‘ธุรกิจกวดวิชา"โต5.4%   ชี้เด็กเชื่อมั่นกว่าเรียนร.ร.

19 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3698 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาสถาบันกวดวิชา ภายหลังคสช.ให้กระทรวงศึกษาธิการหาแนวทางแก้ไขปัญหานักเรียนเรียนมากเกินไปว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) รายงานผลวิจัย “ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการกวดวิชา” โดยหยิบยกงานวิจัย ปริญญานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ ในช่วงปี 2545-2557 มาสังเคราะห์จนพบว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            “ในปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชาถึง 2,005 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และกระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 1,545 แห่ง มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใช้บริการถึง 453,881 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าทางการตลาดของธุรกิจประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ก่อนขยับขึ้นเป็น 7,160 ล้านบาท ในปี 2556 ที่ผ่านมา และจะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งเป็นการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี เพราะมีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกวดวิชา เกิดจากผู้เรียนคาดหวังว่าผลการเรียนจะดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบ รวมถึงใช้เตรียมตัวสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนผลกระทบจากการกวดวิชานั้น อังดับแรกสุดคือค่าใช้จ่ายต่อเทอมค่อนข้างสูง ผู้เรียนต้องออกนอกบ้าน และสถาบันกวดวิชาไม่เน้นสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ผลวิจัยยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหากวดวิชาประกอบด้วย ต้องพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เท่าเทียมกัน สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียน และปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ

            “ที่ประชุมได้มอบให้ สนย.ไปศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวในเชิงลึกอีกครั้ง รวมทั้งให้ไปศึกษากรณีที่โรงเรียนเปิดสอนกวดวิชาหรือสอนพิเศษให้กับนักเรียนเอง ในช่วงเลิกเรียน หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ด้วยว่าสอนอะไร แบบใด ที่สำคัญครูผู้สอนมีการกั๊กวิชาสอนปกติในห้องเรียนเพื่อมาสอนพิเศษหรือไม่ จากนั้นให้เร่งสรุปผลวิจัยที่ได้ เสนอต่อที่ประชุมปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการกวดวิชา ช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้” เลขาธิการกอศ.กล่าว

ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงแนวทางลดการเรียนการสอนของเด็กให้น้อยลง ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของสพฐ.ว่า ได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สพฐ. เร่งวิเคราะห์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลง เช่น สังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ก็ให้มาจัดกิจกรรมแทน เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มปรับลดชั่วโมงเรียนบางวิชาภายในภาคเรียน 2/2557 นี้

นายกมลกล่าวต่อว่า สพฐ.ไม่อยากปรับลดใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากการปรับลดชั่วโมงเรียนเกี่ยวข้องกับหน่วยกิต และการเรียนจบการศึกษา ตลอดจนสพฐ.มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติการสอนจำนวนมาก จึงต้องศึกษาและวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตามเรามีตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศเกาหลี ที่เรียนวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในภาคเช้า และเรียนวิชากิจกรรม อาทิ ดนตรี หรือศิลปะ ในภาคบ่าย ทั้งนี้ สพฐ.มองว่าแนวทางข้างต้น จะทำให้เด็กไม่ต้องอยู่ในห้องเรียนทั้งวัน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดได้ ดังนั้นสพฐ.จะหาวิธีจัดการไม่ให้เด็กเรียนหนักมากเกินไป แต่เรียนแล้วมีคุณภาพ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: