ศศินปักหลักประท้วงต่อ หลังทหารไม่อนุญาตจัดเวทีค้านเขื่อนแม่วงก์

19 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1536 ครั้ง

เมื่อวันที่  19 พฤศจิกายน 2557  ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (สผ.)  หลังจากนายศศิน เฉลิมลาภ   เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั่งประท้วงบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพื่อคัดค้านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืนและเตรียมจะร่วมเวทีเสวนาเรื่อง“จากแม่วงก์ถึงคชก....ใครลักไก่ EHIA?” ที่ดำเนินการโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมนั้น  โดยระหว่างการเตรียมจัดเวที ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้ามาเจรจาร่วมกับทีมผู้จัดกิจกรรม เพื่อให้ยกเลิกเวทีเสวนาดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความสงบในพื้นที่ จึงไม่สามารถอนุญาตให้จัดเวทีใดๆ ได้  ทางตัวแทนวิทยากรที่ต้องเข้าร่วม อาทิ   นายศศิน ฯ  และ รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อดีตประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.)  จึงร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าวบริเวณหน้าอาคารโดยมีสื่อมวลชนร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมาก  

นายศศิน กล่าวว่า   เหตุที่ตนมานั่งประท้วงตลอดเวลา 2 คืนนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องท้าทายใคร แต่ตนตั้งใจจะให้กำลังใจ  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จริงๆ โดยส่วนตัวเชื่อว่า คชก. รับทราบข้อมูลปัญหาทั้งหมดแล้ว อีกทั้งมีความรู้ความเข้าใจอยู่แล้วว่า หลักการใดที่ควรจะดำเนินการ หลักการใดไม่ควรดำเนินการ  แต่เบื้องต้นมีกำลังใจขึ้นมาบ้างแล้ว ที่ได้รับข่าวดีจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่า กรมได้ทำหนังสือชี้แจงว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างขื่อนแม่วงก์ อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าน้ำมีพอให้ใช้ในภาคการเกษตร  สำหรับการประชุมพิจารณา EHIA วันนี้ ไม่มีอะไรจะเสนอเข้าไปอีกแล้ว มันเป็นการพูดเรื่องเดิม แต่ขอให้กำลังใจ คชก.ต่อไปส่วนตัวเองทำกิจกรรมใดได้ก็ทำต่อไป จนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ

ด้านดร.สุวัฒนา กล่าวว่า  จากการศึกษาด้านวิศวกรรมน้ำ ยืนยันเช่นเดิมว่ากรณีเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้และไม่มีนัยยะเป็นสาเหตุการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่  อีกทั้งรูปแบบการจัดการน้ำโดยชุมชนที่กำลังดำเนินการอยู่ทั่วไป เช่น แอ่งน้ำเล็กๆ ในหมู่บ้านต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการประคองความสมดุลของแหล่งน้ำ ที่แก้ปัญหาให้คนท้องถิ่นได้ เชื่อว่า คชก.มีทางเลือกหลายด้าน

ทั้งนี้บริเวณการประชุมฯ ก่อนการแถลงข่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเฝ้า สผ.ทุกประตู  โดยมีประชาชนกลุ่มคัดค้าน เข้ามารอรับฟังผลการประชุมประมาณ 50 คน   ขณะที่บริเวณด้านหน้าของ สผ.ยังคงมีกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ สวมเสื้อสีเหลืองพร้อมข้อความบนเสื้อว่า “ Yes เขื่อนแม่วงก์”  รอฟังผลประชุมของ คชก. ประมาณ 5 คน พร้อมสื่อมวลชนหลายสำนักรอรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  ส่วนบรรยากาศบริเวณที่นายศศิน นังประท้วงยังคงทั้งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม  นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักศึกษา  นักแสดง และประชาชนทั่วไปแวะซื้อน้ำดื่มและทักทายตลอดเวลา   เช่น ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นายประสาร มฤคพิทักษ์   และนายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา  (สว.)  ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต,รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม,มหาวิทยาลัยรังสิต และสุเชาว์ พงษ์วิไล นักแสดง

ดร.ไกรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลัเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาระงับเวทีเสวนา  กล่าวว่า  รู้สึกว่าขณะนี้รัฐบาลมีความกลัวและกังวลต่อนโยบายสาธารณะที่ประชาชนพยายามมีส่วนร่วม เช่นกรณีการควบคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวาน (18 พฤศจิกายน) นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เหตุการณ์วันนี้ก็ยังมาระงับอีกครั้ง โดยส่วนตัวมองว่า รัฐบาลก้าวข้ามเส้นของการแสดงศักยภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมของประชาชน

“นักศึกษา ม.เกษตร ไม่ได้เพิ่งเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมนะ พวกเขามีการเคลื่อนไหวมานานตั้งแต่เขื่อนปากมูล แก่งเสือเต้น  เขื่อนน้ำโจน ทุกการเคลื่อนไหวเป็นไปเพราะรักสิ่งแวดล้อม และผมเชื่อว่าปรากฎการณ์ทวงคืนสิทธิด้านการมีส่วนร่วมของนโยบายสิ่งแวดล้อมและนโยบายใหญ่ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับรัฐประหาร อยากให้รัฐบาลนี้มองแยกส่วน วันนี้ผมคุยกับกับ ศศินแล้ว ผมรับรู้ได้ว่า เขาก็มีเจตนารมณ์ไม่ต่างกับคุณสืบ นาคะเสถียร   ตอนนั้น คุณสืบกับผมก็สอนอยู่ที่ ม.เกษตร เราก็ปลูกฝังให้เด็กนักศึกษาร่วมรับรู้ ไม่ได้เน้นที่การชุมนุม แต่เรามองเรื่องสิทธิ การมีส่วนร่วม” ดร.ไกรศักดิ์ กล่าว

ดร.ไกรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ป่าแม่วงก์เป็นป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร ไม่คุ้มเลยกับการพัฒนาเป็นเขื่อน เพราะอาจจะทำลายแหล่งป่าอันอุดมสมบูรณ์เหมือนครั้งประเทศไทยเสียป่าจังหวัดกาญจนบุรีไป ทำให้ขณะนี้จังหวัดกาญจนบุรีร้อนที่สุด เพราะมีเขื่อนถึง 9 แห่ง ป่าหาย ไม่มีใครต้องการแบบนั้น ดังนั้นแนวทางที่ถูกต้อง ช่วงที่ คชก.จัดประชุม อยากให้รัฐบาลมองสองด้าน คือ เวทีภาคประชาชน อย่างเช่น เวทีวันนี้ ให้มองเป็นการสร้างความรู้  มองการเคลื่อนไหวของนักศึกษาให้มองเป็นการ เปิดหู เปิดตา แบ่งปันข้อมูลข้อเสีย ข้อดี และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่การชุมนุม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: