ชาวบ้านสลดสู้ท่อก๊าซ13ปี ศาลปค.ชี้อีไอเอถูกขั้นตอน

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 20 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2725 ครั้ง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังผลแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งการก๊าซและโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย (อีไอเอ) ที่ก่อสร้างในพื้นที่บ้านตลิ่งชัน อ.จะนะจ.สงขลา คดีหมายเลขดำที่ อ.435/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อ.963/2556 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 5 ที่ 11 ที่ 14 น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้รับมอบอำนาจ จากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 10 นายสุรชัย ตรงงาม ผู้รับมอบอำนาจ จากผู้ฟ้องคดีที่ 11 ถึงที่ 17 นายประมาล เฉลียว และน.ส.สุวลักษณ์ จูสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มาศาล

โดยมีนายกิตติภพ สุทธิสว่าง และพวก 17คน เป็นผู้ฟ้องคดีกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เดิม) ผู้ถูกฟ้องที่ 1คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3

เวลา 10.30 น.ศาลได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับการพิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ในประเด็นเทคนิควิชาการยกเว้นประเด็นด้านสังคม ซึ่งเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่เนื่องจากตามมาตรา 49 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานดังกล่าว แต่ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องมีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าว หลังจากที่ผู้เสนอจัดทำใหม่หรือแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน

แต่ถ้ามิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ให้ความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว ในประเด็นด้านสังคม โดยมิได้สั่งให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานดังกล่าวอีกแต่อย่างใด จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ให้ความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าวแล้ว ตามมาตรา 49 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น

คำพิพากษาระบุต่อว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีหนังสือ ที่ วว 0804/13255 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 แจ้งผลการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า มีมติเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทฯได้ส่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาออกใบอนุญาติให้แก่บริษัท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ขออนุญาตยื่นเอกสารประกอบในการขออนุญาตครบถ้วน อีกทั้งการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไม่กีดขวางทางน้ำ ไม่เปลี่ยนแปลงการไหลของกระแสน้ำ อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกใบขออนุญาตให้ได้ ตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง จึงออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด การออกใบอนุญาตดังกล่าวจึงไม่เป็นการออกใบอนุญาตโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เกี่ยวกับผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 อุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเจ็ดในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น ยกฟ้อง

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากผลแห่งคำพิพากษา มีรายละเอียดหลายประเด็นที่จะต้องติดตามและวิพากวิจารณ์กันต่อไป เนื่องจากตัวพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เขียนข้อจำกัดไว้ในเชิงระยะเวลา อย่างเช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ถ้าหากมีความเห็นว่า ผลการศึกษาอีไอเอไม่ถูกต้อง ก็ต้องให้บริษัทที่จัดทำอีไอเอไปแก้ไขเพิ่มเติมมาส่ง การที่ไม่แก้ไขเพิ่มเติมมาส่ง มาตรา 39 ก็ถือว่าเกินระยะเวลา 30 วัน ก็ถือว่าชอบธรรม

            “พูดง่าย ๆ ก็คือว่าศาลไปมองในแง่มุมว่า ในทางกฎหมายที่ว่าการที่ไม่ไปดำเนินการต่อทางกฎหมาย ก็เห็นว่าเห็นชอบไปแล้ว แม้ว่าจะไม่ครบถ้วนก็ตาม โดยสรุปก็คือว่า มีการละเลยหน้าที่ ทำหน้าที่ ที่ไม่ให้ครบถ้วน แต่โดยผลทางกฎหมาย ไม่มีการแก้ไข ภายใน 30 วัน ตามกฎหมายก็ถือว่า มีการเห็นชอบไปแล้ว นี้ก็เป็นปัญหาตัวกฎหมายอันหนึ่ง” นายสุรชัยกล่าว

ด้านม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ อดีตคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสังคม กล่าวว่า มีประเด็นที่สำคัญในการฟ้องคดีคือ เนื่องจากกรณีดังกล่าว คชก.มีมติว่าไม่ผ่านประเด็นด้านสังคม ไม่ใช่ว่าสั่งให้ไปแก้ไข แต่ทางศาลไม่มองประเด็นนี้ คือศาลเขียนในคำพิพากษา ในลักษณะที่บอกว่า ถ้าเห็นว่าไม่ชอบ เห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็สั่งให้ไปแก้ไข แต่เมื่อไม่สั่ง อะไรขึ้นมา แต่มีมติอย่างอื่น มันก็คือว่าผ่านโดยทางเทคนิค แม้ว่าครบ 30 วัน ก็ไม่ได้กลับไปแก้ไขอะไร ก็ถือว่าผ่านไปโดยอัตโนมัติ ก็ถือว่าเห็นชอบ

            “กรณีที่ศาลชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของคชก. แต่ว่าเวลาอ่าน จะเห็นเลยว่า คชก.นั้นทำไมไม่ทำให้แล้วเสร็จก่อน 30 วัน แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งมีคชก.คนหนึ่งคือข้าพเจ้า เขียนในรายงาน เลยว่า ไม่ให้ผ่าน ผลการศึกษาด้านสังคม ซึ่งถือว่าจบแล้ว ข้าพเจ้าบอกว่าไม่ให้ผ่าน ข้อสังเกตที่เห็น หลังจากนั้น 30 วัน เกิดอะไรขึ้น ใน 30 วันนั้น แทนที่เลขานุการคชก.จะมาแจ้งว่า ถ้าจะสั่งให้แก้ไขภายใน  30 วัน กลับไม่ใช่ กลับพาอีไอเอหนีขึ้นไปหาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคำของศาลก็เขียนมาว่าพาไปถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเด็นนี้มันมีปัญหาแล้ว มันไม่ใช้หน้าที่ของคชก.แล้ว” ม.ล.วัลย์วิภากล่าว

ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อถึงประเด็นที่ว่า มีการฟ้องว่าไม่ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการ รับฟังความคิดเห็น หมายถึงจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นก่อน ในโครงการที่รุนแรง ซึ่งเราตีความว่าโครงการนี้รุนแรง ซึ่งศาลเห็นว่าอันนี้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ซึ่งมีถอยคำว่า ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ ซึ่งศาลปกครองสูงสุด ก็เห็นว่ากรณีนี้ยังไม่มีกฎหมายในรายละเอียดออกมาในขณะนั้น ก็ถือว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้

ส่วนกรณีฟ้องว่า ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนนี้ ศาลก็ได้ตีความว่า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ตัดอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะนำไปพิจารณาประกอบ เพราะเป็นการดำเนินงานกิจการโดยรัฐ ในการอนุญาตวางท่อส่งก๊าซ ซึ่งไม่ใช่กิจการที่เป็นประโยชน์ต่อตำบล ก็ไม่ต้องมารับฟังความคิดเห็น ตลอดจนต้องมีการตั้งคณะกรรมการและตัวแทน ของอบต. เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องตามรัฐธรมนูญ มาตรา 290 ซึ่งพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่น ศาลปกครองก็เห็นว่า ยังไม่มีกฎหมายรายละเอียดรองรับที่ชัดเจนออกมา ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ อันนี้ก็เป็นปัญหา

ทางด้าน นางจันทิมา ชัยบุตรดี กล่าวว่า เมื่อผลแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ออกมาเช่นนี้ ในฐานะคนในพื้นที่ คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รู้สึกเสียใจอย่างมาก ที่ผ่านมาการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ตลอดระยะเวลา13 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านนักวิชาการ คัดค้านกันด้วยเหตุผลและข้อมูลทางวิชาการมาตลอด แต่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญไม่สนใจไม่เห็นหัวคนในพื้นที่ ใช้อำนาจ ใช้เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนจับกุมยัดห้องขัง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำกับประชาชน แต่ประชาชนคนธรรมดา ก็ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาอย่างยาวนาน เพราะเราเชื่อในกระบวนการยุติธรรม ว่าจะให้ความเป็นธรรมได้จริง ๆ แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ก็เสียใจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: