พม่าทุ่มกำลังรุกกะเหรี่ยง เร่งเคลียร์ผุดเขื่อนสาละวิน

19 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1540 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม เว็บไซต์ คนชายข่าว คนชายขอบ transbordernews.in.th/ รายงานว่า พลเอกบอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU)ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะในเขตรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเกิดการปะทะกันอย่างหนักในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีชาวบ้านหนีภัยความตายเข้ามาด้านจ.ตาก ว่า สะท้อนให้เห็นกระบวนการสันติภาพที่ไม่ราบรื่น ทางหนึ่งรัฐบาลพม่าบอกว่าต้องการการเจรจา แต่อีกทางหนึ่งก็ให้กองทัพพม่ารุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหนัก ทำให้เกิดการสู้รบในพื้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กองทัพพม่าบุกรัฐกะเหรี่ยงอย่างหนักเพราะเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินซึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลพม่าต้องการเคลียร์พื้นที่ให้กับหน่วยงานของไทยที่ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อนจริงหรือไม่ พลเอกบอ จ่อ แฮ กล่าวว่า ตอบยาก แต่ที่เห็นคือกองทัพพม่าพยายามมานานแล้วที่จะเคลียร์พื้นที่บริเวณนี้ และระยะหลังมานี้พื้นที่รอบๆ โครงการสร้างเขื่อนฮัตจี มีทหารพม่าเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเร็ว ๆ นี้ดีเคบีเอ ได้รับแจ้งจากทหารพม่าว่าจะกวาดกองกำลังทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอออกให้หมด

         “ช่วง 2-3 เดือนก่อน มีคนของกฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) พยายามติดต่อที่จะพบผม แต่ผมปฏิเสธไป มันไม่ใช่แค่จุดยืนของผมหรือกองพล 5 เท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อน แต่ทหารกะเหรี่ยงในพื้นที่ ทั้งดีเคบีเอและเคเอ็นยู ต่างก็คัดค้านเขื่อนฮัตจี เพราะจะสร้างความเดือดร้อนแก่แผ่นดินของเรา ประชาชนของเรา” รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด KNLA กล่าว

ทั้งนี้กฟผ.มีโครงการสร้างเขื่อนฮัตจีกั้นแม่น้ำสาละวินใกล้เมืองพะอันในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนบ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 47 กิโลเมตร โดยเขื่อนฮัตจีมีขนาด 1,360 เมกะวัตต์ เป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลพม่า กฟผ.อินเตอร์ (ไทย) บ.ชิโนไฮโดร (จีน) และ IGOEC บริษัทเอกชนพม่า โดยไฟฟ้า 90 % ที่ผลิตได้จะขายให้ไทย อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวินทั้งเขตไทยและพม่าเพราะจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและชุมชน ที่สำคัญพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเกิดระเบิดที่หัวงานโครงการก่อสร้างจนทำให้เจ้าหน้าที่ของกฟผ.เสียชีวิตมาแล้ว

ด้านการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอและทหารพม่านั้น นายทหารเสนารักษ์ของดีเคบีเอรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตอนนี้ทหารพม่ากองพลที่ 22 ได้เข้าควบคุมแม่น้ำสาละวินฝั่งตะวันออก (ฝั่งที่ครอบครองโดยกองพลที่ 7 เคเอ็นยู) โดยทหารพม่าได้เสริมกำลังเข้ามาบริเวณหัวสะพานยินไบ และมีคำสั่งให้กองพันพิทักษ์ชายแดนหรือบีจีเอฟที่ 1019 ภายใต้การควบคุมของพันโทละเท (La The) สังกัดพลตรีชิตู เข้ามาเสริมกำลัง และคาดว่ากองพันนี้จะเป็นชุดเข้าตี ซึ่งเดิมในเขตพื้นที่ ยินไบ นั้น มีกองพับีจีเอฟนที่ 1011 กับ 1012 และทหารพม่ากองพันที่ 962ประจำการอยู่แล้ว

นายทหารดีเคบีเอกล่าวว่า ในวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ทหารพม่ากองพันที่ 339 ได้เพิ่มกำลังเข้ามาในเขตเมืองยินไบอีกหนึ่งกองพัน ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินในพื้นที่กะมะหม่องนั้น เป็นเขตควบคุมโดยทหารพม่า กองพลที่ 44 กับ บีจีเอฟกองพันที่ 1013 และ 1014 ซึ่งคืนวันที่ 14 ตุลาคนที่ผ่านมานั้น บีจีเอฟกองพันที่ 1014 ได้เข้าโจมตีทหารของดีเคบีเอ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูนซาลิน ไปครั้งหนึ่งแล้ว

          “ผมมั่นใจว่าการปะทะที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นแรงกดดันที่รัฐบาลพม่าต้องการให้มีการสร้างเขื่อนฮัตจีในพื้นที่ รวมถึงต้องการเข้ามาควบคุมพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าเข้าประเทศไทยด้วย ทุกวันนี้พวกเราอยู่ได้ เพราะชาวบ้านอยู่ได้ ถ้าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ทหารจะอยู่ได้อย่างไร” นายทหารเสนารักษ์ผู้นี้ กล่าว

ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางออกมาจากพื้นที่สู้รบ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการสร้างถนนที่ตัดจากแม่ตะวอไปกะมะหม่อง โดยมีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง มีคณะศรัทธาจากฝั่งไทยไปบริจาค และสนับสนุนเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งตอนที่ถนนสร้างเสร็จใหม่ๆ มีสัญลักษณ์ป้าย และหมุด EGAT ติดอยู่ตลอดสาย

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อกลับไปเทียบกับข้อมูลทางดีเคบีเอแล้วพบว่า ระหว่างทาง แม่ตะวอกับกะมะหม่อง บริเวณน้ำตกกลูทอ กฟผ.มีแผนที่จะทำไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อป้อนไปยังไซต์งานก่อสร้างเขื่อนฮัตจี

จากการสอบถามคาดว่าในพื้นที่ของกองพล7 หรือ สาละวินตะวันออก พบว่ามีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 6 ชุมชน และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวสายไฟ 7 ชุมชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: