เมินเหมืองทองต่อรอง ยันต้องปิดอย่างเดียว จ่อร้องสปก.อนุมัติมั่ว

loeiminingtown.org 20 ก.พ. 2557


เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ศาลจังหวัดเลย นัดไต่สวนมูลฟ้องพยานคดีอาญา เลขที่ อ 4542/2556 ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด รวม 7 คน ข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทฯ โดยก่อสร้างกำแพงโครงหลังคาเหล็กครอบถนนสายบ้านนาหนองบง เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2556 ซึ่งในวันนี้ บริษัท ทุ่งคำ ในฐานะโจทก์จะต้องให้การและนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นผู้ได้รับความเสียหายจริง โดยมีชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน จำนวน 300 คน มาร่วมฟัง

ส่วนตัวแทนบริษัทที่เดินทางมาให้ปากคำคือ นายบัณฑิต แสงเสรีธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งนายบัณทิตใช้เวลาประมาณ 30 นาที ระบุหลักฐานเอกสารและรูปถ่ายว่า ชาวบ้านได้ก่อสร้างโครงหลังคาบุกรุกที่ดินของบริษัท ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านกล่าวอ้างว่า การทำเหมืองทำให้เกิดสารปนเปื้อนทั้งในน้ำ และในเลือดของชาวบ้านนั้น ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุมาจากการทำเหมืองทองคำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม นายบัณทิตอ้างต่อศาลว่า ไม่สามารถอยู่ให้การได้ทั้งวัน การสืบพยานจึงสิ้นสุดในเวลา 12.00 น. ทำให้ชาวบ้านต้องผิดหวังที่นายบัณทิต ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการซักค้านจากทนายของชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่า จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำให้เป็นการให้การฝ่ายเดียว ด้านการซักค้านจากทนายของชาวบ้าน ซึ่งพยานจะต้องตอบคำถามหลายข้อนั้น จำเป็นต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 28 เม.ย.2557 เวลา 09.00 น. โดยศาลอนุญาตให้มีการถ่ายทอดเสียงการพิจารณาผ่านสาธารณะ เนื่องจากคดีความนี้เป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก

ภายหลังการให้ปากคำของพยาน นายวสันต์ พานิช ทนายความของชาวบ้าน แถลงข่าวว่า กำแพงที่สร้างขึ้นอยู่บนที่ดินสาธารณะไม่ใช่พื้นที่ของบริษัท ทุ่งคำฯ เดิมทีบริษัท ทุ่งคำฯ เคยบอกไว้ในบันทึกการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ว่า เมื่อเหมืองเปิดดำเนินการ บริษัทจะใช้เส้นทางใหม่ในการลำเลียงแร่ และเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน ไม่ควรใช้ร่วมกับบริษัท แต่บริษัทจะทำทางใหม่ให้ใช้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เป็นตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้

นอกจากนี้นายวสันต์ยังเปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัท ทุ่งคำฯ ได้ขอเจรจานอกรอบ โดยยื่นข้อเสนอ 4 ข้อให้กับชาวบ้านคือ 1.แบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน 20 เปอร์เซนต์ 2.ผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ 3.ให้ชาวบ้านเข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา 4.แบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนของชาวบ้านวังสะพุง 6 หมู่บ้าน ยืนยันไม่เจรจา แต่จะต่อสู้ต่อไปเพื่อให้ปิดเหมือฟื้นฟูเท่านั้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเปิดเผยแนวทางการต่อสู้นับจากนี้ว่า ทีมทนายความของชาวบ้านยืนยันจะต่อสู้โดยใช้หลักการสิทธิชุมชน พิสูจน์ความชอบธรรมของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวมทั้งจะมีการยกระดับจากระเบียบชุมชนของ 6 หมู่บ้าน เป็นข้อบัญญัติชุมชนที่จัดทำขึ้นโดยชาวบ้านตำบลเขาหลวง เพื่อให้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้จริง

นอกจากนี้ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่มีการยินยอมให้ใช้ที่ดินส.ป.ก.ทั้งหมด ในพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการให้อนุญาตหรือการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดิน ไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น และดำเนินการนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: