ล่าสุด ธีรยุทธ บุญมี ก็สร้างคำอธิบายว่า กปปส.เป็นขบวนการสันติภิวัฒน์ที่เทียบได้กับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และ เนลสัน แมนเดลา ถึงแม้คิงจะสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างพลเมืองทุกสีผิว และแมนเดลาจะต่อสู้ให้คนดำมีสิทธิเลือกตั้งเท่าคนขาวตามหลัก Universal Suffrage ขณะที่ กปปส.มุ่งจำกัดสิทธิเลือกตั้งจนตอกย้ำความแตกต่างและชนชั้นระหว่างพลเมืองอยู่ตลอดเวลาก็ตามที
สำหรับคนที่คิดแบบธีรยุทธ กปปส.คือการรวมตัวโดยสงบและสันติ ที่มีพลเมืองเข้าร่วมมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การปฏิรูปสังคมให้เป็นประชาธิปไตยไปจนถึงการปลดแอกจากทุนสามานย์ ผลก็คือต่อให้ กปปส. เรียกร้องให้รัฐประหาร ยกเลิกการเลือกตั้ง ขอนายกฯพระราชทาน สถาปนาสภาที่ประชาชนทั้งหมดไม่มีส่วนเลือก ฯลฯ คนเหล่านี้ก็ไม่มีวันเห็นว่านี่คือขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
อาจมีผู้โต้แย้งว่าทุกวันนี้ล้าสมัยแล้ว ที่จะใช้อุดมการณ์ไปทำความเข้าใจขบวนการการเมือง แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า หลายประเทศในปัจจุบันได้เกิดปรากฎการณ์เลี้ยวกลับไปหาการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมแล้ว อาหรับสปริงปิดฉากด้วยรัฐประหารและการปราบปรามประชาชน โลกไมได้เดินหน้าสู่เสรีประชาธิปไตยเร็วอย่างที่เคยประเมิน เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่แล้ว การทำความเข้าใจอนุรักษ์นิยมจึงเป็นเรื่องที่กลับมามีความจำเป็น
แก่นของอนุรักษ์นิยมที่ไหนในโลกก็คือการจรรโลง Status Quo หรือ “แช่แข็ง” ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมให้เป็นแบบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดเองว่าควรเป็น ตู้ที่ใช้แช่แข็งสังคมจึงเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่ชาติ ความมั่นคง สีผิวศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือแม้แต่สถาบันที่อยู่มาเป็นร้อยปี ขอให้ตู้นั้นเกื้อกูลต่อการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในตู้หยุดนิ่ง แค่นั้นก็ถือว่าเพียงพอ
เพื่อจะหยุดสังคมจากความเปลี่ยนแปลง อนุรักษ์นิยมใช้วิธีที่หลากหลายตั้งแต่ตั้งพรรคการเมือง ควบรวมกับเผด็จการทหาร สร้างกองกำลังมวลชนแบบลัทธิฟาสซิสต์ รวมทั้งสะกดจิตรวมหมู่ว่าอนาคตคือหายนะที่น่าสะพรึงกลัว (Apocalyptic Pessimism) ซึ่งเพื่อให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน อนุรักษ์นิยมต้องเขียนให้ทุนนิยมเป็นมหันตภัยไปด้วย พวกเขาจึงวิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมคล้ายพวกหัวก้าวหน้า แต่โดยเนื้อแท้แล้วมีเป้าหมายเพื่อโฆษณาชวนเชื่อลัทธิแช่แข็งสังคม
ในการจองจำสังคมไม่ให้เคลื่อนไหว กระบวนทัศน์มาตรฐานของอนุรักษ์นิยมคือการเป็นอริกับเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือพุดโดยรวมก็คือการต่อต้านความคิดและวัฒนธรรมที่สากล (Universalism) อันเป็น “กระแส” ซึ่งจะพาสังคมออกจากตู้แช่ของอนุรักษ์ การแอบอ้างว่าคุณค่าสากลเป็นตะวันตกเกินไป ปฏิบัติไม่ได้ สังคมยังไม่พร้อม คนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจ ฯลฯ จึงเป็นโวหารที่พบได้มากที่สุดในหมู่พวกอนุรักษ์นิยม
อนุรักษ์นิยมทั้งโลกล้วนไม่ยอมรับประชาธิปไตยรัฐสภา พวกเขามักเรียกร้องให้แทนที่ระบบรัฐสภาด้วยการเมืองของคนส่วนน้อยที่อ้างว่าตัวเองคำนึงถึงส่วนรวมยิ่งกว่าในชื่อต่างๆ (เช่นสภาประชาชน) อย่างไรก็ดี “ส่วนรวม” แบบนี้เลื่อนลอย จนไม่มีผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มหรือชนชั้นอยู่ในนั้น เพราะพรรณนาโวหารแบบนี้ เปิดโอกาสให้พวกอนุรักษ์อุปโลกตัวเองเป็นตัวแทนของสังคมได้มากกว่าบุคคลหรือองค์กรซึ่งเป็นผู้แทนคนอื่นจริง ๆ
นอกเหนือจากปฏิบัติการล้มประชาธิปไตยรัฐสภา ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อถึงระบบการเมืองที่เลื่อนลอย ขบวนการอนุรักษ์นิยมมักโจมตีนักการเมืองในคอร์รัปชั่น โกงกินอยู่หรูหรา เหมือนชนชั้นนายทุน เห็นแก่ตัว เป็นตัวแทนคนกลุ่มน้อย ฯลฯ เพื่อปลุกระดมให้ประชาชนโค่นล้มประชาธิปไตยรัฐสภาต่อไปอีกด้วย พูดง่าย ๆ คืออนุรักษ์นิยมโจมตีรัฐสภา ว่าเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มน้อย เพื่อสถาปนาการปกครองโดยคนกลุ่มน้อยที่สุดในสังคม
อันที่จริง การโจมตีประชาธิปไตยรัฐสภา ว่าเป็นการปกครองของชนชั้นนายทุน จนเป็นระบบที่ “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” ก็อาศัยการมองทุนนิยมในแง่ร้าย ไปเชิดชูการต่อต้านประชาธิปไตยรัฐสภาด้วยเหมือนกัน
มีอะไรในอนุรักษ์นิยมอีกบ้าง ที่ไม่พบในคำประกาศของ กปปส.ทั้งในและนอกพื้นที่ชุมนุม? ธาตุแท้แบบอนุรักษ์นิยมที่อัดแน่นใน กปปส.แบบนี้ทำให้เป็นเรื่องเหลวไหลเหลือเกินที่จะบอกว่า กปปส.เป็นขบวนการปฏิรูปสังคม
แม้จะเป็นองค์กรที่จัดตั้งได้ไม่นาน แต่โวหารการเมืองของ กปปส. ล้วนดำเนินรอยตามกลุ่มฝืนโลกที่มีมาก่อนโดยไม่มีผิดเพี้ยน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ที่การต่อสู้ของคนกลุ่มนี้วนเวียนกับการแช่แข็งประเทศ (ในกรณี เสธ.อ้าย) ปิดกรุงเทพฯ (ในกรณี กปปส.) สนับสนุนรัฐประหาร (ในกรณีพันธมิตร) ขณะที่ข้อเสนอทางการเมืองของพวกเขาก็วนเวียนอยู่กับระบอบของคนกลุ่มน้อย จากนายกฯ พระราชทาน สู่สภาที่ไม่มีตัวแทนประชาชน
ควรระบุต่อไปว่า กปปส.ชูข้อเรียกร้องที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ยิ่งกว่าที่พันธมิตรและ เสธ.อ้าย เคยเสนอเอาไว้ ตัวอย่างเช่น พันธมิตรเสนอการเมืองใหม่ที่สภามาจากการแต่งตั้งร้อยละ 70 และมาจากการเลือกตั้งร้อยละ 30 ส่วน กปปส. เสนอสภาประชาชนที่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจเลือกใครแม้แต่คนเดียว เพราะในสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดนี้ สมาชิกร้อยละ 75 จัดสรรกันเอง โดยคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนร้อยละ 25 มาจากการเลือกของ กปปส.โดยตรง
ในแง่นี้แล้ว กปปส.ทำแบบเดียวกับสภานิติบัญญัติหลังรัฐประหารเคยทำ นั่นก็คือตั้งสภาที่สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง แต่ กปปส.กระจายให้สมาชิกสภามาจากคนในเครือข่ายที่กว้างขวางยิ่งขึ้น วิธีนี้จูงใจให้คนเหล่านี้สนับสนุน กปปส. เพราะเห็นโอกาสในการอ้างตัวเป็นตัวแทนวิชาชีพ จนไปมีตำแหน่งในการออกกฎหมายหรือบริหารบ้านเมือง ต่อให้คนทั้งหมดในวิชาชีพอาจไม่รู้จัก และไม่เคยลงมติให้บุคคลนั้นเป็นตัวแทนพวกเขาเลยก็ตาม
ถึงที่สุดแล้ว เครือข่ายหมายถึงกลุ่มคน เมื่อใดที่พูดถึงเครือข่าย จึงต้องนึกถึงคนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย รวมทั้งคนที่ไม่มีเครือข่ายกับใครด้วย หาไม่แล้วเครือข่ายก็จะกลายเป็นคำอวดอ้างในการเข้าไปมีอำนาจในนามของทุกคน
พูดอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ข้อเสนอทางการเมืองของ กปปส.ไปไกลว่าเผด็จการทหารในรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และ 19 กันยายน 2549 ด้วยซ้ำไป เพราะ กปปส. เสนอให้การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการปฏิรูป จนสามารถเลื่อนการเลือกตั้งไปจนกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จ สิทธิการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างการเลือกตั้ง กลายเป็นสิ่งที่ถูกระงับอย่างไรก็ได้ ขณะที่ฝ่ายรัฐประหารปี 2534 และ 2549 ยังระบุไว้ชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเวลากี่เดือน
สำหรับผู้ที่ใฝ่ใจกับการปฏิรูปสังคม คำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ได้คือ มีองค์ประกอบไหนใน กปปส.ที่พิสูจน์ให้คนส่วนใหญ่ไว้วางใจได้ว่า นี่คือขบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นสำหรับทุกคนอย่างจริงจัง?
แนวประเมินบางแบบมอง กปปส.ในฐานะขบวนการฟาสซิสต์ เพื่อทำลายระเบียบสังคม แต่โดยเนื้อแท้แล้ว กปปส.เป็นอนุรักษ์นิยมแนวปฏิกิริยา จนไม่มีศักยภาพจะเป็นขบวนการฟาสซิสต์ไปได้ ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับฟาสซิสต์นั้นทับซ้อนกัน แต่ก็แตกต่างกัน ถึงขั้นที่โดยพื้นฐานแล้วไปกันไม่ได้ เพราะฟาสซิสต์มุ่งสถาปนา “ระบอบใหม่” ที่ใช้อดีตเป็นแค่สัญลักษณ์ ในการดึงดูดให้สนับสนุนผู้นำใหม่ในการเมืองใหม่ซึ่งจะสร้างความไพบูลย์ให้สังคม ฟาสซิสต์จึงไม่ได้มุ่งรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมแบบที่เคยเป็น
มุสโสลินีกลายเป็นผู้ล้มระบอบกษัตริย์อิตาลีไปก็ด้วยเหตุนี้เอง
Roger Griffin นักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องฟาสซิสต์มากที่สุดคนหนึ่ง เสนอแนวคิด “บรรทัดฐานขั้นต่ำของฟาสซิสต์” (fascist minimum) เพื่ออธิบายว่า คุณสมบัติร่วมของฟาสซิสต์ทุกกรณีคือ Palingenetic Ultranationalism ซึ่งพูดง่าย ๆ คือการปลุกลัทธิคลั่งชาติแบบคลุ้มคลั่งให้ไปไกลถึงขั้นเชื่อว่าสร้างสังคมใหม่ได้ด้วยลัทธิคลั่งชาติ ความลุ่มหลงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติ จึงเป็นห่วงเชื่อมอนุรักษ์นิยมกับฟาสซิสต์ แต่อนุรักษ์นิยมไม่ได้นำไปสู่ฟาสซิสต์ตลอดเวลา
ความสัมพันธ์ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับฟาสซิสต์ในแง่นี้ ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่มีทางยอมให้คุณสุเทพและ กปปส.ไปถึงขั้นเป็นผู้นำใหม่ในระบอบใหม่ซึ่งในที่สุดจะเป็นภัยคุกคามฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง อย่างมากที่พวกเขาต้องการคือนักปลุกระดมและกองกำลังมวลชน เพื่อสร้างการเมืองที่จรรโลงสถานะนำของชนชั้นเดิมเอาไว้ การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาเหล่านี้สนใจ เพราะถ้าใช่ เราคงไม่มีเหตุให้ต้องพูดถึงการปฏิรูปประเทศกันอีกในปัจจุบัน
ถ้าไม่หลอกตัวเองหรือมืดบอดด้วยอคติทางการเมืองเกินไป ความเคลื่อนไหวของ กปปส.และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีส่วนไหนเลยที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม
ขอบคุณภาพจากhttp://news.th.msn.com/
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ