‘แพทย์-พยาบาล’วอนสธ.เพิ่มสวัสดิการ เผยใน10ปีปฏิบัติหน้าที่ตาย-เจ็บกว่า4พัน

19 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 1921 ครั้ง

ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีผู้ให้บริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่พ.ศ.2547 เป็นต้นมา พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ จากการให้บริการแก่ผู้ป่วย ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากสปสช. ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 18 (4) จำนวน 4,315 คน เฉลี่ยปีละ 432 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร 21 คน พิการ 12 คน บาดเจ็บ 3,500 กว่าคน และเกือบร้อยละ 50 เป็นพยาบาลวิชาชีพ

ทั้งนี้ในจำนวนที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เกิดจากอุบัติเหตุรถส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 13 ราย ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ 3 ราย ติดเชื้อ 3 ราย จากคลื่นยักษ์สินามิ 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถส่งต่อผู้ป่วยเป็นพยาบาล 5 ราย พนักงานขับรถ 5 ราย ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 2 ราย และในกรณีของการติดเชื้อเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวร เป็นพยาบาล 2 ราย และพนักงานทั่วไป 1 ราย

            “หากดูในภาพรวมของบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด พบว่าพยาบาลเป็นวิชาชีพ ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการผู้ป่วยรุนแรงและมีจำนวนมากที่สุดมาโดยตลอด เนื่องจากพยาบาลเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับความเสียหาย ทั้งการเสียชีวิต พิการ และเจ็บป่วย” ดร.กาญจนากล่าว

ด้านความช่วยเหลือบุคลากรเหล่านี้ ดร.กาญจนาระบุว่า สำนักการพยาบาล จะทำรายงานสภาพปัญหาความทุกข์ร้อนของบุคลากรรายจังหวัด เสนอผู้ตรวจราชการในเขตบริการสุขภาพ ให้มีการดูแลในการประกันชีวิต และการประกันสุขภาพ หรือเพิ่มเติมสวัสดิการ รวมทั้งการเยียวยาที่นอกเหนือจากการรับเงินช่วยเหลือตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยเตรียมเสนอสภาพยาบาล ผลักดันรัฐบาลให้ปูนบำเหน็จบุคลากรสาธารณสุขที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เหมือนตำรวจทหาร

ข้อมูลล่าสุดในปีงบประมาณ 2556 มีผู้ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ 532 คนจาก 71 จังหวัด แยกตามกลุ่มวิชาชีพดังนี้ คือ พยาบาลวิชาชีพ 245 คน รองลงมาคือผู้ช่วยเหลือคนไข้ 123 คน แพทย์ 33 คน เภสัชกร 6 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 8 คน คนงาน-พนักงานเปล 38 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ 79 คน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต 3 คน พิการ 4 คน ติดเชื้อวัณโรค 191 คน นอกจากนี้ยังถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกาย 173 คน

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: