ต่างชาติชี้'การเมืองไทย' ไปไม่พ้นวังวนเผด็จการ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 20 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1409 ครั้ง

รัฐประหารครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 16 ของไทย ในสายต่างชาติมองว่าเป็นการผลักประเทศให้ถอยร่นไปสู่ยุคเผด็จการอีกครั้ง และแน่นอนว่าทุกครั้งที่เผด็การเรืองอำนาจต่างมีประชาชนออกมาต่อต้านและอ้าแขนรับด้วยความยินดี

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ในการเสวนาดังกล่าว มาร์ค แซ็กเซอร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการ FES หรือ Friedrich-Ebert-Stiftung องค์กรด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสังคมวิทยา กล่าวถึงสาเหตุที่การเมืองไทยหนีไม่พ้นวังวนเผด็จการทางการเมือง หรือการรัฐประหาร ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ชนชั้นเดิมในสังคมไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มชนชั้นใหม่

แซ็กเซอร์กล่าวว่า เหตุที่ไทยยังคงติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร ส่วนสำคัญเกิดจากชนชั้นเดิมในสังคม รู้สึกว่าชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ กลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่กำลังคุกคามเสถียรภาพทางสังคมของตน หรือดึงอำนาจในการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคมไปจากมือตน และเพื่อรักษาเสถียรภาพเดิมไว้จึงจำเป็นต้องดึงทหารเข้ามาเป็นผู้รักษาเสถียรภาพด้วยการรัฐประหาร นำสังคมกลับไปยังจุดเดิมที่ชนชั้นเดิมรู้สึกว่ามีเสถียรภาพ

แซ็กเซอร์อธิบายว่า ประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ในไทย ที่ผ่านมาอยู่ในรูปของประชาธิปไตยอัปลักษณ์ กล่าวคือ ไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ แต่ยังคงเปิดพื้นที่ให้เสรีภาพของประชาชนทำงานได้ (Deform but liberal) โดยทั่วไปในระบบการเมืองจะมีความสมดุลและสัมพันธ์กัน ระหว่างเสรีภาพในระบบ หรือการเปิดกว้างของระบบการเมืองที่จะรับเอากลุ่มคนใหม่ ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมกับเสถียรภาพของสังคม เริ่มแรกนั้นสังคมอาจเริ่มจากการเป็นสังคมที่มีเสถียรภาพสูง แต่ไม่มีเสรีภาพเลย เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยปัจจัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลาย เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาในสังคมและเริ่มขอเข้าไปมีส่วนร่วมแบ่งในระบบการเมืองเดิม เช่น ขอมีส่วนในการกำหนดนโยบายระดับชาติ ที่แต่เดิมอยู่ในการควบคุมของชนชั้นเดิม และนั่นย่อมทำให้เสถียรภาพทางการเมืองเดิมเริ่มสั่นคลอน สภาวะดังกล่าวแซ็กเซ่อร์ระบุว่า หากเป็นไปตามครรลองของมัน เมื่อเสถียรภาพเดิมลดลงถึงจุดหนึ่งก็จะกลับไปอยู่ในจุดเดิม โดยที่บรรจุชนชั้นใหม่เข้าไปด้วย แต่ในประเทศที่มี Transformation crisis หรือ วิกฤติแห่งการเปลี่ยนผ่าน ชนชั้นเดิมในสังคมจะไม่ต้องการให้ชนชั้นใหม่เข้ามาร่วมด้วย เช่นการให้ทหารเข้ามารัฐประหารหยุดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งอยู่ในจุดที่การเปิดกว้างของเสรีภาพลดระดับลงจนถึงจุดต่ำสุด

ทางออกจากวิกฤติดังกล่าวแซ็กเซอร์แนะว่า แต่ละฝ่ายควรจัดทำสัญญาประชาคมขึ้นใหม่ (New social contract) กลุ่มชนชั้นเดิมจะต้องยอมให้ชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่มีที่ทางในสังคม และเรียนรู้ที่จะตอบสนองจ่อเสียงส่วนใหญ่ อ่างไรก็ตามชนชั้นใหม่ในนามของคนส่วนใหญ่เองก็ต้องยอมรับว่า เสียงส่วนใหญ่ (majority rules) ก็จำเป็นจะต้องถูกจำกัดเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันกับเสียงส่วนน้อยที่อยู่ในนามชนชั้นนำเดิม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: