ปลุกกระแส-สร้างราคา'พระเครื่องใหม่' บนเส้นทางธุรกิจศรัทธามูลค่า4หมื่นล้าน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 20 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 17859 ครั้ง

มีการกล่าวเปรียบเปรยอยู่ในทีว่า ที่ดินที่แพงที่สุดในโลกอยู่ในเมืองไทย แพงถึงขนาดที่ว่า ไม่กี่ตารางเซ็นติเมตร อาจมีราคาสูงถึงหลักล้าน เป็นไปได้? เป็นไปได้ เมื่อดินที่ว่าอยู่ในรูปของ ‘พระเครื่อง’

เคยมีการประเมินมูลค่าของธุรกิจพระเครื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า ปี 2550 ธุรกิจที่มีฐานบนความศรัทธานี้มีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงว่า ปัจจุบันมูลค่าน่าจะถีบตัวสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งยังมีธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น ธุรกิจการสร้างพระ นิตยสารพระเครื่อง ธุรกิจโฆษณา เป็นต้น ซึ่งน่าจะทำให้เงินสะพัดในธุรกิจพระเครื่องทั้งวงจรสะพัดมากกว่า 40,000 ล้านบาท

วงการธุรกิจพระเครื่องรุดหน้าไปมากนับตั้งแต่ปี 2496 ที่เริ่มมีการเปิดให้เช่าพระเครื่องใต้ต้นมะขามรอบท้องสนามหลวง ก่อนจะย้ายมายังใต้ถุนศาลอาญา ราว ๆ ปี 2500 แน่นอนว่าเส้นทางการก่อเกิดและเฟื่องฟูของพระเครื่องพาดผ่านกับประวัติศาสตร์ สงคราม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

เช่นเดียวกับกลวิธีทางการตลาดของนักธุรกิจสมองใส ที่เสาะหาหนทางผลักพระเครื่องให้มีราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเป็นธุรกิจ พระเครื่องจึงไม่ต่างจากสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ที่ต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการทำการตลาด ซึ่งสำหรับคนนอกวงการ การทำการตลาดพระเครื่องก็มีเหลี่ยมคูแบบทั่ว ๆ ไป จนถึงแบบที่หมิ่นเหม่

แผงพระเครื่องทั้งเก่าและใหม่ยังได้รับความนิยมจากบรรดาเซียนพระ

วงการพระเครื่อง พระใหม่-พระเก่า

วงการพระเครื่องแบ่งเป็นพระเก่ากับพระใหม่ ซึ่งมีวิธีการเล่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน อนุชา ทรงศิริ ประธานกรรมการ บริษัท พระใหม่ดอทคอม จำกัด เปิดเผยศูนย์ข่าว TCIJ ว่า สำหรับพระเก่าที่กลุ่มเซียนเล่นกันมักเป็นพระเครื่องที่มีอายุตั้งแต่ปี 2500 ย้อนหลังลงไป กลุ่มคนที่เล่นจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นายทหาร-ตำรวจ เนื่องจากเป็นพระมีราคาสูงและหายาก การซื้อ-ขายจะวนเวียนจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ หากหลุดออกมานอกกลุ่มเมื่อใดก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นของปลอม

            “พระเก่าจะอยู่ในกลุ่มเซียนเล่นกัน ถ้าเป็นนักสะสมจริง ๆ ต้องมีปัจจัยค่อนข้างสูง เพราะพระเก่าสามารถคืนได้ แต่ต้องหัก คือ 500,000 บาท อาจจะเหลือ 400,000 กว่าบาท เขาจึงซื้อกันในกลุ่มเซียน ถ้าเมื่อไหร่ผมเอาเงิน 500,000 บาทไปใช้ แล้วหายตัวไป ไม่คืน เขาก็ไม่ซื้อกับผม มันมีการการันตีระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ทำไมเซียนถึงขายพระได้แพง เพราะเขาการันตีพระของเขา คุณจะไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ รุ่นลูกรุ่นหลานคุณอามาคืน เขาก็จะให้ ราคาของเขาจะมีเป็นมาตรฐาน แต่ปัจจุบันมีเซียนไม่ได้มาตรฐานเยอะ พอเข้ามาก็จะมีการโกงกัน วงการพระเก่าจึงแยกออกไป”

พระเก่าจึงไม่ค่อยมี หรือไม่จำเป็นต้องมีการทำการตลาด แต่เน้นที่ความน่าเชื่อถือของเซียนพระ ที่คนในวงการให้การยอมรับ ดังนั้นการทำการตลาดพระเครื่องที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงอยู่ในแวดวงพระใหม่เป็นหลัก

บริษัทรับผลิตพระแบ่งสายรับงาน-มุ่งหาความแตกต่าง สร้างจุดขาย

ด้าน ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เขียนหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่อง คติความเชื่อและพุทธพาณิชย์’ กล่าวว่า เท่าที่ทำการเก็บข้อมูลในประเทศไทย พบว่า มีบริษัทที่รับผลิตพระเครื่องอยู่ประมาณ 15-20 บริษัท แต่ละบริษัทก็จะมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการแต่ละแห่ง เช่น ถ้าเป็นการผลิตพระเครื่องของกองทัพบก ก็จะเป็นบริษัทหนึ่ง ถ้าเป็นของตำรวจก็จะเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่บริษัทรับผลิตพระเครื่องจะมีการแบ่งสายและรายได้ เป็นที่รู้กันในวงการ หรือบางรายก็ใช้วิธีติดต่อไปยังวัดต่าง ๆ เอง

ส่วนกระบวนการผลิตพระเครื่องกล่าวได้ว่า ไม่แตกต่างจากการผลิตสินค้าทั่วไป นั่นคือ ต้องเริ่มจากการออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตพระเครื่องหลวงพ่อโสธร การออกแบบย่อมไม่สามารถฉีกแนวรูปลักษณ์ขององค์หลวงพ่อโสธรจนเกินไปได้ เพราะอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพระเครื่องรุ่นที่จะผลิตออกมา ทำให้บางเจ้านำงานอัญมณีเข้ามาประกอบเพื่อให้เกิดความสวยงามและสร้างจุดขาย

บริษัทรับผลิตพระเครื่องหนึ่งในหลายสิบแห่งที่รับผลิตพระทุกรูปแบบ ขอบคุณภาพจาก http://www.amuletmaker.com/)

อีกจุดหนึ่งที่นำมาสู้กัน เพื่อสร้างความแตกต่างคือ มวลสาร เช่น ทรายทอง แร่ทรายเงิน เส้นผมของพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หรือที่มีการโฆษณาออกสื่อ เช่น ดินจากสังเวชนียสถาน เป็นต้น อนุชากล่าวว่า เพราะความต้องการสร้างความแตกต่างด้านมวลสาร โลหะจากปีกเครื่องบิน ก็มีการนำมาใช้เป็นมวลสาร ซึ่งจะเป็นภาระของผู้สร้างที่ต้องหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลให้ได้ว่า เหตุใดจึงเลือกวัตถุนั้น ๆ เป็นมวลสาร ซึ่งในแง่ต้นทุนแล้ว มวลสารถือเป็นต้นทุนในสัดส่วนที่ไม่มาก เพราะใช้จริงเพียงเล็กน้อย เรียกว่านำมาเป็นเชื้อเท่านั้น ไม่ได้ใช้จำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นตัวสร้างจุดขายที่ดีจุดหนึ่ง อนุชาเปิดเผยว่า บางรายก็เพียงแต่โฆษณา ไม่ได้มีมวลสารที่ว่าจริงก็มี

ส่วนตัวบล็อกสำหรับเป็นแบบพิมพ์พระ หากเป็นพระผงตกราว 4,000-6,000 บาท เนื้อโลหะประมาณ 5,000-7,000 บาท ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับฝีไม้ลายมือของช่างแกะพิมพ์ด้วย

ค่าปลุกเสกระดับเกจิอาจารย์ 50,000 บาทต่อวัน

การปลุกเสกนับเป็นอีกหนึ่งกลวิธีสร้างความแตกต่างให้แก่พระเครื่องแต่ละรุ่น โฆษณาพิธีพุทธาภิเษกหรือปลุกเสกความศักดิ์สิทธิ์แก่พระเครื่อง มีให้เห็นเป็นประจำ ซึ่งมักขับเน้นด้วยจำนวนพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และมีชื่อเสียงด้านต่างๆ ความอลังการของตัวพิธี หรือการนิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ณัฐพลกล่าวว่า

พิธีปลุกเสกพระ ขอบคุณภาพจาก http://www.spdr80.com/

            “ต้นทุนส่วนนี้ บางครั้งก็ขึ้นกับว่าเป็นการประกอบพิธีพุทธาภิเษกตามรูปแบบโบราณหรือเปล่า เพราะต้องนิมนต์พระค่อนข้างมาก เช่น ต้องสวดชัยมงคลคาถาต้องนิมนต์พระมาสวด 108 รูป ต้องมีพระอันดับทั้ง 32 รูป รวมถึงพระเกจิชื่อดังที่เป็นที่ยอมรับปรกอีก 4 ทิศ คือ ค่านิมนต์พระเกจิ ณ ตอนนี้ เท่าที่ผมได้ยินก็ประมาณ 30,000-50,000 บาท ต่อรูปต่อวัน ซึ่งโดยปกติจะเสร็จในวันเดียว นอกจากว่านิมนต์ปลุกเสกเดี่ยวในช่วงไตรมาส ช่วงเข้าพรรษา อันนั้นก็แยกออกไป ส่วนพระโดยทั่วไปจะได้ประมาณ 300-1,000 บาท แล้วแต่เจ้าภาพจะจัดได้ขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีค่าบวงสรวงก่อนทำพิธี เช่น ค่าบวงสรวงเตาไฟ ค่าบวงสรวงปรัมพิธี โดยประมาณก็ 10,000-20,000 บาทต่อพิธี ส่วนนี้เป็นการเก็บข้อมูลมาเมื่อสักประมาณปี-2 ปีที่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม อนุชากล่าวว่า ใช่ว่าพิธีปลุกเสกใหญ่โตและจำนวนพระเกจิจำนวนมาก จะช่วยให้พระเครื่องรุ่นนั้น ๆ เป็นที่นิยมในตลาดเสมอไป พระเครื่องบางรุ่นที่ผ่านพิธีการปลุกเสกเอิกเกริก ก็ไม่ช่วยให้เป็นที่นิยมหรือมีราคาสูงมากขึ้น ขณะที่พระเครื่องบางรุ่นได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิชื่อดังเพียงรูปเดียวอาจเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า กรณีที่ชัดเจนคือ พระเครื่องของพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

เหรียญหลวงพ่อคูณ หนึ่งในจำนวนหลายสิบรุ่น ที่ได้รับความนิยมจากเซียนพระเสมอมา

สายส่งพระเครื่อง วัดแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้

ด้านการกระจายตัวสินค้า ปัจจุบันมีความแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ศูนย์กลางจะอยู่ที่วัด แต่ยุคนี้ วัดต่างๆ เปิดศูนย์พระเครื่องและวัตถุมงคลเป็นของตัวเอง อนุชาขยายความว่า

            “คนไปขอเปิดตามวัดต่าง ๆ แต่ละวัดก็จะมีศูนย์พระ จะไปเอาพระมาขายแล้วก็แบ่งเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นทุกวันนี้ ศูนย์พระต่างๆ ได้ประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ คนวางได้สิบห้าหรือห้าเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าผมเป็นคนเดินพระ ผมเหมือนสายส่งหนังสือพิมพ์ไปรับพระมาจากวัด แล้วก็เดินไปตามศูนย์พระต่าง ๆ แล้วผมก็มาเก็บเงินทีหลัง เอาไปให้วัดแล้วหักเปอร์เซ็นต์ ผมก็ได้เปอร์เซ็นต์ตรงนั้น นี่คือการกระจายพระเครื่อง ซึ่งเป็นพระใหม่ ดังนั้นถ้ามีศูนย์พระเป็นจำนวนมากการกระจายมันก็โอเค”

ส่วนจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นกับทางวัดแต่ละแห่ง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสายส่งต้องบริหารจัดการเอง ว่าจะเหลือเข้ากระเป๋าเท่าใด เมื่อหักต้นทุนส่วนอื่น ๆ แล้ว

โฆษณาพระเครื่องของวัดและศูนย์พระเครื่องต่างๆ

งบโฆษณาสูงสุด-ปั่นกระแส สร้างราคา

แต่ต้นทุนทั้งหมดข้างต้น-การออกแบบผลิตภัณฑ์ พิธีปลุกเสก หรือค่ากระจายสินค้า ยังไม่ใช่ต้นทุนส่วนที่สูงที่สุด เพราะต้นทุนหลักในการผลิตพระเครื่องให้ติดตลาดและราคาดีคือต้นทุนส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ณัฐพล กล่าวว่า อาจสูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมด

ทว่า ยังมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า ปั่นกระแส ซึ่งมักมาคู่กับการปั่นราคา ณัฐพลเปิดเผยว่า

            “การสร้างพุทธคุณออกมาให้ปรากฎ เช่น การสร้างเรื่องอภินิหาริย์ว่า ถูกรถชนแล้วไม่เป็นอะไร ก็จะไปดูว่าแขวนพระอะไร แต่พวกนี้ก็จะมีนอกมีในกับพวกมูลนิธิหน่วยกู้ภัยเหมือนกัน ผมเคยได้ข้อมูลมา หรืออีกวิธีการหนึ่งคือการร่วมมือกับพวกเซียนพระ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนกลุ่มนี้บอกว่า รับซื้อพระรุ่นนี้ ในราคาเท่านี้ ตลาดก็จะไปตีเอาว่ากระแสเริ่มหันมาทางนี้แล้ว ราคาพระก็จะขึ้น ซึ่งมีบ่อยครั้งที่ผู้ผลิตพระและเซียนจะจับมือกันเพื่อสร้างกระแส”

ณัฐพลอธิบายว่า การปั่นราคาพระเริ่มจากการแอบเก็บพระไว้ ขณะเดียวกันก็มีการเสนอราคาพระให้สูงขึ้น แล้วรับซื้อในช่วงแรก ตัวอย่างเช่น วัดแห่งหนึ่ง จำหน่ายพระใหม่ในราคา 100 บาท เมื่อจำหน่ายหมด วัดจะได้ส่วนแบ่งประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเป็นของผู้ผลิต แต่ภายหลังผู้ผลิตจะกลับไปกว้านซื้ออย่างเงียบ ๆ ในราคา 110-120 บาท เมื่อเก็บไว้ได้ระดับหนึ่งจะประกาศออกว่า ต้องการพระองค์นี้ ให้ราคาที่ 150-200 บาท ผู้ที่มีพระดังกล่าวในครอบครองก็จะนำมาปล่อยให้ ระยะแรกที่ปล่อยขายได้ผู้คนจะเห็นว่าพระองค์นี้ราคาดี ขายได้ ก็จะเริ่มมีการปั่นราคาพระขึ้นไปอีก เริ่มมีการให้ 250-300 บาท พอถึงจุดอิ่มตัว พระที่ผู้ผลิตซื้อเก็บไว้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในราคา 120 บาทจะถูกปล่อยออกมาในราคา 250-280 บาท ให้ถูกกว่าเจ้าอื่น คนอื่น ๆ จะเริ่มซื้อกักตุนพระเครื่องของที่พึ่งปล่อยออกมา การปั่นราคาจะสิ้นสุด เมื่อผู้ผลิตปล่อยพระได้หมด ซึ่งวิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกับคำบอกเล่าของอนุชาที่ระบุว่า

            “ที่เขาทำกันสมัยก่อนคือไปเดินซื้อ จนเกิดการบอกต่อว่าพระเครื่องรุ่นนี้ขายได้ แบบนี้เรียกปั่น คือตามเก็บเลย พระรุ่นนี้ข้ามีอยู่แล้ว ข้าทำเยอะหรือเช่าไว้เยอะ ก็ใช้วิธีกว้านซื้อให้รู้ว่ามีคนต้องการ ปล่อยออกไป แล้วก็กว้านซื้อกลับมา ปัจจุบันก็ยังมี ปั่นง่าย เพราะการซื้อขายเดี๋ยวนี้ง่ายที่สุดคือการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต เขาปั่นกันทางเน็ต สร้างกระแสให้พระรุ่นนี้ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ก็เข้าไปซื้อกัน ให้ราคาสูง ๆ ปั่นจนพระเริ่มไม่มีหรือมีน้อย ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปเลย คือถ้าคนมีเงินทำได้ ถ้าคุณอยากจะปั่น เพียงแต่ว่าคุณจะกล้าปั่นหรือไม่เท่านั้นเอง”

แล้วใครคือคนที่กล้าปั่น? อนุชาตอบว่า คนที่กล้าปั่นคือ คนที่รู้จำนวนพระที่แท้จริง นั่นย่อมหมายถึงคนสร้างหรือคนในแวดวงผู้สร้างพระเครื่องว่า พระเครื่องรุ่นไหนสามารถปั่นราคาได้ รู้ว่าพระรุ่นนี้อยู่ที่ใคร แล้วพยายามกว้านซื้อกลับมา

            “พอลงในอินเตอร์เน็ตก็ประมูลราคาสูงทันที ให้ราคาสูงเป็นแสน เป็นล้านบาท สู้กัน ปั่นกันไป คือถ้าปั่นของมันต้องน้อย ถ้ากระจายอยู่ในท้องตลาดมากคุณปั่นไม่ขึ้น ไม่มีโอกาสไปปั่น เพราะการปั่นรารานั่นคือของไม่มีถึงจะปั่นได้ คนต้องการมากแล้วของไม่มี แต่การปั่นกระแส บางทีกระแสก็ช่วยปั่นอะไรไม่ได้ คุณไปรถคว่ำไม่ตาย คุณบอกห้อยองค์นี้ แต่ว่าถ้าของยังมีจำนวนมากอยู่คุณจะปั่นยังไง”

เมื่อพระเครื่องกลายเป็นธุรกิจ เป็นการออม และมีการเก็งราคาไม่ต่างจากการซื้อ-ขายหุ้น จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันจะมีหนังสือเกี่ยวกับการเล่นพระให้รวย อนุชากล่าวว่า สำหรับพระเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดี ๆ สามารถอยู่ในกระแสได้นานประมาณ 6 เดือน แต่ก็ยังเป็นภาระของผู้เล่นที่จะต้องมองตลาดเป็น หรืออ่านให้ขาดว่า พระเครื่องรุ่นไหนจะเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วง 6 เดือนจากนี้ และต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเอง

นี่น่าจะเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการสร้างมูลค่าพระเครื่อง ขณะที่เทคโนโลยีรุดหน้า ช่องทางการสื่อสารผุดขึ้นมากมาย ทั้งอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี กลวิธีการทำการตลาดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แห่งศรัทธาคงจะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตามมาอีกมาก ตราบเท่าที่ผู้คนยังต้องการสิ่งยึดเกาะทางจิตใจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: