เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่านมาภาคประชาชนกว่าร้อยคน ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อเสนอให้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ในประเด็น “ภาคประชาชนกับการปฏิรูปการจัดการน้ำประเทศไทย” โดยที่ประชุมได้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตั้งแต่ ร่วมคิด รวมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมติดตาม และร่วมรับผิดชอบ บทเรียนที่ผ่านมาเวทีการรับฟังเสียงภาคประชาชนแบบ กบอ. 3.5 แสนล้านล้มไม่เป็นท่าเพราะทำแบบลวกๆ ให้ครบตามกฎหมาย เท่านั้น จึงไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
นายสุรจิตร ชิรเวช อดีต สว.จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า การจัดการน้ำแบบ กบอ. ล้มไม่เป็นท่า เพราะเอาโครงการต่างๆ มารวมกันแล้วรวมงบประมาณเพื่อกู้เงิน 3.5 แสนล้าน ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้จัดกระบวนการการมีส่วนร่วมให้รับฟังประชาชนอย่างทั่วถึง กบอ. จึงล้มไม่เป็นท่า คนคัดค้านแผน 3.5 แสนล้านกันทั่วประเทศ “วันนี้เรามีคณะรับฟังเสียงประชาชน โดย คสช. ขึ้นมา ก็ต้องติดตามว่าเขาฟังเสียงประชาชนจริงไหม หรือจัดให้เป็นพิธีให้ครบตามกฎหมายเท่านั้น” นายสุรจิตรกล่าว
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) ได้นำเสนอให้เห็นข้อจำกัดของระบบนิเวศ สภาพข้อเท็จจริงของภูมิประเทศ และการใช้ทรัพยากรอย่างเคารพธรรมชาติ “หากเรายังต้องการทำนา 3 ครั้งในหนึ่งปีต้องดูว่าศักยภาพของธรรมชาติลุ่มน้ำนั้นๆ รองรับได้หรือไม่ และหากเราทำลายป่า ทำลายต้นน้ำอย่างที่เป็นอยู่ เราจะเอาน้ำมาจากไหน ในหน้าน้ำหลากพรรพบุรุษเราเอาน้ำเข้าทุ่งได้ปุ๋ย ให้ได้ปลา น้ำก็มีที่อยู่ไม่ไปท่วมเขตเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันเราไม่ยอมให้เอาน้ำเข้าทุ่งเพราะมีข้าวเต็มทุ่งในฤดูน้ำหลาก น้ำจึงต้องมาบุกพื้นที่เมือง พื้นที่เศรษฐกิจ ดังน้ำเราต้องกลับมาดูว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร ฤดูน้ำหลากเราควรบริหารจัดการอย่างไร ไม่ใช่ใช้มาตรการสร้างเขื่อนเป็นหลัก เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว ปี 2554 เขื่อนต่างๆ ที่มีอยู่ก็เร่งระบายน้ำเพราะกลัวเขื่อนแตก จนก่อให้เกิดมหาอุทกภัยมาแล้ว อีกทั้งบทเรียนจากยุโรป อเมริกา ประเทศพัฒนาแล้วเขาก็สรุปบทเรียนแล้วว่าเขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศน์จนทำให้เกิดมาตรการการื้อเขื่อนมามากต่อมากแล้ว ทำไมเราไม่เอามาเป็นบทเรียน ทั้งที่เรายังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลายแนวทาง” นายหาญณรงค์ระบุ
นอกจากนี้ ข้อสรุปของเวทีการจัดการน้ำภาคประชาชน ได้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน โดยตัวแทนภาคประชาชนได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาล เช่น
1.ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนดังนี้ 1.1. ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อ.สอง จ.แพร่ 1.2. ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 1.3. ให้ยกเลิกเขื่อนแม่ขาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 1.4. ให้ยกเลิกเขื่อนโป่งอาง จ.เชียงใหม่ 1.5. ให้ยกเลิกเขื่อนห้วยตั้ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 1.6. ให้ยกเลิกเขื่อนคลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
2. ให้ยุติการผลักดันโครงการเหล่านี้ในแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
3. ให้ถอดถอนโครงการเหล่านี้ ออกจากแผนกรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ
ทั้งนี้ ยังมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอทางออกของแต่ละโครงการอย่างชัดเจน แนบท้ายเอกสารแถงการณ์ด้วย อาทิ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การพัฒนาระบบเหมืองฝาย ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ การพัฒนาอ่างกักเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ฯลฯ ส่วนข้อเสนอเร่งด่วนคือเรื่องเขื่อนแม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงร้าย ที่มีปัญหาชำรุดเสียหายจากแผ่นดินไหว 6.3 มาตราริกเตอร์ที่ผ่านมา ต้องยุติการใช้เขื่อน และต้องมีงบประมาณซ่อมบำรุงเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งขอให้รัฐบาลตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการบริหารการจัดการน้ำที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนรูปธรรมการจัดการน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อ.สอง จ.แพร่ ได้เสนอเหตุผลในการคัดค้าน 14 ข้อ และแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมอีก 14 แนวทางเป็นต้น รวมทั้งยังเรียกร้องให้ถอดถอนงบประมาณผูกพันในการศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างในปี 2558 จำนวน 5 ล้านบาท และงบผูกพันในปี 2559 อีกจำนวน 75 ล้านบาท เป็นต้น “เรารับทราบจากกรมชลประทานว่าได้มีการยุติ การศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างแล้ว แต่เราชาวบ้านก็ไม่ไว้วางใจ จึงขอเรียกร้องให้กรมชลประทานทำหนังสือถอนงบประมาณผูกพันในการศึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างออกจากแผนงบประมาณด้วย โดยเราจะได้ทำหนังสือให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เร่งรัดให้กรมชลประทานคืนงบผูกพันให้กับแผ่นดินโดยเร่งด่วนต่อไป” นายสมมิ่งกล่าว
ภายหลังการแถลงข่าว ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ คปน. จะได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.)
“หยุดยัดเยียดโครงการสร้างเขื่อนในแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”
ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ระหว่างวันที่ 8 - 12 กันยายน 2557 ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระยอง โดยมีกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เป็นกองเลขานุการจัดงาน เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และสรุปรายงาน
ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยมบน-ยมล่าง (แก่งเสือเต้น) โครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม โครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน โครงการสร้างเขื่อนห้วยตั้ง โครงการสร้างเขื่อนโป่งอาง และโครงการสร้างเขื่อนคลองชมภู ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังปัญหาลุ่มน้ำฯ ที่จังหวัดพิษณุโลก และได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนให้กับตัวแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับข้อเสนอในการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
ในข้อสรุปจากเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าตัวแทนแต่ละลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำวัง ต่างมีข้อเสนอและเห็นด้วยกับการจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่มีความสอดคล้องกับระบบภูมินิเวศวัฒนธรรม และการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามข้อเสนอจากเวทีดังกล่าว ซึ่งเป็นมติของตัวแทนแต่ละลุ่มน้ำ ไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น แต่คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลับรับฟังข้อเสนอของกรมชลประทานในฐานะเลขานุการฯ และมูลนิธิอุทกพัฒน์เป็นหลัก
ดังนั้นทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ มีข้อเรียกร้องต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ดังต่อไปนี้
1. ให้รัฐบาลยุติการจัดงบประมาณผูกพันในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ดำเนินงานโดยกรมชลประทาน
2. ให้รัฐบาลถอดถอนแผนโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ออกจากแผนพัฒนาการชลประทานใน
กรอบ 60 ล้านไร่ ที่ดำเนินงานโดยกรมชลประทาน
3. ให้รัฐบาลมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทานที่ผ่านมา ว่ามีการใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ และผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาผลกระทบได้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อประเทศชาติ
4. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ มีข้อเสนอเร่งด่วนในกรณีเขื่อนแม่สรวยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยให้มีการเก็บกักน้ำไม่เกินร้อยละ 60 และให้ยุติการใช้เขื่อนชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยจัดเวทีให้ประชาชนในอำเภอแม่สรวยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการจัดการเขื่อนแม่สรวย ในอันที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชนและชุมชนที่อยู่ท้ายเขื่อนแม่สรวย
5.ขอให้รัฐบาลตรวจสอบปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการบริหารการจัดการน้ำที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนรูปธรรมการจัดการน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้วยจิตรคารวะ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ