รายงานสถานะและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของประชากร (ผู้หญิง) ในอาเซียนระบุว่า ในหลายประเทศที่มีประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ยังประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง จากทั้งอคิติทางชาติพันธุ์ ระยะทางที่ห่างไกลของสถานพยาบาล รวมถึงนโยบายสาธารณสุขที่ไม่ครอบคลุม
การเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง
ปัญหาด้านอนามัยแม่และเด็ก พบว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีค่าเฉลี่ยของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ผ่านการคลอดกับผดุงครรภ์หรือแพทย์อยู่ที่ ร้อยละ 75.5 และมีสัดส่วนการตายโดยเฉลี่ยของมารดาอันเนื่องมาจากการคลอดเท่ากับ 154.7 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 ราย ส่วนอัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เฉลี่ยเท่ากับ 32.6 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศที่เคยมีอัตราการตายของแม่สูง ได้แก่ ประเทศลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย สามารถลดอัตราการตายของมารดาลงได้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปี 2010 สะท้อนว่าประเทศเหล่านี้ยังมีอัตราการตายของมารดาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ยอมรับว่าไม่สามารถลดอัตราการตายของมารดาให้เหลือแค่ 52 ในปี 2015 ได้ รัฐบาลอินโดนีเซียยอมรับเช่นเดียวกันว่าไม่สามารถลดอัตราการตายของมารดาให้ลดลงตามเป้าหมาย MDGs คือ 102เมื่อสิ้นสุด MDGs ในปี 2015
การเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและวิธีคุมกำเนิด
ในปี 2010 สมาชิกประชาคมอาเซียนร่วมประกาศเจตนารมณ์ ว่าจะจัดบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และบริการวางแผนครอบครัวอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ และปลอดภัยแก่ประชากรในประเทศของตน แต่ปัจจุบันผู้หญิงทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ยังประสบกับปัญหาเรื่อง เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีคุมกำเนิดสมัยใหม่เพราะเหตุผลด้านศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ ประเทศฟิลิปปินส์ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงใช้เทคโนโลยีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ แต่สนับสนุนวิธีคุมกำเนิดแบบธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า เพราะอิทธิพลของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่ต่อต้านการคุมกำเนิดเพราะถือว่าเป็น “บาป” และเข้าใจว่าการคุมกำเนิดเป็นการกระทำที่ต่อต้านเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า
ในบรรดากลุ่มสมาชิกอาเซียนพบว่า ประเทศที่มีอัตราการใช้วิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ต่ำที่สุดคือ ประเทศติมอร์ - เลสเต้ ต่ำสุดอันดับรองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และ กัมพูชา ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้วิธี คุมกำเนิดสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูงที่สุด ประมาณเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติ เยาวชน คนพลัดถิ่น และผู้พิการในอาเซียน ยังเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาระการคุมกำเนิดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ยังคงตกอยู่ที่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
ประเทศอินโดนีเซียยังมีกฎหมายและการปฏิบัติหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดของ ผู้หญิง เช่น ผู้หญิงไม่สามารถตัดสินใจใช้วิธีการคุมกำเนิดได้เอง โดยมีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากสามีก่อน ซึ่งนอกจากทำให้ผู้หญิงแต่งงานเข้าถึงบริการคุมกำเนิดยาก ยังปิดกั้นโอกาส ของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานแต่มีเพศสัมพันธ์ไม่ให้เข้าถึงวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย ทั้งประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ไม่ให้ทางเลือกในการคุมกำเนิดด้วยวิธียุติการตั้งครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในสองประเทศนี้ ยกเว้นกรณีเดียวคือการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อแม่ อย่างไรก็ดี เริ่มมีจำนวนผู้นำศาสนาในหลายประเทศที่มีท่าทีเชิงบวกต่อเรื่องการคุมกำเนิด ส่วนข้อมูลของประเทศกัมพูชา และลาว ยืนยันว่าหนึ่งในสี่ของผู้หญิงเขมร และร้อยละ 27 ของผู้หญิงลาวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เข้าไม่ถึงหรือไม่ได้ใช้วิธีคุมกำเนิด ในประเทศไทยคาดประมาณว่าร้อยละของการเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิดในกลุ่มผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานโดยเฉพาะเยาวชนน่าจะมีสูงเช่นกัน
การเข้าถึงการคลอดที่ปลอดภัย
การประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศ เมื่อปี 2006(ICPD) ตั้งเป้าหมายการจะทำให้การคลอดทุกราย ได้รับการดูแล โดยผดุงครรภ์ แพทย์ พยาบาล หรือจากคนทำคลอดที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ซึ่งมีเพียงสามประเทศคือ สิงคโปร์ บรูไน - ดารุสซาลาม และมาเลเซีย ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ประเทศที่ยังมีการทำคลอดโดยคนที่ไม่ผ่านการอบรมสูงมาก เช่น ลาว และ ติมอร์ - เลสเต้ ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ประเทศลาวมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแต่ยังห่างไกลจากเป้าหมาย ICPD มาก เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการทำคลอดที่ปลอดภัยคือ ยังขาดระบบบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ยังไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกลในชนบท หรือในพื้นที่สูงที่เป็นท้องถิ่นของ ชนชาติพันธุ์ส่วนน้อย ซึ่งหลายประเทศ เช่น ประเทศลาว เมียนมาร์ ฟิลปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา รวมทั้งเวียดนาม ต่างประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ ซึ่งย่อมส่งผลต่ออัตราการตายที่สูงของมารดาและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นอกจากนี้ การคมนาคมที่ห่างไกล และความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการคลอดบุตรในกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ให้สำเร็จ
ขณะที่ในประเทศไทย ยังพบความลักลั่นในการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ในระหว่างภาคอยู่ เช่น ผู้หญิงชาติพันธุ์ ทางภาคเหนือยังนิยมคลอดที่บ้านด้วยเหตุผลทั้งสองประการที่กล่าวมา ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังประสบปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรง ส่งผลให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ห่างไกลในชนบทเข้าไม่ถึงบริการการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การฝากครรภ์ และการคลอด เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในขณะที่เดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาล
อ้างอิง
รายงานสถานะและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของประชากร (ผู้หญิง) ในอาเซียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘หมอตำแย’ทางเลือกของแม่ลูกชาติพันธุ์ ไม่เชื่อมั่นร.พ.-เดินทางยาก-ค่าใช้จ่ายสูง
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4239
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ