กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 หลังใช้เวลาดำเนินการกว่า 2 ปี จึงเปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2556 โดยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้วางวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ ระบุว่า จะใช้เป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนและนำไปพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งใช้พัฒนาสวัสดิภาพของสตรีในด้านอื่น ๆ เช่น การสร้างเสริมศัยกภาพภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายและเฝ้าระวังปัญหาของสตรีในทุกรูปแบบ สรุปสั้น ๆ ก็คือ หวังให้กองทุนที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้หญิงครั้งนี้ ใช้ในการ “สร้างสรรค์พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นั่นเอง
แต่แม้ภายใต้วัตถุประสงค์สวยหรูที่ถูกวางไว้นั้น คำถามต่อการดำเนินการกองทุนนี้กลับเกิดขึ้นตามมามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของผู้หญิง ที่รัฐบาลประกาศว่า จะเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงทุกคน แต่กลับพบว่า การดำเนินการยังคงกระจุกอยู่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น รวมทั้งปัญหาอีกนานัปการที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดตัวโครงการ และจนถึงวันนี้ก็มีเพียงคนจำนวนไม่มากนักที่รู้จักโครงการนี้ จึงน่าคิดว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะเป็นเหมือนกับโครงการอื่น ๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ที่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแท้จริง
ชำแหละกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
ล่าสุด วันที่ 18 ก.พ.2557 การประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี วุฒิสภา มีการรายงานผลการดำเนินนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินงบประมาณ สำหรับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ไปแล้วทั้งสิ้น 6,360 ล้านบาท แบ่งเป็น งบสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมตามนโยบายและยุทธศาสตร์กองทุน 450 ล้านบาท หรือ 7 เปอร์เซนต์ของงบประมาณทั้งหมด งบบริหารจัดการกองทุน 200 ล้านบาท หรือ 3 เปอร์เซนต์ ของงบทั้งหมด และงบพัฒนาบทบาทสตรี 5,710 ล้านบาท หรือ 90 เปอร์เซนต์
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล อนุกรรมาธิการด้านสตรี วุฒิสภา ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เปิดเผยว่า เรื่องที่น่าตกใจจากการรับฟังรายงานผลการดำเนินงานคือ เงินภาษีของประชาชน 6,360 ล้านบาท ที่ละลายไปแล้วในการดำเนินนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงเพียง 2,599,744 คน จากสมาชิก 8,941,572 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 29 เปอร์เซนต์ ของสมาชิก หรือ 9.6 เปอร์เซนต์ ของประชากรหญิงที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จำนวน 27 ล้านคน
นอกจากการดำเนินนโยบายสาธารณะที่เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้หญิงจำนวนน้อยมาก (ไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์ ของประชากรผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้หญิงสัญชาติไทย อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย 27 ล้านคน และ 89 เปอร์เซนต์ ของเงินกองทุนนี้ยังจัดสรรไปในโครงการเงินกู้หมุนเวียน จำนวน 4,309 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ผู้หญิงเพียง 9 เปอร์เซนต์ จำนวน 842,819 ราย ของสมาชิก 8.9 ล้านคน หรือ 3 เปอร์เซนต์ ของประชากรผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 27 ล้านคน
ขณะที่ 11 เปอร์เซนต์ ของเงินกองทุน จัดสรรเพื่อเป็นเงินอุดหนุนโครงการเพื่อพัฒนาบทบาทสตรี จัดสรรไป 552 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ผู้หญิงเพียง 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.6 เปอร์เซนต์ของสมาชิก จำนวน 8.9 ล้านคน หรือ 6.5 เปอร์เซนต์ ของประชากรผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 27 ล้านคน
ทุ่มไปแล้ว 5.6 หมื่นโครงการ
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เปิดเผยล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2556 ระบุว่า คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ได้อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับสมาชิกประเภทหมุนเวียนไปแล้วทั้งสิ้น 4,198.8 ล้านบาท จำนวน 56,833 โครงการ มีสมาชิกที่ได้รับประโยชน์ 835,624 ราย จำแนกโครงการที่ให้การสนับสนุนออกเป็น
ส่วนประเภทเงินอุดหนุนได้อนุมัติโครงการรวม 9,822 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 545.4 ล้านบาท รวมสมาชิกที่รับผลประโยชน์จำนวน 1,704,853 ราย
รวมจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปแล้วคือ 4,744.2 ล้านบาทมีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 2,540,477 โดยเงินจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับกองทุน 7.7 พันล้านบาท
ส่งเงินให้จังหวัดจัดการเอง
สำหรับระบบการกระจายเงินกองทุนจำนวน 7.7 พันล้านบาทนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการแบ่งจัดส่งงบประมาณยังจังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยใช้เกณฑ์จำนวนประชากรแบ่งจังหวัดต่าง ๆออกเป็น 3 กลุ่มคือ ซึ่งจะได้รับงบประมาณไม่เท่ากันดังนี้
กลุ่มที่ 1 จังหวัดขนาดเล็ก มีประชากรไม่เกิน 600,000 คน จำนวน 35 จังหวัด จังหวัดละ 70,000,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 จังหวัดขนาดกลาง มีประชากรตั้งแต่ 600,001-1,000,000 คน จำนวน 22 จังหวัด จังหวัดละ 100,000,000 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 จังหวัดขนาดใหญ่ มีประชากรตั้งแต่ 1,000,001 คน จำนวน 20 จังหวัด จังหวัดละ 130,000,000 ล้านบาท
ขณะที่การใช้เงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ถูกแบ่งออกเงินออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเงินทุนหมุนเวียน เงินส่วนนี้เป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้หญิงนำไปต่อยอดกิจการ หรือสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นภายในชุมชนต่อไป เงินส่วนนี้เป็นจำนวน 80 เปอร์เซนต์ ของเงินกองทุนทั้งหมด โครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้วยเงินส่วนนี้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
ส่วนที่สอง คือเงินอุดหนุน เป็นแหล่งเงินทุนที่ให้เปล่าเพื่อให้ผู้หญิงและองค์กรพัฒนาเอกชนนำไปพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในด้านอื่นๆ รวมทั้งเฝ้าระวังและรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาของสตรีในทุกมิติ
ใช้กลไกบริหาร 3 ระดับกระจายกองทุน
ทั้งนี้หากพิจารณาการขับเคลื่อนนโยบายกองทุนพัฒนาสตรีอย่างละเอียด พบว่า กองทุนนี้ได้ออกแบบให้มีกลไกนำนโยบายไปปฏิบัติ 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย ดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ จะเป็นผู้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ของกองทุนและแนวทางจัดสรรเงินให้กับ คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกรุงเทพมหานคร
ต่อมาเป็นการดำเนินการในระดับจังหวัด โดยคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด ทำหน้าที่บริหารกองทุนในระดับจังหวัดรวมถึงการพิจารณา อนุมัติโครงการที่ควรได้รับการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุนระดับสุดท้ายคือการดำเนินนการในระดับตำบล โดยมีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล ทำหน้าที่รับสมัครและจัดทำฐานข้อมูลรายละเอียดของสมาชิก รวมถึงพิจารณากลั่นกรองและส่งต่อให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดพิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับเงื่อนไขของการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้คือ “ต้องสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนก่อน สมาชิกมี 2 ประเภทคือ ประเภทบุคคลธรรมดา ผู้ที่สมัครสมาชิกประเภทนี้จะต้องเป็นผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 15 ปี และมีชื่ออยู่ในภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน และประเภทที่ 2 คือมูลนิธิหรือสมาคม ที่ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหรือจังหวัดที่ขอขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีการดำเนินงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความรับผิดชอบและความเสียสละ”
รายละเอียดโครงการก็ดูน่าจะราบรื่นดี แต่เหตุใด โครงการจึงไม่เดินหน้าตามการคาดหวังของรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะจุดบอดที่หลายคนบอกว่ามีอยู่มากมายในโครงการนี้นั่นเอง
กว่า 2 ปี ไม่คืบเพราะนานาอุปสรรค
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ต่อประเด็นคำถามว่าด้วยเรื่องปัญหาของโครงการฯ ว่า อุปสรรคของการดำเนินการกองทุนคือเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อการเข้าถึงกองทุน ขณะเดียวกัน กฎหมายที่จะรองรับการดำเนินการ ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้กองทุนเดินหน้าจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่ทำงานด้านเครือข่ายสตรี ส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการใหม่ โดยยกเลิกให้มีการระบุว่า “ผู้ที่จะเข้าถึงจะต้องสมัครสมาชิกกองทุนก่อน” เพราะจะทำให้กองทุนมีลักษณะกลายเป็นกองทุนปิด ขณะเดียวกันจะต้องลดสัดส่วนของเงินหมุนเวียนลงมา รวมทั้งออกกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืนมากกว่าจะอยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกฯ “บทบาทของผู้หญิงมีหลายด้าน ไม่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ หากผู้หญิงมีความสามารถแล้วบทบาทก็จะตามมาเอง” ดร.สุธาดากล่าว
หลังจากเปิดตัวนโยบายอย่างเป็นทางการเพียง 2 วัน วันที่ 20 ก.พ.2556 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ทำหนังสือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และโครงสร้างการดำเนินการของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งสอดรับกับข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมที่เสนอมาก่อนหน้านี้
แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไข เพื่อให้เกิดการเปิดกว้างมากขึ้น แต่หลังการเปิดดำเนินการปัญหาเรื่องการเข้าถึงกองทุนฯ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้เหมือนเดิมมากนัก ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มเครือข่ายสตรีต่าง ๆ ยังคงเห็นว่า ภาพการดำเนินการที่รวมอำนาจการตัดสินใจเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่นเดียวกับ ความหลากหลายของกลุ่มสตรีในประเทศไทย ที่ทำให้กองทุนนี้ไม่ได้เข้าถึงสตรีทุกกลุ่มตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งไว้แต่แรก
ชี้สตรีด้อยโอกาสหลายกลุ่มเข้าไม่ถึง-บริหารแบบผูกขาด
พัชรี ไหมสุข จากมูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรที่ทำงานเกาะติดนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ เห็นว่า ปัญหาการเข้าไม่ถึงกองทุนฯ มีหลากหลายประเด็น เห็นว่า นอกจากการรับรู้ที่มีอยู่น้อยแล้ว ความรู้ความสามารถในการเขียนโครงการ และการใช้สื่อต่าง ๆ ของผู้หญิงยังมีไม่มากนัก ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงกองทุน ในขณะที่ ยังมีผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกองทุนเลยคือ ผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงชายขอบไร้สัญชาติ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้หญิงค้าประเวณีและบริการทางเพศ เป็นต้น
สำหรับปัญหาด้านการบริหารจัดการกองทุนนั้น พิชญา แก้วขาว เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสงขลา และที่ปรึกษาการเขียนโครงการให้กับชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นปัญหาในประเด็นนี้ว่า นโยบายนี้ผูกขาดอำนาจไว้ที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดมากเกินไป คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลมีอำนาจน้อยมาก ไม่มีอำนาจออกระเบียบกองทุน ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง และกลไกการทำงานของคณะกรรมการระดับตำบล ก็ไม่เข้มแข็งเหมือนกองทุนหมู่บ้าน จึงทำให้คณะกรรมการระดับตำบลที่มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองโครงการไม่กล้าตัดสินใจ ต้องส่งต่อมาให้อำเภอและส่งไปถึง คณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับจังหวัดจึงต้องพิจารณาโครงการเป็นจำนวนมาก และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการที่ชาวบ้านเสนอไปถูกตัดออก
“ตอนนี้การที่มีกองทุนอยู่ในพื้นที่หลายกองทุนอยู่แล้ว เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสป.สช เงินพัฒนา SML ก็มีส่วนทำให้คนไม่ค่อยสนใจกองทุนนี้” พีชญาระบุ
ผอ.ยอมรับเอง ปัญหามากเกินเยียวยา
อย่างไรก็ตาม หากหันกลับมามองในมุมของหน่วยงานผู้บริหารจัดการกองทุนเอง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ก็ดูเหมือนว่าจะมองเห็นอุปสรรคไม่แตกต่างจากสังคมภายนอกเท่าใดนัก โดย ดร.ขนิษฎฐา กาญจนรังสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายนี้โดยตรง ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า อุปสรรคของการบริหารกองทุนมีความยากหลายอย่าง ความยากเรื่องแรกคือ คณะกรรมการกองทุนระดับชาติมีถึง 37 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น มีรัฐมนตรี มีข้าราชการระดับสูง จึงจัดประชุมยากมาก เพราะหาเวลาที่ตรงกันไม่ได้ แต่นายกฯ อยากให้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ จึงมีหน่วยงานมาร่วมเป็นคณะกรรมการหลายหน่วยงาน
ส่วนเรื่องที่สองเป็นประเด็นการทำความเข้าใจเรื่องระเบียบ วิธีการ กับประชาชน กลุ่มสตรีเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านทั่วไป คือการทำงานกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่องระเบียบ วิธีการ เพราะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมี 4 ฉบับ ประกาศมี 14 ฉบับ และไม่มีค่าตอบแทนให้ คณะกรรมการระดับตำบล นโยบายจาก คณะกรรมการระดับจังหวัดก็ห้ามคณะกรรมการกู้เงิน ส่วนคณะกรรมการระดับตำบลจะออกระเบียบอะไรไม่ได้ต้องให้จังหวัดเป็นคนออก ดอกเบี้ยจากเงินหมุนเวียนก็ให้นำกลับไปที่คณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สั่นคลอนมาก แต่เรื่องนี้ก็มีการประชุมกันแล้วว่า ให้ 30 เปอร์เซนต์ของดอกเบี้ย เพื่อไปกลับไปใช้เพื่อการบริหารจัดการในระดับจังหวัด และ 20 เปอร์เซนต์ เป็นค่าบริหารจัดการในระดับตำบล
“เรื่องที่ยากมากเรื่องที่สามคือ สมาชิกไม่รู้เรื่อง ทั้งที่พยายามที่จะประชาสัมพันธ์อย่างมากตลอดมา เรื่องที่ยากเรื่องสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่ทำงานมีน้อย เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในขณะนี้เป็นการทำงานร่วมกับงานที่ทำอยู่ มีการเสนอให้เอาคนมาทำงานเต็มตัว โดยตัดออกจากสังกัดเดิม เช่น กองทุนหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ”
แจงเหตุต้องสมัครสมาชิกก่อนเพื่อรู้ปัญหา
สำหรับประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ที่สนใจเข้าร่วมกองทุนฯ จึงต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนนั้น ดร.ขนิษฎฐา อธิบายว่า การสมัครสมาชิกเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการกู้เงินด้วย และการสมัครสมาชิกทำให้ให้เห็นถึงจำนวนของผู้ที่สนใจกองทุนด้วย รายละเอียดข้อมูลที่ได้จากการสมัครสมาชิกก็ทำให้รู้ว่าเขาต้องการอะไร มีปัญหาอะไร และนำมากำหนดยุทธศาสตร์ได้ เรื่องที่มีการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าการสมัครสมาชิกนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ออกมาบอกแล้วว่าไม่ขัด เพราะไม่ได้ห้ามใครไม่ให้สมัคร ส่วนตอนนี้ที่เงินอุดหนุนยังไม่ถูกจ่ายออกไปเท่าที่ควร อาจเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการระดับจังหวัดไม่มีความรู้พอที่จะจ่ายออกไปเท่าไหร่ หรือควรจะจ่ายหรือไม่ โลกทัศน์แคบ แต่ก็ยอมรับว่า ความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาของผู้หญิงสำคัญมาก และต้องมองให้ทะลุ เรามองปัญหาผู้หญิงไม่ออก แต่มันก็ทุกวงการที่วิเคราะห์ปัญหาไม่ออก ปัญหามันก็หลากหลายมันจะเหมาเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้น ไม่เคยเจอความรุนแรง ไม่เจอกับความด้อยโอกาสเลยไม่เข้าใจ
เป็นข้อสรุปสุดท้ายจากการให้ข้อมูลของดร.ขนิษฎฐา ที่พยายามให้ความกระจ่างต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอุปสรรคของการดำเนินการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อีกหนึ่งโครงการโบว์แดงของรัฐบาล ที่แม้จะไม่มีข้อมูลให้สังคมได้รับรู้นักก็ตาม
ข้อมูลชี้ตัวเลขผู้หญิง 25 เปอร์เซนต์ สมัครสมาชิกแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อการขับเคลื่อนโครงการนี้ ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์บ้านเมือง มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2556 ที่ศึกษารายละเอียดเกี่ยวข้องกับโครงการนี้โดยตรง นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า ผู้หญิงในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 33,185,000 คน เมื่อนำตัวเลขนี้เปรียบเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจำนวน 8,375,199 คน จึงทำให้ได้ตัวเลขว่า ขณะนี้จำนวนผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีคิดเป็น 25 เปอร์เซนต์ ของจำนวนผู้หญิงไทยทั้งหมด
ร้อยละ 30 จากสมาชิกกองทุนทั้งหมด เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ
ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ วันที่ 31 ต.ค.2556 ระบุว่า มีสมาชิกกองทุนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจำนวน 2,540,477 คน จากจำนวนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งหมด 8,375,199 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30
ส่วนตัวเลขของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนจำนวน 2,540,477 คน เปรียบเทียบกับจำนวนของผู้หญิงทั้งหมด ที่รวมทั้งผู้ที่ไม่สมัครสมาชิก และผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุน แต่ไม่ได้รับประโยชน์จำนวน 33,185,000 คน จึงได้ว่า ขณะนี้มีจำนวน 8 เปอร์เซนต์ ของผู้หญิงทั้งหมดในประเทศไทย ที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
งบประมาณกว่า 7.7 พันล้านบาท จะสามารถสร้างสรรค์พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย สมตามวิสัยทัศน์ได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ