ครม. รับหลักการ พ.ร.บ.ชุมนุม ฉบับ สนง.ตำรวจ จะชุมนุมต้องแจ้งก่อน 24 ชม.

19 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1416 ครั้ง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เนื้อหาสำคัญเช่น ห้ามชุมนุมสถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน รวมถึงสถานที่สาธารณะที่กระทบกับประชาชนทั่วไปห้ามเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมในเวลากลางคืน  ต้องขออนุญาตตำรวจก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ด้านประยุทธ์ระบุต้องมีการปรับแก้ โดยเฉพาะมาชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจจัดการแค่ไหน

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ เร่งรัดให้ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติรับ ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ไปดำเนินการตามนัยมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (24 มิถุนายน 2557) ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2557) แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการตรวจพิจารณาต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบไปด้วย            

1. กำหนดให้ “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การรวมตัวกันของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อแสดงความคิดเห็น สนับสนุน คัดค้าน หรือเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่            

2. กำหนดสถานที่ต้องห้ามมิให้จัดการชุมนุม เช่น ระยะรัศมี 150 เมตร จากสถานที่สำคัญและสถานที่ราชการ  อาทิ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เป็นต้น และต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการในสถานที่ เช่น สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ เป็นต้น 3. กำหนดให้การปราศรัย หรือการจัดกิจกรรมในการชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา จนถึงเวลา 06.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น การเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมในเวลากลางคืน จะกระทำมิได้             

4. กำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งวัน เวลา และสถานที่ชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง                       

5. กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม เช่น ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่อยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาการชุมนุม ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นต้น และห้ามมิให้ผู้ชุมนุมกระทำการก่อให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมบุกรุกหรือทำให้เสียหายหรือทำลายด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น

6. กำหนดการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เช่น ให้ ตช. และหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐจัดหรือประสานให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะเพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานที่ที่ใช้ในการชุมนุมและช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการจร

7. กำหนดโทษกรณีต่าง ๆ อาทิ ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะมิได้แจ้งการชุมนุม ผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานประกาศกำหนด

โดยวันเดียวกันนี้ (18 พ.ย.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะนี้ว่าว่ายังมีหลายอย่างต้องปรับแก้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและชอบธรรม เช่นเรื่องสถานที่ เวลา และให้เพิ่มเติมกรณีถ้าหากว่าเมื่อมาชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการทำอะไรได้แค่ไหนในกรณีที่ขัดขืน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ระบุว่าเพราะเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: