แก้'พรบ.ลิขสิทธิ์'เพิ่มโทษแอบถ่ายในโรง จับตาเอาผิดคนซื้อ-เจ้าของสถานที่ขาย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 20 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3018 ครั้ง

ความเข้าใจของสังคมไทยต่อคำว่า “ลิขสิทธิ์” นับว่ามีมากกว่าในอดีต แต่ความเข้าใจดังกล่าวดูเหมือนจะยังจำกัดกรอบเฉพาะหัวข้อประมาณเทปผี ซีดีเถื่อน เป็นหลัก ทั้งที่รากฐานความคิดเรื่องลิขสิทธิ์เกี่ยวพันกับประเด็นการเข้าถึงความรู้ของประชาชนด้วย

หนึ่งในกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.... ซึ่งเป็นการนำเสนอของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และนี่ไม่ใช่ความพยายามแรก หากเป็นความพยายามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นภายหลังที่ไทยประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ์หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) แต่ถูกสหรัฐฯ โต้ตอบด้วยการจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษหรือพีดับเบิ้ลยูแอล (Priority Watch List: PWL) ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งล่าสุดกลับยังไม่มีใครได้เห็นร่างกฎหมายที่เสนอต่อ คสช. เลย ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังใช้ช่วงเวลานี้ลักไก่ผลักดันกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่

ขอบคุณภาพจาก www.thairath.co.th

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ....

ล่าสุดวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่…พ.ศ. …. การกำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์ ด้วยคะแนน 184 งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน กรอบเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่…พ.ศ….. แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการทำซ้ำ ด้วยการบันทึกภาพและเสียงจากภาพยนตร์ ในระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จึงเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว หากผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็น การได้ยิน และสติปัญญา รวมทั้งคนพิการประเภทอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ที่จะสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็น

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่…พ.ศ. ….ยังมีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิรองรับกรณีที่ปัจจุบันมีการนำข้อมูลการบริหารสิทธิ และมาตรการทางเทคโนโลยี มาใช้ในการคุ้มครองงานที่มีลิขสิทธิ์ของนักแสดง จึงกำหนดให้มีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงเพิ่มขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีอำนาจสั่งทำลายสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดได้

แก้กฎหมายลิขสิทธิ์เอาผิดคนซื้อและผู้ให้เช่าพื้นที่

แม้จะยังไม่มีใครเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว แต่หากสำรวจความพยายามครั้งก่อน ๆ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็พอจะเห็นร่องรอยความคิดและเนื้อหาที่น่าจะปรากฎในร่างกฎหมายได้ ซึ่งประเด็นที่น่าวิตกที่สุดประการหนึ่งปรากฏอยู่ใน ‘ร่าง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่..) พ.ศ.....’ ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยในมาตรา 3 ระบุให้เพิ่มเนื้อหาในมาตรา 31/1 และ 31/2 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ว่า

‘มาตรา 31/1 ผู้ใดซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ หรือภาพยนตร์ โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้านั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นการซื้อโดยเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นเอง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี หรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการ หรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว

‘มาตรา 31/2 เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ใด ให้ผู้อื่นใช้อาคารหรือพื้นที่ของตนเองหรือผู้อื่น โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ถึงการกระทำของผู้ใช้อาคาร หรือพื้นที่นั้นเพื่อกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยการทำซ้ำ ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

‘ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นด้วย’

กล่าวโดยสรุปคือ ผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จะถือว่ามีความผิดและถูกลงโทษตามกฎหมายด้วย

ขอบคุณภาพจาก http://www.inattt.com/

อัยการสูงสุดค้านสุดตัว หวั่นกระทบคนวงกว้าง

ความกังวลต่อเนื้อหากฎหมายลักษณะนี้ เคยถูกทักท้วงจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาแล้วเมื่อปี 2552 ในหนังสือเลขที่ อส 0027 (พก) เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่..) พ.ศ.... (กำหนดความรับผิดของผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และความรับผิดของเจ้าของพื้นที่ที่ขายสินค้าละเมิดดังกล่าว) มีเนื้อหาสรุป ดังนี้

สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า การกำหนดความผิดอาญาการละเมิดลิขสิทธิ์ปัจจุบันเป็นไปตามอนุสัญญากรุงเบอร์นและข้อตกลงทริปส์อยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ลงโทษผู้ซื้อและผู้ครอบครองสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นภาคีก็ไม่มีการออกกฎหมายลักษณะดังกล่าว ทั้งยังอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29 เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายที่ลงโทษบุคคลเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อาจกระทบต่อประชาชนของประเทศโดยส่วนใหญ่และอาจถูกกลั่นแกล้งได้

กฎหมายที่มีอยู่ก็มีมาตรการและบทลงโทษที่เหมาะสมแล้ว แต่ติดปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ยังความขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ การแก้ไขกฎหมายลักษณะนี้อาจทำให้ประชาชนถูกลงโทษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ส่วนการเอาผิดเจ้าของสถานที่นั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า กฎหมายอาญา มาตรา 86 ได้บัญญัติหลักการในการลงโทษผู้สนับสนุนผู้กระทำความผิดไว้อยู่แล้วและสามารถนำมาปรับใช้ได้ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความซ้ำซ้อนเกินจำเป็น

‘และยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัดที่ซื้อหาสินค้าจากตลาดนัด เพราะไม่สะดวกในการเดินทางไกลเข้าเมือง นอกจากนี้ผู้ให้เช่าพื้นที่ในการจัดตลาดนัดก็ไม่ได้เป็นผู้ติดต่อโดยตรงกับผู้มาขายสินค้า ประกอบกับผู้มาขายสินค้าได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นจำนวนมากในการมาออกขายสินค้าแต่ละนัด ผู้ให้เช่าพื้นที่จึงไม่มีโอกาสจะทราบได้ว่า ผู้ค้าแต่ละรายนำสินค้าใดมาจำหน่ายบ้าง การบัญญัติให้ผู้ให้เช่าพื้นที่ต้องรับผิดชอบ จึงเป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเป็นจำเลยจากการกลั่นแกล้งได้โดยง่าย และเป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนส่วนใหญ่’

นักกฎหมายระบุไทยยังไม่พร้อมใช้กฎหมายลักษณะนี้

น่าจะเห็นภาพได้ว่า หากกฎหมายดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจาก สนช. จะก่อผลกระทบวงกว้างต่อประชาชนเพียงใด แม้ว่าเมื่อพิจารณาตามหลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ การสนับสนุนสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อาจไม่มีความชอบธรรม แต่ในทัศนะของ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า แม้ว่าในต่างประเทศจะมีกฎหมายลักษณะนี้ แต่จำเป็นต้องดูว่าพื้นฐานบริบทในต่างประเทศในไทยว่าสามารถนำมาปฏิบัติเทียบเคียงกันได้หรือไม่ เนื่องจากประเทศในแถบยุโรป หากผู้ซื้อรู้ว่าเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งยังมีทางเลือกและศักยภาพที่จะใช้สินค้าที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังเลือกที่จะใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนี้ถือว่ามีความผิด ดังนั้น จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน ผู้ใช้ในตะวันตกมีทางเลือกและสามารถใช้สินค้าของจริงได้

        “วิธีการเข้าถึงงานของผู้คนทั่วไปเหมือนกันหรือไม่ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ใช้และผู้ให้เช่าในไทยเหมือนกับในต่างประเทศหรือไม่ ถ้าเราดูสิ่งเหล่านี้แล้วมาเปรียบเทียบว่าอะไรทำให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินฯ ต้องการนำเรื่องของผู้ให้เช่าพื้นที่และผู้ซื้อมาเป็นประเด็นทางกฎหมาย หรือเพราะคุณไปไล่เอาผิดกับคนที่ละเมิดไม่ได้ หรือคุณไปคุยกับใครมาจึงต้องทำแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้แปลว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ดี แต่กลับจะไปปรับแก้กฎหมายทำให้ผู้คนเดือดร้อน”

รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวว่า หลักการสำคัญที่สุดของกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาคือการกระตุ้นให้บุคคลต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์แก่สังคม จึงต้องมีการคุ้มครองเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ตนสร้าง แต่หลักประการแรกคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่สังคม สังคมได้ แล้วสะท้อนกลับสู่ผู้สร้าง ไม่ใช่ผู้สร้างได้ประโยชน์ แล้วสะท้อนกลับสู่สังคม

          “ถ้าคุณมีงานน้อย แล้วจะมาเข้มงวด ถามว่าคุณทำเพื่อใคร คุณไม่ได้ส่งเสริมให้คนสร้างสรรค์ ไม่ได้สร้างระบบเศรษฐกิจให้คนมีเงินไปใช้ของจริง มันจึงเป็นความผิดฝาผิดตัว กลายเป็นว่าผู้ค้าจะไม่ค่อยโดนจับหรอก แต่คนที่จะโดนแทนคือผู้ให้เช่ากับผู้ใช้”

รศ.ดร.เจษฎ์อธิบายว่า การจะดูแลจัดการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีองค์ประกอบ 3 ประการที่ต้องนำมาใคร่ครวญประกอบคือ ความรู้ความเข้าใจของสังคมมีมากน้อยแค่ไหน, ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมของสังคมมีมากน้อยแค่ไหน และความสร้างสรรค์และความเป็นเจ้าของลิทสิทธิ์ของสังคมมีมากน้อยแค่ไหน

สหรัฐฯ บีบไทยแก้กฎหมายตั้งแต่ปี 53

เมื่อย้อนประวัติศาสตร์การขับเคี่ยวเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะพบว่า ทันทีที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศซีแอลยาตัวแรกปลายปี 2549 สหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาไม่เห็นชอบทันที รายงาน Special 301 ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2550 ประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับอยู่ในประเทศที่ต้องจับตากรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์, เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงกดดันให้ประเทศไทยยกเลิกการประกาศซีแอลยา ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่าการติดพีดับเบิ้ลยูแอล (Priority Watch List: PWL) เป็นความเสียหายต่อประเทศและต่อกรมเอง

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความพยายามมาโดยตลอดที่จะดำเนินมาตราการต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากพีดับเบิ้ลยูแอล ซึ่งการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ถือเป็นหนึ่งในนั้น รายงาน Special 301 ตั้งแต่ปี 2550 จนถึง 2556 ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยคล้ายคลึงกันว่า ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างกว้างขวางและรัฐบาลไทยยังจัดการปัญหานี้ไม่ดีพอ

และจะสังเกตได้ว่า ในรายงาน Special 301 นับตั้งแต่ปี 2553 เริ่มมีการกล่าวถึงการออกกฎหมายเพื่อให้เจ้าของพื้นที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งการแก้ไขเนื้อหากฎหมายในลักษณะนี้ถือว่าเกินขอบเขตของข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้าหรือทริปส์ จึงเข้าข่ายเป็นทริปส์พลัส ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี

กรณีนี้ต้องติดตามใกล้ชิดว่า การลักไก่แก้ไขกฎหมายที่ยังไม่มีใครเห็นเนื้อหา ในช่วงที่รัฐบาลและข้าราชการมีอำนาจเบ็ดเสร็จจะส่งผลกระทบเช่นไรต่อสังคมไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: