ยังเป็นประเด็นแย้ง-ภัยคลื่น'เสามือถือ' ผลกระทบไม่ชัด-โผล่ร้องอ้างก่อมะเร็ง

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 19 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4541 ครั้ง

แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศระบุว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่มาจากสถานีส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ มีผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในรัศมีโดยรอบ แต่หน่วยงานควบคุมดูแลอุตสาหกรรมนี้ของประเทศไทยอย่างกสทช. กลับออกมาระบุว่าการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเกิดคำถามตามมาว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กจากโทรศัพท์มือถือนั้นจะเป็นภัยที่ถูกปกปิดและทำให้เงียบหรือไม่

กลายเป็นข่าวครึกโครม เมื่อหญิงรายหนึ่งในจ.ชลบุรี ติดป้ายประท้วงการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณบ้านพักอาศัย โดยอ้างว่าไม่สามารถทนกับสภาพความเจ็บป่วยจากโรคพาร์กินสัน ที่ตนเชื่อว่าเกิดจากคลื่นที่แพร่ออกจากเสาสัญญาณ รวมถึงการทะยอยเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงในบ้าน ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า มีจำนวนสถานีฐานในระบบ 2G จำนวน 19,847 สถานีฐาน ขณะที่สถานีฐานระบบ 3G ที่ติดตั้งเพิ่มในปีพ.ศ.2556 ได้รับอนุญาตจำนวน 3,650 สถานี

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สถานีฐานถูกตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ และมีการขยายมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมการบริการในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ ความกังวลใจของประชาชนก็เริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ ว่าคลื่นสัญญาณจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศตั้งข้อสังเกตว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากเครื่องส่งสัญญาณบนสถานีฐาน อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในรัศมีโดยรอบ แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลธุรกิจการสื่อสารของประเทศไทยอย่างกสทช. กลับออกมาระบุว่า การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กจากโทรศัพท์มือถือส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หรือเป็นภัยที่ถูกปกปิดและทำให้เงียบ

กสทช.ยันไม่เป็นอันตราย สวนทางอนามัยโลก

แม้จะยังไม่มีงานศึกษาใดระบุชัดเจนว่า คลื่นที่แผ่ออกจากเสาสัญญาณ เป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วย แต่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) สังกัดองค์การอนามัยโลก WHO จัดให้คลื่น Radio Frequency ซึ่งเป็นคลื่นที่แพร่ออกจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ จัดเป็นคลื่นที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่ม 2B (Possibility carcinogenic) คือ มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ก่อมะเร็ง

นางสาย (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นางสายเชื่อว่า ตั้งแต่มีเสาโทรศัพท์มาตั้งอยู่ข้างบ้านเมื่อ 9 ปีก่อน ครอบครัวเธอก็ประสบแต่ความเจ็บป่วย ลูกชายวัย 14 ปี ของเธอเริ่มมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หงุดหงิดง่าย และจะสะดุ้งตื่นกลางดึกทุกคืน ซึ่งอาการเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับแม่วัย 77 ปี เช่นกัน ขณะที่พ่อวัย 79 ปีจากที่เคยมีสุขภาพแข็งแรงวิดพื้นได้มือเดียวกลับตรวจพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่จนต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อ 3 ปีก่อน และหลังจากพบแพทย์ นางสายได้แจ้งไปยังบริษัทเจ้าของเสาส่งสัญญาณแต่กลับได้รับการตอบกลับว่า หากพิสูจน์ได้ว่าความเจ็บป่วยของครอบครัวเกิดจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กจากเสาของบริษัทจริงจึงจะย้ายสถานีฐานให้

ผศ.ดร.ธเนศ พัฒนธาดาพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมวิจัยของ กสทช. กล่าวว่า ภารกิจหลักของทีมวิจัยคือ การทำความเข้าใจกับประชาชน ให้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการวิจัย ค่าที่ได้จะนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อเป็นจุดอ้างอิง ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและความปลอดภัย

ข้อมูลจากทีมวิจัยระบุว่า ผลจากการวัดระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานทั้งสิ้น 40 สถานี ที่บริเวณห่างออกไปจากเสาสัญญาณทั้งสิ้น 6 ระดับคือ 0-50 เมตร, 100-200 เมตร, 200-300 เมตร, 300-400 เมตร, 400-500 เมตร พบว่า บริเวณห่างจากเสาสัญญาณจะมีความแรงของสัญญาณน้อยลง โดยในแต่ละพื้นที่สถานีพบว่า ค่าการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐานที่กำหนดไว้มาก โดยค่าที่วัดได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมาตรฐานค่าขีดจำกัดความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่ออ้างตามมาตรฐานสากล โดยประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีวิทยุคมนาคม ที่ตรวจวัดมีความปลอดภัยจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากฐาน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีงานวิจัยในต่างประเทศ ที่ระบุถึงอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กที่แผ่ออกจากเสาสัญญาณ รวมถึงกรณีที่มีการเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับสถานีฐาน ผศ.ดร.ธเนศ ให้เหตุผลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่ประชาชนได้รับ ส่วนมากระบุถึงด้านเสียของคลื่นแม่เหล็ก ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะพฤติกรรมของแต่ละคนที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่แล้ว นอกจากนี้ทุกครั้งก่อนมีการตั้งสานีฐานต้องมีการตรวจสอบถึงมาตรฐานอยู่แล้ว ที่ผ่านมาหากไม่ผ่านมาตรฐานก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้ง

ทั่วโลกยืนยันเสาสัญญาณยังเสี่ยงแม้ผ่านมาตรฐาน

ศ.ดร.มานิต รุจิเมธาภาส แห่ง Lakehead University Thunder Bay Ontario ประเทศแคนาดา ให้ข้อมูลว่า เนื่องด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างกว้างขวาง สัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (คลื่นความถี่วิทยุและคลื่นไมโครเวฟ)  WiFi ได้แพร่กระจายอยู่ทั่วไป มีอยู่ตามศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล ฯลฯ เพื่อให้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถรับส่งสัญญาณได้ จึงมีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณกระจายกันอยู่ทั่วเมือง มีตั้งแต่เสาส่งที่ตั้งเป็นเอกเทศโดยเฉพาะ ที่ติดตั้งไว้ตามหลังคาของอาคารสูงและที่ติดตามเสาไฟฟ้าทั่วไปไม่ว่าจะตามถนนใหญ่ หรือในซอย ฯลฯ ถ้าเราสามารถมองเห็นคลื่นเหล่านี้ เราจะเห็นมันเป็นเหมือนกับหมอกที่กระจายอยู่ในอากาศ เป็นหมอกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกได้ว่ามลภาวะเป็นพิษจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electrosmog)

คลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุทะลวงผ่านกำแพงคอนกรีต ไม้ และ กระจก ฯลฯ ได้ ถึงแม้ว่ามันไม่สามารถทำให้พันธะทางเคมีแตก แต่ทำให้โมเลกุลของ DNA แตกได้ (strand breaks) ซึ่งอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ หากร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ทัน ทั้งนี้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายพบว่า คลื่นไมโครเวฟมีผลกระทบทางชีวภาพต่อคน คนที่ได้รับรังสีไมโครเวฟอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ ปวดหัว อ่อนเพลีย มีผื่นคันตามผิวหนัง ความจำเสื่อม วิงเวียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ระบบขับถ่ายมีปัญหา ความดันโลหิตเปลี่ยน ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยน หัวใจเต้นผิดปกติ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ ที่ถูกคลื่นบ่อยๆ การรั่วของโครงสร้างกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) โรคภูมิแพ้ (chemical sensitivity) ผลกระทบต่อระบบประสาทการฟัง เป็นโรคซึมเศร้า มีเสียงในหู ปัญหาการนอนหลับผิดปกติ สายตาพร่ามัว ปัญหาการเป็นหมันในผู้ชาย ฯลฯ

ดร.มานิตกล่าวว่า ผู้ที่ถูกรังสีบ่อย ๆ อาจมีอาการบางอย่างข้างต้นไม่เหมือนกัน และไม่เป็นทุกอาการพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนและ บางคนมีอาการเร็ว บางคนช้า ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่มีความรู้เรื่องนี้และเมื่อมีคนไข้ไปหา ก็มักจะรักษาเฉพาะอาการนั้น ๆ ซึ่งมันจะไม่หายขาด เพราะว่าต้นเหตุของอาการอยู่ที่ผู้ป่วยถูกรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไมโครเวฟ ในประเทศแคนาดาเอง ก็มีความพยายามจะให้ความรู้เรื่องนี้กับแพทย์

ดร.มานิตระบุว่า การติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ควรจะห่างจากที่ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ประมาณ 400-500 เมตร ห้ามติดใกล้บ้านคน ทั้งนี้มีตัวอย่างที่น่ากลัวจากต่างประเทศให้เห็นบ้างแล้ว เช่น ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศสเปน เมือง Perez มีประชากร 350 คน หลังจากติดตั้งเสาส่งหลายปี มีคนเป็นมะเร็งถึง 43 คน 35 คนเสียชีวิตแล้ว อีก 8 คนเสียชีวิตในปี พ.ศ.2552 และผู้ที่ยังไม่แสดงอาการซึ่งอาจจะเป็นมะเร็งได้ในภายหลัง

ผู้ให้บริการระบุรังสีต่ำกว่ามาตรฐาน

ก่อนหน้านี้ราวปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดร.มานิต ทำจดหมายเปิดผนึกถึง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง “คลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ” โดยแสดงความห่วงใยต่อสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (คลื่นความถี่วิทยุและคลื่นไมโครเวฟ) WiFi แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย

เนื้อความในจดหมายระบุว่า ในอนาคตอาจจะมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากรังสีมากขึ้น ๆ และจะเป็นปัญหาให้ผู้มาใช้บริการตามโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนต้องมีภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นและจะสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐ โดยในการช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้นั้น ดร.มานิตเห็นว่า ควรมีการควบคุมความเข้มของสัญญาณจากเสาส่งให้น้อยลง อย่างน้อยให้น้อยลง 1,000 เท่าของขณะนี้ ให้ใกล้มาตรฐานของประเทศออสเตรีย ที่เมืองซาลส์เบิก มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่า ถึงแม้จะความเข้มต่ำก็ทำให้ผู้ถูกรังสีเจ็บป่วยได้ กล่าวคือไม่มีความปลอดภัยจากการได้รับรังสีไม่ว่าความเข้มของรังสีจะอยู่ในระดับต่ำสักเพียงใด

ทั้งนี้ผู้ให้บริการมักจะอ้างว่าความเข้มของรังสีไมโครเวฟที่ใช้นั้นอยู่ต่ำกว่าที่กสทช. กำหนดไว้ แต่ขีดจำกัดที่ กสทช.ใช้ อยู่ในขั้นสูงกว่ามาตรฐานของบางประเทศ เช่น รัสเซีย จีน ออสเตรีย เป็น 100 หรือ 1,000 เท่า แม้กสทช. มักจะอ้างอิงมาตรฐานของแคนาดา ซึ่งระดับความเข้มของรังสีตามมาตรฐานของแคนาดานั้นเป็นหนึ่งในสามประเทศที่สูงที่สุดในโลก และสูงกว่าระดับที่ ICNIRP (International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) กำหนด ซึ่งขณะนี้ในแคนาดาเองก็มีการรณรงค์โดยประชาชนและองค์กรอิสระเพื่อให้รัฐบาลปรับมาตรฐานความเข้มของรังสีให้ลดลง และการติดตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือรัฐบาลได้ออกกฎว่าต้องมีการปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในบริเวณที่จะตั้งเสาก่อน

เม็ดเงินอุตสาหกรรม ปิดบังอันตราย

ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงงานศึกษาผลกระทบและอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากสถานีฐานว่า แม้จะยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่อาศัยโดยรอบ ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ฝรั่งเศส ต่างออกมาตรการให้ผู้ประกอบการลดความถี่ของคลื่นทั้งที่ปกติต่ำกว่ามาตรฐานอยู่แล้วลงไปอีกหลายเท่าตัว รวมถึงให้ย้ายเสาส่งสัญญาณให้ออกไปตั้งบริเวณนอกเมืองหรือในระยะที่ไม่มีชุมชน

อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่ปรากฎงานศึกษาที่ระบุชัด ว่าคลื่นแม่เหล็กไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตประเด็นที่เป็นข่าวคึกโครมในปี พ.ศ.2554 เมื่อคณะวิจัยของ ศ.สเวิร์ดโลว (Anthony J. Swerdlow) หัวหน้าทีมวิจัย AGNIR (Advisory Group on Non-Ionising Radiation หน่วยงานอิสระขึ้นต่อคณะกรรมการ UK Health Protection Agency - HPA) มีหน้าที่ป้องกันอันตรายจากโรคติดต่อ ตลอดจนภัยจากสารเคมีและรังสีแก่ประชาชนในสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายงานความยาวกว่า 333 หน้า เรื่อง ‘ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Health Effects from Radiofrequency Electromagnetic Fields)’ ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า การสัมผัสคลื่นวิทยุในระดับความเข้มต่ำกว่าที่กำหนดจะมีผลต่อสุขภาพในผู้ใหญ่และเด็กขณะที่ภรรรยาของเขาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น BT Group บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษและนอกจากนี้ ศ.สเวิร์ดโลว ยังงมีตำแหน่งใน ICNIRP ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำข้อกำหนดและเกณฑ์ความปลอดภัยของความเข้มคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แพร่ออกจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งนานาประเทศรวมทั้งไทยต่างอ้างอิงค่าดังกล่าว

          “มีหลายปัจจัยที่ทำให้งานศึกษาและวิจัยด้านผลกระทบและอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่สามารถมีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อจำกัดทางทรัพยากรทางการวิจัยและจากความซับซ้อนในการศึกษาวิจัย นอกจากนี้เหตุผลทางการเมือง-รัฐ ซึ่งมักมีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมรวมทั้งองค์กรทั้งในและประเทศ มักจะทำการแทรกแซงการวิจัย และการทำลายความเป็นอิสระของนักวิจัย เพราะในอุตสาหกรรมการสื่อสารนี้มีเม็ดเงินและผลประโยชน์มหาศาล” ดร.สุเมธกล่าว

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก จับตา: เสาสัญญาณมือถือครอบคลุมทุกชีวิต

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4891

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: