‘ขยะล้นเมือง’กฎหมายล้าสมัย-งบไม่พอ จี้เลิกทิ้งชนบท-ดึงผู้ผลิตสินค้าแก้ปัญหา

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 4139 ครั้ง

เหตุเพลิงลุกไหม้กองขยะเนื้อที่ 150 ไร่ ในซอยแพรกษา 8 อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ถึงสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ระบุตรงกันว่า ปัจจุบันปัญหาขยะ กำลังกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ และหากยังไม่มีการดำเนินการกำจัดที่ถูกต้องก็เชื่อว่าอีกไม่เกิน 3 ปี ประเทศไทยจะต้องกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีขยะล้นประเทศที่ยากต่อการแก้ไขได้อีกต่อไป

ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามหลังจากเกิดเหตุไฟไหม้กองขยะครั้งนี้ หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการขยะจำนวนมาก ที่ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันเป็นภาระหน้าที่หนักขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นเองในแต่ละชุมชน แต่หลังเกิดเหตุไฟไหม้กองขยะ จนกลายเป็นประเด็นขุดคุ้ยข้อมูลอย่างกว้างขวางกลับพบว่า การดำเนินการขององค์กรปกครองท้องถิ่นเหล่า กลับไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง จนทำให้เกิดขยะสะสมในปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว และยังพบกองขยะขนาดใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ อีกจำนวนมากด้วย

ขอบคุณภาพจาก http://www.thaisaeree.com/home/images/stories/news/08-54/03-bin1.jpg

คพ.ระบุกฎหมายล้าสมัย แก้ปัญหาขยะไม่ได้

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรืองกิจ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงประเด็นอุปสรรคที่ทำให้การบริหารจัดการขยะของไทยไม่ประสบความสำเร็จ ว่า ที่ผ่านมาหลังจากกระจายอำนาจให้การบริการจัดการขยะ ไปเป็นภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาการกำจัดขยะก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในส่วนของหน่วยงานที่ออกกฎระเบียบอย่าง กระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงสาธารณสุข หรือองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทำให้ขยะไม่ถูกกำจัด หรือลดจำนวนลงตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพราะมีอุปสรรคสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความล้าสมัยของกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเรื่องของงบประมาณ ที่จะนำไปใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ

            “ผมยกตัวอย่างเรื่องของ การเก็บค่าบริการขนขยะ ที่ตามกฎหมายระบุว่า เทศบาลจะเก็บได้ไม่เกินบ้านละ 40 บาท เป็นกฎหมายที่ออกมานานแล้วหลายสิบปี แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายลูก ในขณะที่ตอนนี้ราคา 40 บาทถือว่าถูกมาก เทศบาลจะไปขึ้นก็บอกว่าทำไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้แค่นี้ ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะจี้ไปให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขข้อนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าติดอะไร ยังไม่แก้ไขให้เพิ่มขึ้น แต่ก็มาพิจารณาอีก หากมีการแก้ไขให้สามารถขึ้นราคาค่าเก็บขยะได้ เทศบาลจะขึ้นราคาหรือเปล่า เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองท้องถิ่น เรื่องคะแนนเสียงอะไรต่าง ๆ อีก จึงเป็นปัญหาไก่กับไข่ ที่โยนกันไปมา และเมื่อไม่มีงบประมาณที่จะไปกำจัดไปทำอะไร ขยะก็ถูกนำเทกองแบบที่เห็น และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง” นายวิเชียรกล่าว

ขอบคุณภาพจาก http://www.ictsilpakorn.com/userfiles/image/b2.jpg

ชี้ต้องใช้เงินอย่างต่ำหมื่นล้าน กำจัดขยะสะสม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ในการดำเนินการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยหากคำนวณจากปริมาณขยะสะสมปัจจุบันที่อยู่ที่ 26.77 ล้านตัน รวมกับขยะอุตสาหกรรมอีก 3.9 ล้านตัน โดยใช้วิธีดำเนินการแบบฝังกลบในราคาที่ถูกที่สุดจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าลงทุนต่าง ๆ  ซึ่งถือว่ามากมาย ในขณะที่เทศบาลเก็บค่าขยะได้ 40 บาท คิด จากการเก็บครัวเรือนทั้งประเทศ 20 ล้านครัวเรือน แบบประมาณการณ์ จะเห็นได้ว่าไม่เพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีงบประมาณเทศบาล ก็จำเป็นจะต้องนำไปเทกองไว้ในที่ต่าง ๆ จนเป็นสาเหตุให้เกิดกองขยะมากมายในหลายพื้นที่ที่ขณะนี้มีมากกว่า 2,000 แห่ง

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปัจจุบันมีการสำรวจพบแหล่งทิ้งขยะที่มีทั้งบ่อฝังกลบ บ่อเทขยะ เตาเผาขยะ จำนวน 2,490 แห่ง มีสถานที่กำจัดขยะอย่างถูกต้องเพียง 466 แห่งเท่านั้น ในขณะที่ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 7.27 ล้านตัน  และพบว่ามี 20 จังหวัด จาก 77 จังหวัด มีปริมาณขยะในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดย 3 อันดับแรกได้แก่ สงขลา เป็นจังหวัดที่มีขยะสะสมสูงสุดถึง 2.4 ล้านตัน รองลงมาคือสมุทรปราการ จำนวน 2 ล้านตัน  และ จ.กาญจนบุรี 1.6 ล้านตัน

ขอบคุณภาพจาก  http://board.postjung.com/data/690/690158-img-1373349369-1.jpg

รัฐจ่ายเงิน อปท.ไม่ครบส่งผลกำจัดไม่ได้ต้องทิ้งนอกพื้นที่

เมื่อถามถึงงบประมาณของรัฐที่ถูกใช้ในในการบริหารจัดการขยะ ได้มาจากส่วนใดบ้าง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เมื่อมีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการลงไปที่องค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว งบประมาณหลักจะมาจากจากจัดสรรไปตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ซึ่งขณะนี้ท้องถิ่นจะได้รับเงินอยู่ที่ 27-28 เปอร์เซนต์ ของรายจ่ายงบประมาณของรัฐ แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จะระบุว่า รัฐจะต้องจ่ายให้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซนต์ก็ตาม แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณลงไป ทำให้ยังได้ไม่ครบ และเมื่อรวมกับการจัดเก็บที่ถูกกว่าต้นทุนจริง ทำให้ไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการจัดการกับขยะได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เกิดปัญหา ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษนั้นไม่ได้มีงบประมาณที่จะเข้าไปดำเนินการ เพราะจะทำในส่วนของเชิงวิชาการ และแท้จริงแล้ว กรมควบคุมมลพิษได้งบประมาณมาเพียงปีละ 500 ล้านบาทเท่านั้น ในการดำเนินการทุกกิจกรรมของกรม รวมทั้งเงินเดือนข้าราชการด้วย

            “เมื่อไม่มีงบประมาณ การดำเนินการของเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะทำได้เพียงการนำขยะจากในเมืองออกไปสู่นอกเมือง ในเมืองจะดูว่าสะอาด เพราะขยะออกไปข้างนอกแล้ว คนที่เดือดร้อนคือคนที่อยู่รอบ ๆ กองขยะเหล่านั้น หรือบางแห่งก็ขอพื้นที่ของราชการเช่น ในป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ต่าง ๆ นำไปเทกอง แต่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกระบบ จนกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันW นายวิเชียรกล่าวพร้อมกับเสนอว่า หากต้องการให้การแก้ปัญหาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการที่จะใช้เงินไปในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็ควรจะคำนึงถึงการบริหารจัดการขยะที่จะตามมาจากการพัฒนาด้วย

งานวิจัยชี้เกินขีดความสามารถท้องถิ่นจัดการขยะ

อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาด้านการบริหารจัดการของเสีย โดยเฉพาะขยะ ที่ถูกกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้เคยมีหลายหน่วยงานศึกษาวิจัยไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะในประเด็นของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งผลวิจัยส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า แม้ว่าการจัดการขยะจะเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการ แต่หน่วยงานในท้องถิ่นเกือบทุกแห่งไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะให้การบริการด้านการกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นของเสียที่เกิดขึ้นทุกวัน และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตามระดับการพัฒนาของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินงานให้บริการด้านกำจัดขยะได้

ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เคยสรุปถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตน ว่า มาจากสาเหตุ 3 ประการ ประการแรก ท้องถิ่นขาดบุคลากรที่มีความรู้ใน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ประการที่สอง ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากการให้บริการ หรือจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารจัดการ ดำเนินงานและบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และประการที่สาม ท้องถิ่นขาดทักษะในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

ขอบคุณภาพจาก http://www.phitsanulokhotnews.com/wp-content/media/2013/01/00093.jpg

3 อุปสรรค การทำงานอปท.ภารกิจมาก-ขาดทรัพยากร-ไร้เอกภาพ

ในขณะที่ในรายงานการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เคยอ้างถึงการศึกษาของ รศ. ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์และคณะ ที่ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการจัดบริการสาธารณะรวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ประกอบด้วย 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ ภารกิจของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งที่เป็นภารกิจที่กำหนดตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นต่าง ๆ และภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากส่วนกลางตามแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจน ภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในฐานะหน่วยดำเนินงาน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่สอง เป็นข้อจำกัดทางด้านขนาดทรัพยากรทางการบริหารและการเงินของท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก มีผลต่อขีดความสามารถและศักยภาพในการดำเนินภารกิจของท้องถิ่น ภารกิจบางด้านต้องอาศัยทรัพยากรและความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านที่ ท้องถิ่นขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง และปัจจัยที่สาม เกิดจากสภาวะไร้เอกภาพในการบริหารจัดการในพื้นที่ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีศักยภาพในเชิงการบริหารค่อนข้างต่ำ ทั้ง 3  ปัจจัยจึงยังทำให้องค์กรท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำภารกิจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

นักวิชาการจี้แก้กฎหมายให้ผู้ผลิตขยะรับผิดชอบด้วย

ขณะที่ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ  ถึงประเด็นอุปสรรคและสาเหตุที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทย โดยระบุว่า ต้องมองลึกไปที่ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการของผู้ที่เป็นต้นเหตุของขยะ หรือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกมานั่นเอง เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าปัญหาขยะที่ถูกโยนภาระไปให้กับหน่วยงานบางหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบในการจัดเก็บขยะต่าง ๆ เหล่านี้ โดยที่ผู้ผลิตเองไม่ได้มีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมแต่อย่างใด ผิดกับต่างประเทศหลายประเทศที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายออกมาบังคับให้ผู้ผลิตจำเป็นที่จะต้องมีภารกิจในการรับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้น จากผลที่ตัวเองผลิตออกมาด้วย ดังนั้นเมื่อปัญหาขยะถูกโยนมาให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งได้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องไปหาทางบริหารจัดการกันเอง ประกอบกับ กฎหมายการให้อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ งบประมาณ รวมถึงองค์ความรู้ในการดำเนินการไม่มี จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่ในที่สุดขยะก็ถูกผลักออกไปทิ้งไว้ในพื้นที่ห่างไกล โดยขาดการดำเนินการอย่างถูกต้อง

            “เมื่อเกิดบ่อขยะ สังคมไทยก็มองเพียงว่า ใครจะเป็นคนเข้าไปจัดการ ไปดูแลเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มองย้อนไปว่า สาเหตุที่แท้จริงแล้วขยะมาจากไหน สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดขยะใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้มันเป็นเรื่องของกรอบความคิดของคนไทยที่ผิดมาตั้งแต่แรก ในสมัยก่อนที่ขยะยังไม่มีมากเหมือนตอนนี้ การดำเนินการเลยถูกกำหนดให้เป็นภาระของเทศบาล ที่เมื่อก่อนยังพอรับไหว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป งบประมาณที่จะต้องใช้เพิ่มขึ้น ขยะเพิ่มขึ้น เมื่อรับภาระไม่ไหวขยะจึงถูกนำไปทิ้งนอกเขตรับผิดชอบ กรุงเทพฯ ก็นำไปทิ้งนอกเมือง นอกเมืองนำไปทิ้งที่ห่างไกลออกไป เป็นการผลักภาระออกไปให้กับคนที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง มีปากเสียงน้อยกว่า นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้น” ดร.เดชรัตน์กล่าว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จับตา : ถึงเวลาปัญหา 'ขยะ' เป็นวาระแห่งชาติ

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4126

ขอบคุณภาพรถตักขยะ (ภาพใหญ่)

http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/thailand/aa4.jpg

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: