‘หมอตำแย’ทางเลือกของแม่ลูกชาติพันธุ์ ไม่เชื่อมั่นร.พ.-เดินทางยาก-ค่าใช้จ่ายสูง

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 19 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4035 ครั้ง

1.

จากข้อมูลสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2552 (ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการสำรวจมาแล้ว 4 ครั้ง คือปี 2518 2528 2539 และ 2549) พบว่า สถานที่คลอดบุตรและบุคลากรผู้ทำคลอด มีความสำคัญมากต่อความปลอดภัยของแม่และบุตร ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ส่วนมากคำนึงถึง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการคลอดและการเดินทางไปคลอด ผลการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของหญิงตั้งครรภ์บุตรคนสุดท้อง (ที่ยังมีชีวิตอยู่อายุต่ำกว่า 1 ปี) คลอดบุตรที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยกว่า 2 ใน 5 คลอดที่โรงพยาบาลชุมชน (ร้อยละ 42.0) รองลงมาคือ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปและสถานพยาบาลอื่น ๆ ของรัฐ (ร้อยละ 38.1 และ 10.8 ตามลำดับ) สำหรับบุคลากรผู้ทำคลอด พบว่า 2 ใน 3 เป็นแพทย์ และ 1 ใน 3 เป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ที่มา: การสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. 2552

ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนถึงความปลอดภัยของแม่และบุตร โดยจากข้อมูลสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ปี 2552 ยังระบุว่า จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ย เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของภาวะเจริญพันธุ์ที่แสดงถึงพฤติกรรมการมีบุตรสะสมของหญิง และสามารถใช้วัดขนาดครอบครัวโดยเฉลี่ยของหญิงเมื่อสิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 45-49 ปี) จากการสำรวจปี 2552 หญิงอายุ 15-49 ปี มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ย 1.30 คน โดยหญิงที่อยู่ในเขตเทศบาล มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยต่ำกว่าที่อยู่นอกเขตเทศบาล ( 1.11 คน และ 1.40 คน ตามลำดับ) หญิงอายุมากขึ้นมีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยสูงกว่าหญิงอายุน้อย สะท้อนการมีบุตรสะสมที่เพิ่มตามอายุ

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2549 พบว่า จำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยของหญิงอายุ 15-49 ปี ในปี 2552 มีจำนวนสูงกว่า โดยเฉพาะหญิงอายุ 20-24 ปี มีจำนวนเพิ่มสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น คือ จาก 0.44 คน ในปี 2549 เป็น 0.59 คน

ถ้าพิจารณาจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยของหญิงที่สิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 45-49 ปี) เพื่อศึกษาภาวะเจริญพันธุ์สมบูรณ์ โดยเปรียบเทียบกับปี 2549 พบว่า มีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือประมาณ 2.15 คน และนอกเขตเทศบาลมีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยสูงกว่าในเขตเทศบาลเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ในเขตเทศบาลมีจำนวนบุตรเกิดรอดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 1.79 คน เป็น 1.89 คน ขณะที่นอกเขตเทศบาลลดลงจาก 2.33 คนเป็น 2.28 คน ตามลำดับ

แต่กระนั้นในพื้นที่ที่ห่างไกลประเด็นสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของคนบางกลุ่มในประเทศ ก็ยังได้รับโอกาสด้านสวัสดิการน้อยกว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่

 

2.

แม้รัฐจะมีนโยบายให้บริการสุขภาพทั่วถึงกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ผ่านนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการด้านสุขภาพ อาทิ บัตรทอง การตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ผ่านการตั้งสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ภายใต้สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขึ้นในปี พ.ศ.2540 เพื่อผลิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงผลักดันให้มีนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์ในชีวิตของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลับให้ภาพอีกด้านที่แตกต่างจากข้อกำหนดอันเป็นมาตรฐานสากลของการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์

สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 เพื่อทำงานด้านการผลิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์และสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ตามมาตรฐาน รวมทั้งผลักดันให้มีนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยยึดมั่นในคำประกาศนโยบายอนามัยเจริญพันธุ์ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันประชากรโลก 11 กรกฏาคม 2540 ว่า “คนไทยทุกคนทั้งชายและหญิงทุกกลุ่มอายุ จะต้องมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี”

ทางเลือกจำกัด ผลักหญิงชาติพันธุ์หลุดบริการสุขภาพ

งานศึกษาของ น.ส.มะลิวัลย์ เสนาวงษ์ นักวิจัยศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ผู้หญิงปกาเกอะญอกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ กรณีศึกษาประสบการณ์ชีวิตของหน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ในหมู่บ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พบว่า หญิงปกาเกอะญอจำนวนมาก ยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ บางรายเกือบเสียชีวิตจากการคลอดลูก อีกทั้งวัฒนธรรมชนเผ่านิยามเรื่องเพศเป็นของสงวน เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวจึงไม่ยอมรับการรักษา

ความห่างไกลระหว่างหมู่บ้านและสถานบริการสุขภาพของรัฐ เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของหญิงครรภ์แก่ใกล้คลอด ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตรจากหมู่บ้านห้วยอีค่างบนดอยสูง ถึงโรงพยาบาลแม่วาง ในตัวอำเภอ ถนนลูกรังขรุขระและมีรถโดยสารเพียงคันเดียวจากหมู่บ้านลงมา ทำให้หญิงส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่จะคลอดลูก จึงไม่ค่อยมีใครลงมาที่โรงพยาบาล เว้นเสียแต่เกิดอาการเจ็บป่วยในช่วงตั้งครรภ์ การมาคลอดที่โรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่ามาก

            “หญิงปกาเกอะญอเล่าให้ฟังว่า บางครั้งเราไปคลอดที่โรงพยาบาล ถนนไม่ดี แม่ส่วนใหญ่จะคลอดระหว่างทางหากจะไปคลอดที่โรงพยาบาลจะต้องพาหมอตำแยไปด้วยทุกครั้ง เป็นการป้องกันการคลอดระหว่างทาง หลายคนไปโรงพยาบาลตอนที่ปวดท้องคลอดแต่ก็ไปไม่ถึง” น.ส.มะลิวัลย์กล่าว

ไม่เฉพาะระยะทางที่ห่างไกล ปัญหาเรื่องการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้หญิงที่ไปรอคลอด นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รอคลอดที่บ้าน บางกรณีที่ปวดท้องจะคลอดแต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วหมอตรวจดูว่าปากมดลูกยังไม่เปิดไม่สามารถคลอด ณ ขณะนั้นได้ จะให้คนไข้กลับบ้านไปก่อน โดยส่วนมากแล้ว หญิงที่กลับบ้านแล้วจะไม่กลับมาอีก เพราะต้องเสียเวลาเดินทางรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

หมอตำแยทางเลือกของหญิงชาติพันธุ์

เมื่อการแพทย์สมัยใหม่ไม่ตอบรับ “หมอพื้นบ้าน” จึงเป็นทางเลือกแรกของหญิงชนเผ่า หมอตำแยถือเป็นคนแรกที่ผู้หญิงไว้ใจให้ทำคลอด เนื่องจากเชื่อถือความรู้หมอตำแยมากกว่าความรู้หมอสมัยใหม่รวมถึงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและระยะทาง

            “เพราะรู้ว่าคนนี้ทำคลอดมาเยอะพอสมควร ไม่เคยทำให้เด็กคนไหนตาย สอง เขาสามารถสื่อสารกับเราได้ เราไปเรียกเขากลางคืน ตีหนึ่งตีสองเขาก็มา ถ้าไปโรงพยาบาลตอนนั้นไม่มีรถก็ไม่ทัน รวมถึงปัญหาเรื่องการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่” หน่อแอริ กล่าวถึงสาเหตุที่ตนเลือกคลอดลูกกับหมอตำแย

เช่นเดียวกับ นางสุธินี นาสวนบริสุทธิ์ หญิงชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองภาภูมิ จ.กาญจนบุรี วัย 20 ปี ลูกทั้งสองคนของเธอผ่านการทำคลอดจากหมอตำแยในหมู่บ้าน สุธินีเล่าว่า ปัจจัยหลักที่เลือกทำคลอดกับหมอพื้นบ้านเนื่องจากไม่มีเงินเพื่อเดินทางไปคลอดที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ ประกอบกับระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะคลอดลูกระหว่างทาง

 นางสุธินี นาสวนบริสุทธิ์

เสี่ยงลดจำนวนเพราะไม่ใช่ “วิทยาศาสตร์”

อย่างไรก็ดี น.ส.มะลิวัลย์ระบุผ่านงานวิจัยว่า ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ได้สถาปนาชุดความรู้ใหม่ว่าด้วยเรื่องการทำคลอดและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ มาแทนที่ความรู้ท้องถิ่นของหมอตำแยในชุมชน ความรู้ท้องถิ่นจึงถูกมองว่าเป็นความรู้ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ปราศจากความน่าเชื่อถือและถูกเบียดขับกลายเป็นความรู้ชายขอบ

ยิ่งไปกว่านั้นระบบการแพทย์สมัยใหม่พยายามเปลี่ยนให้หมอตำแยรับเอาวิธีการทำคลอดแบบสมัยใหม่มาใช้ โดยการจัดอบรมให้ความรู้กับหมอตำแยพื้นบ้านเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกสุขลักษณะในการทำคลอดที่สถานีอนามัยยะพา หนึ่งในหมอตำแยจากหมู่บ้านหนองอีค่างที่เข้ารับการอบรมเล่าให้ฟังว่า

            “อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน) มาบอกว่า หมอตำแยจะต้องไปประชุมหมู่บ้านละสามคนที่อนามัย ตอนแรกที่ไป หมอจะฝึกอบรมเกี่ยวกับคนตั้งท้อง ถ้าหากกินอาหารไม่อร่อยให้ไปหาหมอ ส่วนขั้นตอนการทำคลอดเขาไม่อบรมเกี่ยวกับการจับท้องเลยว่าเด็กมีลักษณะอย่างไร บอกเพียงแต่ว่าเด็กเกิดแล้วต้องตัดสายสะดือและทำความสะอาดอย่างไร สำคัญคือให้ใช้กรรไกรตัด ซึ่งในความเชื่อของปกาเกอะญอเราไม่ใช้กรรไกร”

จากประสบการณ์ของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดลูก แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีทางเลือกที่จำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐ ทั้งจากเรื่องการเดินทางที่ยากลำบาก ปัญหาเรื่องการสื่อสารและอคติทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในระบบสาธารณสุขของรัฐไทย ความรู้พื้นบ้านของหมอตำแยถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย และเป็นสิ่งที่หญิงชาติพันธุ์เข้าถึงได้ง่ายไม่จำกัดเวลา สถานที่ ตลอดจนมีวิธีดูแลแม่และเด็กเกิดใหม่ที่ละเอียดอ่อนต่อความต้องการของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน จับตา: อนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีในอาเซียน

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4240

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: