่มีมากมายจนกลายเป็นเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของเป็นอันดับสองของโลก รองจากแม่น้ำอเมซอน  มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และมีคนกว่า 60 ล้านที่พึ่งพาอาศัย และมีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำแห่งนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ในจีน จะพบว่าแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบอย่างมาก ภาพที่เห็นชัดการซัดพาตะกอนในลุ่มน้ำโขงตอนบนลงสู่ตอนล่าง  พื้นที่ปากน้ำโขงที่เคยมีการงอกของแผ่นดินตลอดพบการกัดเซาะประมาณ 5 เมตรต่อปี ตะกอนดินที่มีแร่ธาตุลดลง 5 % ต่อปี กระทบภาคการเกษตร ส่งผลถึงความมอุดมสมบูรณ์ของทะเล  และหากจะมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นในตอนล่างๆ ของแม่น้ำโขงขึ้นมาอีก ประเมินแล้วว่า จะทำให้แร่ธาตุละลดลงถึง 25 % และนั่นหมายถึงผลกระทบย่อมส่งถึงปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศลุ่มน้ำโขงล่าง

ดร.สรณรัชฎ์กล่าวต่อว่า หากพิจารณาจากข้อมูลของปลาในแม่น้ำโขงตอนล่างพบว่ามีประมาณ 600 กว่าชนิดเป็นปลาอพยพขึ้นและลงเพื่อหากินและวางไข่ บางชนิดวางไข่ตามน้ำหลาก และวางตามโพรงน้ำ แต่ส่วนมากวางไข่ตามพื้นกรวดเนื่องจากมีออกซิเจนเยอะโดยปลาจะวางไข่ช่วงพื้นที่แม่น้ำโขง ย่านหลวงพระบางของลาว เพราะเป็นแห่งผลิตกรวด เป็นปัจจัยตามลักษณะทางธรณีวิทยา กลายเป็น “โรงคลอด” ของปลาในแม่น้ำโขง เมื่อแต่เมื่อาวตัดสินใจสร้าง “เขื่อนไซยะบุรี” ปรากฎว่าตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนวางขวางจุดเดินทางผ่านไปยังโรงคลอด มีผลเปลี่ยนระบบการไหลของน้ำ แสดงว่ากระทบต่อระบบนิเวศทะเลสาบเขมร เกิดการกัดเซาะมากขึ้น และมีปัญหาดินเค็ม มีตะกอนของเกลือมากขึ้นด้วย  โดยไทยเป็นผู้ลงทุน เพื่อการซื้อไฟฟ้า 95 %  โดยที่น่าห่วงคือ บริษัทที่จะไปสร้างนั้นเป็นบริษัทรับเหมาทั่วไป  โดยมีทุนดำเนินการจากธนาคารไทย 6 แห่ง ได้ประโยชน์เรื่องไฟฟ้า  แต่แลกกับการสูญเสียจำนวนมหาศาล อีกทั้งเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบด้านประมง มากถึง 125 ล้านล้านบาท   

           “ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ คนในประเทศลาวและไทย ที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขงทำมาหา ขณะที่ คนเวียดนามและคนกัมพูชา อาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้พื้นที่ของเชิงตะกอนเพื่อการเพาะปลูกโดยตรง  ดังนั้นหากระบบนิเวศน์เหล่านี้ถูกทำลาย คนทั้งสองประเทศจะต้องเสี่ยงกับผลกระทบต่อการเกษตรของระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง ส่วนเวียดนามนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าหากเขื่อนเกิดขึ้น จะกระทบการส่งออกข้าวของเวียดนามมากถึง 90 %  และกระทบพืชอื่นๆประมาณ 50 % กระทบต่อจีดีพีคนเวียดนามประมาณ  27 %” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว พร้อมกับระบุว่า

            “สิ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างมากคือเรื่องอีไอเอ พบว่าไม่มีมาตรฐานโดยเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมพยายามเสนอให้ชะลอโครงการฯ ออกไปอย่างน้อย 10 ปี แต่ลาวก็มาทำการศึกษาใหม่ ออกแบบใหม่ทุกครั้งและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบ ขณะที่กัมพูชาและเวียดนามก็คัดค้านมาเรื่อย ตอนนี้จึงเป็นจังหวะที่ไทยควรตื่นตัวและปรับท่าทีใหม่ มีโอกาสปฏิเสธแล้ว ไม่ควรก้าวเข้า ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ด้วยการคิดเอาประโยชน์ฝ่ายเดียวเช่นนี้” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว

ดร.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ กล่าวว่า  จากรายงานของคณะกรรมการเขื่อนมีข้อแนะนำหลักต่อประเทศที่มีโครงการพัฒนาด้านเขื่อนทั้งหมด 7 ข้อเพื่อให้ประเทศที่อยากสร้างเขื่อนได้พิจารณา  คือ  

1.การได้รับความยินยอม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ควรมีทั้งสิทธิเรื่องการนำเสนอความเสี่ยงและสิทธิในการมีส่วนร่วมการจัดทำข้อตกลง เช่น เรื่องการย้ายถิ่นฐาน การเจรจากรณีเยียวยาหลังการเวนคืน รวมทั้งการยินยอมย้าย และยินยอมสร้าง

2.ก่อนการตัดสินใจสร้างต้องประเมินทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสของโครงการ   ให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชนเทียบเท่าคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเทคนิค 

3.การก่อสร้างเขื่อนใหม่ ให้พิจารณาเขื่อนเดิม ว่าสร้างแล้วเกิดการใช้ประโยชน์เพียงพิอหรือไม่  กลุ่มได้รับผลกระทบจากเขื่อนเก่ามีการเยียวยาเต็มที่แล้วหรือยัง ซึ่งไทยไม่เคยเกิดขึ้น  โดยข้อแนะนำส่วนนี้ระบุด้วยว่า ทุกเขื่อนมีวันหมดอายุ และมีวันสิ้นสุดสัมปทานและมีกระบวนการหยุดเขื่อนเมื่อจำเป็น 

4.การประเมินผลกระทบต้องอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วยว่า มีผลกระทบข้ามพรมแดนหรือไม่ มีประเมินย้อนหลัง ประเมินไปข้างหน้า และประเมินผลกระทบสะสมรอบด้าน

5.การตัดสินใจสร้างแล้วต้องยอมรับให้ประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาร่วมสิทธิเจรจาเพื่อแบ่งปันประโยชน์ด้วย

6.คำแนะนำสำหรับสถาบันการเงินระบุว่า สถาบันใดที่ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาดังกล่าวต้องมีการเสนอบทลงโทษสำหรับผู้ดำเนินโครงการที่ไม่ปฏิบัติตาม 5 ข้อที่กล่าวมาด้วย  

7.แม่น้ำหลายสายไม่มีประเทศที่หลายประเทศใช้รวมกัน ไม่มีประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของ อาจกล่าวได้ว่า เป็นแม่น้ำแห่งสันติภาพ ต้องมีการแบ่งปันกันเพื่อการพัฒนาอย่างมั่นคง

           “จากคำแนะนำของคณะกรรมการเขื่อนโลกนั้น ใช้ได้ผลในกรณีประเทศใดสร้างเขื่อนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนเท่านั้น ซึ่งประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมัน บราซิล ฯลฯ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาหารือ เพื่อการประยุกต์ใช้ โดยมีหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยได้มีการทดสอบหลายครั้ง โดยใช้แบบประเมินสากลที่เรียกว่า  HSAP ช่วยให้นานาชาติได้เรียนรู้ มีการเปิดเผยข้อมูล ความคิดเห็นอย่างโปร่งใส แต่ประเทศไทยมีการลงนามสัญญาตามมาตรฐานสากลดังกล่าว” น.ส.สฤณีกล่าว 

นอกจากนี้ น.ส.สฤณี ยังเห็นว่า สำหรับความล้าหลังของไทยและความเสี่ยงทางการเงินของเขื่อนไซยะบุรี คือ ไม่มีสถาบันการเงินใดลงนามในเรื่องการประเมินเรื่องความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล ขณะที่บริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนในไทยเป็นแค่บริษัทธรรมดา  ไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญพลังงานน้ำ เหมือนที่ประเทศทั่วโลกใช้  ขณะเดียวกันวิธีคิดของการปล่อยสินเชื่อในธนาคารไทย คือ มีการใช้กฎเก่าคือไม่ประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ ไม่ประเมินมาตรฐานของลูกหนี้  ซึ่งกฎดังกล่าวใช้ได้เมื่อราวก่อนปี ค.ศ.2000 อีกทั้งไทยยังพยายามใช้การปล่อยกู้โดยพยายามดันโครงการสร้างเขื่อนแบบสร้างมูลค่าและภาษีทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น เช่น  กรณีมีการคัดค้านการขวางทางปลา กลุ่มสนับสนุนเขื่อนมักจะเสนอขอกู้เพื่อสร้างพื้นที่ชดเชยทางปลา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

         “อย่างไรก็ตามทิศทางการดำเนินการที่ควรจะเป็นในอนาคต คือ กรณีศาลปกครองตัดสินนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า ศาลสั่งคุ้มครองชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ  การระงับสินเชื่อ ก็จะถูกดำเนินการโดยปริยาย หรืออีกทางหนึ่ง คือ  รัฐบาลไทย ซึ่งขณะนี้ คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถประกาศยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็อาจทำได้ โดยอ้างผลกระทบต่อชุมชน หรืออ้างหลักฐานให้ชี้ชัดได้ว่า ผู้ดำเนินโครงการแจ้งข้อมูลเท็จ ซึ่งเจ้าหนี้สามารถระงับสินเชื่อได้ ทันทีอาจส่งผลให้ ธนาคารสามารถใช้เวลาทบทวนได้ ว่ามีผลกระทบต่อชุมชนหรือเปล่า อีกทางหนึ่งคือหากสั่งยกเลิกสัญญา ก็อาจทำให้ ธนาคารที่ให้การสนับสนุนถอนตัวออกจากโครงการไม่ธนาคารใดก็ธนาคารหนึ่งสามารถทำได้” น.ส.สฤณี กล่าว  

ด้าน ดร.ไกรศักดิ์  ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่ติดตามเรื่องราวเขื่อนและการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมาต่อเนื่อง กล่าวว่า น่าจับตามองว่าครั้งนี้กัมพูชามีการส่งจดหมายถึงอดีตนายกฯ เพื่อคัดค้าน ไทยน่าจะเรียนรู้และพิจารณาจากบทเรียนการเคลื่อนไหวของกัมพูชาได้แล้ว และหันกลับมามองทุนในประเทศดูว่าทำร้ายเพื่อนบ้านมากเพียงใด เพราะการออกจดหมายของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาของกัมพูชาถือเป็นการเคลื่อนไหวทางจากผู้มีบทบาททางการเมืองเป็นครั้งแรก

สำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 20  จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ที่ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ โดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat : MRCS) ระบุวัตถุประสงค์ในการจัดประชุม เพื่อพิจารณาการดำเนินการต่างๆ อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไชยะบุรี การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ ความก้าวหน้าการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของ MRC ได้แก่ ระเบียบปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ การใช้น้ำ การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง การรักษาปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง และการรักษาคุณภาพน้ำ  การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก MRC ของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ และความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  เป็นต้น โดยทุกประเด็นที่จะพิจารณาในที่ประชุม มีเป้าหมายเพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการลดปัญหาความยากจนของประชาชนในลุ่มน้ำโขง 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: