โรงเรียนการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดบรรยายสาธารณะครั้งที่ 12 โดยเชิญ รศ.ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตผู้นำองค์กรเบอร์ซาตู ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐไทย มาบรรยายในหัวข้อ “ทำความเข้าใจการเมืองของปาตานี ผ่านชนชั้นนำและโครงสร้างสังคมมลายู” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และรศ.อับดุลเลาะ อับรู ร่วมเป็นวิทยากร นายรอมฎอน ปันจอร์ ดำเนินการเสวนา
สำหรับการบรรยายหัวข้อ “ทำความเข้าใจการเมืองปาตานีผ่านชนชั้นนำและโครงสร้างสังคมมลายู” ครั้งนี้สืบเนื่องจากโรงเรียนการเมือง DSW เห็นว่า หัวข้อดังกล่าวเป็นหัวข้อของการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่ รศ.ดร.วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน ศึกษาวิจัย เมื่อครั้งศึกษาที่มหาวิทยาลัย Science Malaysia เมื่อกว่า 33 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของสังคมมลายูปาตานี อันเป็นการย้อนดูความงานศึกษาค้นคว้าในอดีตเพื่อทำความเข้าในปัจจุบัน
ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวถึงเหตุผลหนึ่งที่ตนสนใจศึกษาในประเด็นดังกล่าวในช่วงเวลานั้นว่า เนื่องจากตนเป็นหนึ่งในสมาชิกสังกัดองค์กรต่อต้านรัฐไทยในขณะนั้น คือ องค์กร BNPP และการศึกษาวิจัยครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรู้ว่า ขบวนการต่อต้านรัฐและองค์กรที่สังกัดอยู่นั้น มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาปรับปรุงองค์กรตนเอง
“จากการศึกษาและที่เป็นข้อค้นพบว่า องค์กรของเราเองก็จะคล้าย ๆ กับองค์กรอื่น ๆ ที่มีอยู่ ไม่ได้มีอะไรพิเศษและไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้เพราะทั้งหมดก็อ่านทฤษฎีหรือแนวทางปฏิบัติก็จะคล้ายๆ กัน ก็คืออ่านจากทฤษฎีของตะวันตกบ้าง ของใครต่อใครซึ่งไม่ได้มีความคิดของตัวเองเท่าไร”
จากการศึกษาวิจัยในครั้งนั้น ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวว่า ทำได้รับรู้ถึงความเป็นจริงขององค์กรที่เป็นขบวนการต่อต้านรัฐว่ามีโครงสร้างอย่างไร ได้รับการสนับสนุนอย่างไรและมีความซับซ้อนอย่างไร จะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรใต้ดิน แต่ในความเป็นจริงยังมีองค์กรใต้ดินขององค์กรใต้ดินอีก ซึ่งทำให้การทำความเข้าใจขบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะจากคนภายนอกที่ต้องการทำความเข้าใจขบวนการ
ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวว่า สมัยก่อนสามารถรับรู้ได้ว่า มีองค์กรอะไรบ้างที่มีบทบาทหรือปฏิบัติการในพื้นที่ และปัจจุบันเป็นเรื่องยากมากที่จะรู้ว่ามีองค์กรใดบ้างที่มีบทบาท เพราะปิดลับมาก ซึ่งเมื่อก่อนจะมีองค์กรของขบวนการประมาณ 10 องค์กร และที่มีบทบาทอยู่ 4 องค์กร แต่ปัจจุบันไม่อาจจะทราบได้ว่ามีองค์กรอยู่เท่าไรและองค์กรที่มีบทบาทอยู่ในพื้นที่เป็นองค์กรใดบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากตนได้ยุติบทบาทนี้แล้ว
การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรขบวนการต่อต้านรัฐกับชนชั้นนำและผู้นำศาสนานั้น ดร.วันอับดุลกาเดร์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในปาตานี จะเห็นว่าในช่วงแรกของการต่อต้านรัฐไทยนั้น ผู้นำการต่อต้านรัฐไทยมาจากชนชั้นนำที่เป็นอดีตผู้ปกครองรัฐมลายูหรือเชื้อสายเจ้ามาก่อน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่สูญเสียอำนาจ เมื่อต้องตกอยู่ใต้การปกครองของไทย ซึ่งในสภาพความเป็นจริงกลุ่มผู้นำที่เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าเหล่านี้ ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนระดับล่างมากนัก เนื่องจากเป้าหมายการต่อสู้ของพวกเขา ต้องการรักษาฐานอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
“แรก ๆ ประชาชนชอบผู้นำเลือดเจ้าเหล่านี้ แต่อยู่นาน ๆ คนเหล่านี้ทำอะไรไม่ค่อยตรงกับหลักการที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ และผู้นำสายเจ้าเหล่านั้นค่อย ๆ หายไป ผู้นำกลุ่มใหม่ที่เข้ามาแทนที่ คือคนที่มีอำนาจในสังคมที่แท้จริง ซึ่งก็คือ ชนชั้นนำทางศาสนา เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้นำที่สามารถชี้นำประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะใช้ศาสนาที่ประชาชนชื่นชอบเป็นฐานในการนำองค์กร และเข้ามาแทนที่ผู้นำสายเจ้า”
จากการศึกษาวิจัยของ ดร.วันอับดุลกาเดร์พบว่า ชนชั้นนำที่เป็นผู้นำศาสนาเหล่านั้น เมื่อขึ้นสู่สถานะผู้นำแล้วจะไม่ค่อยยอมลงจากสถานะความเป็นผู้นำหรือลงไม่ได้ แม้จะมีความผิดอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นมุสลิมเป็นฐานรองรับอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้นำศาสนามีบทบาทสูงมากในขบวนการต่อต้านรัฐไทย และในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำศาสนาเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษาสูง จบการศึกษาจากต่างประเทศ และมีบทบาทในการสอนศาสนาในชุมชนอย่างแท้จริง และเข้ามาเป็นผู้นำในองค์กรของขบวนการ
บทบาทของผู้นำศาสนาเหล่านี้ จะได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป มากกว่าการเมืองในระบบด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำการเมืองในระบบไม่ว่าจะเป็นผู้แทนราษฎร ประชาชนจะเข้าใจว่านักการเมืองเหล่านี้ต้องเข้าไปอยู่ในรัฐสภาของรัฐไทย ซึ่งเป็นการอยู่กับฝ่ายตรงข้ามหรืออยู่กับผู้ปกครองที่กดขี่
“วัฒนธรรมของพวกเราที่นี่ ประชาชนที่นี่ เขาให้ความสนใจโต๊ะครูสอนศาสนาที่ใส่เสื้อขาวขี่จักรยานมากกว่านักการเมือง”
ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ผู้นำศาสนาเข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐ เนื่องจากคำสอนของศาสนาอิสลามกำหนดให้ต้องต่อสู้กับการกดขี่ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอื่น ๆ อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติของรัฐไทย ที่มีต่อชนชั้นนำเหล่านี้ด้วย กล่าวคือ ชนชั้นนำสายเจ้า มักจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าชนชั้นนำทางศาสนาจากรัฐ ในขณะเดียวกันนักการเมืองในระบบเองก็ได้รับความสนใจจากรัฐมากกว่าเช่นเดียวกัน นักการเมืองในระบบรัฐสภาหรือนักธุรกิจ ถูกมองว่าเป็นผู้นำทางโลก ไม่ตรงความต้องการของประชาชน การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นนำทางศาสนาเข้าร่วมกับขบวนการ
ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวถึงประเด็นความเห็นต่างระหว่างรัฐไทยกับปาตานีว่า นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการกับชาวมลายูปาตานีเป็นนโยบายที่ไม่ตรงกับความต้องการของชาวมลายูปาตานี และปฏิบัติกับชาวมลายูปาตานีเหมือนเป็นคนนอก ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงชาวมลายูต่างรับรู้ถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันนี้
ดร.วันอับดุลกาเดร์ยังได้กล่าวถึงงานการศึกษาขบวนการการแบ่งแยกดินแดนของชาวโมโร ในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกว่า มีโอกาสเข้าร่วมกับขบวนการ เพื่อศึกษาวิจัยเป็นเวลา 7 เดือน พบว่าแนวร่วมการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโรมีผู้นำที่เป็นชนชั้นนำทางศาสนาน้อยมาก โดยตนพบเพียงคนเดียวซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์ ในขณะที่ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนของปาตานีในเวลานั้น เป็นชนชั้นนำทางศาสนาถึง 90 เปอร์เซนต์
สำหรับการตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนานั้น นายเด่น โต๊ะมีนา ถามถึงความคาดหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อต้านรัฐไทย ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคู่เจรจาว่าจะมีแนวทางอย่างไร มีความฉลาดอย่างไร ทั้งนี้มองว่ามาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยนั้นอาจจะไม่มีความรู้เรื่องของปาตานีอย่างแท้จริง และมาเลเซียได้พยายามแก้ปัญหาปาตานีมา 20 ปีแต่ยังไม่มีผลแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง คนในพื้นที่รู้เรื่องของตัวเองดีที่สุด
ส่วนคำถามที่ว่าการแบ่งแยกดินแดนปาตานี ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ ดร.วันอับดุลกาเดร์กล่าวว่า ความเป็นได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มที่กำลังต่อสู้กันอยู่ บางกลุ่มเชื่อว่าเป็นไปได้ บางกลุ่มบอกว่าเป็นไปไม่ได้ในขณะที่บางกลุ่มต่างรอโอกาสที่เหมาะสมในการต่อสู้ ในขณะที่บางกลุ่มมองว่า หน้าที่ของตนคือต่อสู้ส่วนชัยชนะเป็นเรื่องของพระเจ้า ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ต่อสู่ปัจจุบันนี้ มีทั้งที่ต้องการต่อสู้ด้วยอาวุธ และอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการต่อสู้ด้วยสันติวิธี
“ผมคนหนึ่งที่เปลี่ยนจากการสู้ด้วยการจับปืน มาเป็นมาเป็นการต่อสู้ ที่ต้องมาพูดแบบวันนี้ ผมนี่สู้มากว่า 30 ปีแล้ว ยังไม่ได้อะไร ก็ลองทางอื่นบ้าง” อดีตผู้นำองค์กรเบอร์ซาตู กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ